×

สผ. – GIZ ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพของไทย หลังการประชุม CBD COP16

25.11.2024
  • LOADING...
CBD COP16

วันที่ (25 พฤศจิกายน) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดงานเสวนา ‘CBD COP16 Debrief: เดินหน้าสู่เป้าหมาย ท้าทายโลกเปลี่ยนแปลง’ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 16 (CBD COP16) และกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

 

โดยการประชุม CBD COP16 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองซานดิเอโก เดอ กาลี ประเทศโคลอมเบีย มีเป้าหมายเพื่อเร่งขับเคลื่อนแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกภายใต้กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพคุนหมิง-มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) โดยประเทศไทยแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

 

  1. การขยายพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (Other Effective Area-based Conservation Measures: OECMs)

 

  1. การยกระดับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG)

 

  1. กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (Access and Benefit Sharing: ABS)

 

  1. การจัดตั้งกลไกสนับสนุนทางการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ภายในงานเสวนา CBD COP16 Debrief ได้รับเกียรติจาก ประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘We Are the Part of the Global Plan’ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือในระดับสากล เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ด้าน กตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. บรรยายสรุปผลจากการประชุม CBD COP16 โดยระบุว่า ประเทศไทยจะเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ ฉบับที่ 5 (5th NBSAP) ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 30×30 ของโลก

 

วัลลภ ปรีชามาตย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนนโยบายและกลไก ร่วมเสวนาพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน เช่น ภัทรินทร์ ทองสิมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์, ดร.เบญจมาภรณ์ วัฒนธงชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา และตัวแทนจากภาคประชาสังคม โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

นอกจากนี้ ฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับและเน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะการขยายพื้นที่อนุรักษ์และการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

 

ขณะที่การเสวนาเรื่อง ‘ภาคีร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ’ เชิญตัวแทนองค์กรและหน่วยงานที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องในประเด็นการประชุมมาร่วมเสวนา เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และเครือข่ายเยาวชนระดับโลกด้านความหลากหลายทางชีวภาพประเทศไทย (GYBN Thailand) เพื่อร่วมวิเคราะห์ช่องว่างและอุปสรรคในการดำเนินงาน พร้อมทั้งเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย 

 

 

โดยประเด็นสำคัญในการเสวนา เช่น การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและขับเคลื่อนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในกระบวนการอนุรักษ์และการตัดสินใจ เพื่อไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนและการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการอนุรักษ์ และท้ายที่สุดคือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นแนวทางการเชื่อมโยงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ GIZ ภายใต้โครงการ Climate, Coastal, and Marine Biodiversity (CCMB) มีเป้าหมายสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาหลักเกณฑ์และการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง เช่น พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) และภาคเอกชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ GIZ ยังสนับสนุนการจัดทำแผนการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมแนวทาง Nature-based Solutions (NbS) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

จากความสำเร็จของการประชุม CBD COP16 Debrief สผ. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลาง (Focal Point) ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย จะเร่งผลักดันการดำเนินงานสู่ระดับท้องถิ่น พร้อมติดตามความก้าวหน้าและเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม CBD COP17 ในปี 2569 ที่ประเทศอาร์เมเนีย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โครงการ CCMB ดำเนินการโดย GIZ ได้รับทุนสนับสนุนจาก International Climate Initiative (IKI) กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของเยอรมนี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบาย และดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ระหว่างปี 2565-2570

 

ภาพ: GIZ Thailand

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X