คนหนุ่มสาวในจีนกำลังใช้โซเชียลมีเดียในรูปแบบที่แตกต่างออกไป พวกเขาไม่เพียงแค่เชื่อมต่อกับเพื่อนฝูง แต่ยังยอมจ่ายเงินเพื่อพูดคุยกับคนแปลกหน้าเพื่อคลายความเหงาในสังคมที่ห่างเหินกันมากขึ้น
แพลตฟอร์ม Xiaohongshu กลายเป็นพื้นที่สำหรับธุรกิจพูดคุยแก้เหงา ภายใต้แฮชแท็ก #companionchat ที่มียอดวิวถล่มทลาย สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพื้นที่ทางจิตใจที่เพิ่มสูงขึ้นในสังคมจีน ที่มีจำนวนคนโสดพุ่งสูงและอัตราการแต่งงานลดลงอย่างน่าใจหาย ผู้คนจึงแสวงหาคู่สนทนาเพื่อเติมเต็มความรู้สึกว่างเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการแชตออนไลน์หรือการพบปะในโลกเสมือนจริง
Wang Pan รองศาสตราจารย์ด้านจีนและเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ อธิบายว่า ธุรกิจเพื่อนคุยรับจ้างเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของจีน โดยข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุดแสดงให้เห็นตัวเลขที่น่าตกใจ คนโสดอายุ 20-49 ปี มีมากถึง 134 ล้านคนในปี 2020 มากกว่าประชากรทั้งหมดของญี่ปุ่น ขณะที่สถิติการแต่งงานลดลงเกือบครึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ธุรกิจเพื่อนคุยรับจ้างมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Chatbot AI ที่มีความสามารถสูง ไปจนถึง Cosplayer ที่ให้บริการแบบพบปะตัวจริง Wang วิเคราะห์ว่าจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตความเหงา ผู้คนต้องการความรักและความใกล้ชิด ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจนี้เติบโตและสร้างรายได้มหาศาล
ในปี 2019 Sinolink Securities คาดการณ์ว่า ธุรกิจเพื่อนคุยรับจ้างในจีนจะมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านหยวนภายในปี 2025 แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่แต่งงานและไม่มีลูก
เกม Otome เป็นหนึ่งในธุรกิจเพื่อนคุยที่สร้างรายได้มหาศาล โดยเป็นเกมมือถือที่ให้ผู้เล่นเข้าสู่โลกเสมือนจริง สวมบทบาทตัวละคร และสร้างความสัมพันธ์โรแมนติก เกมประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในจีนหลังจาก Love and Producer ของ Papergames ประสบความสำเร็จในปี 2017 ปัจจุบันบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent, NetEase Games และ miHoYo ต่างก็เข้าสู่ตลาดเกม Otome เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี Chatbot AI ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด สามารถปรับแต่งบุคลิกภาพได้ กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนหนุ่มสาวที่ต้องการคู่สนทนา Wang อธิบายว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเปิดประตูสู่โลกแห่งจินตนาการ ทำให้ผู้คนสามารถสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครเหล่านี้ได้
ในส่วนของบริการแบบตัวต่อตัว Li Shuying นักศึกษาวัย 18 ปี โพสต์ข้อความบน Xiaohongshu ว่าเธอรับจ้างพูดคุยโดยคิดค่าบริการ 8-50 หยวนสำหรับการสนทนา 30 นาที Li เล่าว่าเธอได้รับการติดต่อจากลูกค้าหลายราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีเด็กสาววัยรุ่นที่ต้องการระบายความอัดอั้นเกี่ยวกับเพื่อนร่วมชั้น
Wang มองว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นปัญหาความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปในสังคมจีน ซึ่งอาจทำให้วิกฤตความเหงารุนแรงยิ่งขึ้น “ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป มีความหลากหลาย ไม่แน่นอน และถูกขับเคลื่อนด้วยเงินมากขึ้น” และเธอคาดการณ์ว่าธุรกิจเพื่อนคุยรับจ้างจะยังคงเติบโตต่อไป ตราบใดที่อัตราการแต่งงานยังคงลดลง
“มันเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสร้างรายได้จากคนโสดและผู้ที่ต้องการเพื่อนคุย” Wang ทิ้งท้าย “จะมีการพัฒนาสินค้าและบริการมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมแบบใหม่นี้”
ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images
อ้างอิง: