เสียงสะท้อนชาวอเมริกัน 89% ย้ำ ชีวิตนี้คงรวยได้ยาก ค่าครองชีพสูง แบก หนี้บัตรเครดิต บ้านราคาแพง จนรู้สึกว่าการไต่เต้าไปเป็นคนรวยยากขึ้น แม้แต่มหาเศรษฐีที่มีมูลค่าทรัพย์สินหลายล้านก็ยังรู้สึกว่าสถานะการเงินไม่มั่นคง
Fidelity Investments สำรวจชาวอเมริกันทุกกลุ่มอาชีพ 1,900 คนในเดือนสิงหาคม ประมาณ 89% กล่าวว่า แม้ปัจจุบันอัตราค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นและเงินเฟ้อลดลง แต่มีคนในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวย แม้จะมีทรัพย์สินมากมายก็ตาม และมีเพียง 10% เท่านั้นที่คิดว่าตัวเองมีฐานะร่ำรวย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หนี้บัตรเครดิตชาวอเมริกันพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
- หนุ่มอเมริกันทิ้งเงิน 35 ล้านต่อปี! หนีนิวยอร์กซิตี้มาอยู่กรุงเทพฯ บอกชีวิตดีกว่าเยอะ
- Gen Z จม หนี้บัตรเครดิต! 1 ใน 7 คนของ Gen Z ชาวอเมริกัน ใช้เต็มวงเงิน ยอดค้างชำระพุ่งสูงสุดในรอบ 12 ปี
จริงๆ แล้วคำจำกัดความของการเป็นคนรวยในมุมมองของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการมีเงินมากมาย แต่เกี่ยวกับการมีความมั่นคงทางการเงิน เช่น ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายรายเดือนและสามารถทำสิ่งที่อยากทำ เช่น การท่องเที่ยว การมีบ้านเป็นของตัวเอง และมีมรดกตกทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้
สวนทางกับกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่า พวกเขากลับมองว่าความรวยส่วนใหญ่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากกว่าการไม่ต้องใช้ชีวิตแบบรอเงินเดือน
เรียกได้ว่าชาวอเมริกันเจออุปสรรคหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่หลายครัวเรือนไม่สามารถซื้อบ้านได้ ด้วยราคาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างแพงจากดอกเบี้ยที่สูง แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สะท้อนจากความสามารถในการซื้อบ้านเริ่มดีขึ้นเล็กน้อยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 เมื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใกล้เคียงกับตัวเลข 8%
รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2023 ก็มีทั้งกลุ่มคนที่ยังเลือกออกเดินทางและกลุ่มคนที่เลือกไม่ไปเที่ยวเพราะราคาที่สูง
ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของหนี้สินก็ส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินของครัวเรือนเช่นกัน โดยมีคนอเมริกันเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 44% ที่บอกว่า หนี้บัตรเครดิตคือภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อความสามารถในการสร้างเนื้อสร้างตัว
สอดรับกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่รายงานว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันมีหนี้บัตรเครดิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ และยอดหนี้เฉลี่ยต่อผู้บริโภคอยู่ที่ 6,329 ดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
“เมื่อมีหนี้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อหล่อเลี้ยงมันไปเรื่อยๆ และจะไม่สามารถออมเงินหรือลงทุนได้เลย ทั้งหมดล้วนเป็นอุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้ผู้คนสร้างความมั่งคั่งได้” Jean Chatzky ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของ HerMoney ย้ำ
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ผลสำรวจของ Edelman Financial Engines รายงานอีกว่า ผู้ที่ตอบแบบสำรวจประมาณ 65% บอกว่า พวกเขาจะต้องมีเงินในบัญชีอย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์ ตามด้วยกลุ่มคนอีกประมาณ 28% ที่บอกว่า ต้องมีเงินในบัญชีอย่างน้อย 2 ล้านดอลลาร์ และอีก 19% ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 5 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น ถึงจะเริ่มมองว่าตัวเองรวยขึ้น
ที่สำคัญจะต้องมีรายได้เฉลี่ย 100,000-200,000 ดอลลาร์ต่อปี ถึงจะไม่กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อ้างอิง: