เส้นพรมแดนของประเทศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เดิมทีผู้คน 2 ฝั่งโขงต่างเดินทางไปมาหาสู่กันเสมอ ย้อนกลับไปเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว พระพุทธศาสนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเผยแผ่เข้าไปตามเส้นทางโบราณ ลัดเลาะตามแนวภูเขาและแม่น้ำสายต่างๆ ทำให้รูปแบบศิลปกรรมระหว่างไทยกับลาวมีความคล้ายคลึงกัน
วังช้าง เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ เป็นศาสนสถานที่รู้จักกันมานานแล้วทั้งในหมู่ของนักวิชาการและนักท่องเที่ยวแนวผจญภัย จุดเด่นคือมีภาพสลักของพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่พันกว่าปี บทความนี้จะเป็นการอธิบายอายุสมัย คติความเชื่อ และที่มาของการสลักพระพุทธรูปแห่งนี้
สภาพทางภูมิศาสตร์ของวังช้าง
วังช้างอยู่ห่างจากตัวเมืองนครเวียงจันทน์ขึ้นไปทางเหนือราว 75 กิโลเมตร บริเวณวังช้างมีโครงสร้างทางธรณีของแหล่งโบราณคดีวังช้างเป็นหินทราย ถ้าจัดหมวดหมู่หินตามอย่างประเทศไทยแล้วจัดอยู่ในหมวดหินภูพาน (Phu Phan Formation) ติดกับวังช้างมีแม่น้ำแจ้งไหลผ่าน แม่น้ำนี้ไหลลงไปทางทิศตะวันออกสมทบกับแม่น้ำงึม ลัดเลาะไปตามภูเขา ก่อนที่จะลงแม่น้ำโขงที่บ้านปากงึม ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับจังหวัดหนองคาย เนื่องจากแม่น้ำแจ้งนี้ไหลผ่านลัดเลาะไปตามภูเขา จึงทำให้บางช่วงเกิดลักษณะพื้นที่ที่เป็นวังน้ำขึ้นมา มีเรื่องเล่าว่าในสมัยโบราณเคยมีช้างลงไปเล่นน้ำ จึงได้ชื่อว่า ‘วังช้าง’
แม่น้ำแจ้งและสภาพแวดล้อมบริเวณวังช้าง
ส่วนสภาพป่าบริเวณนี้เป็นป่าเบญจพรรณ ยกเว้นพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำที่มีความชื้นสูงซึ่งมีพืชพันธุ์ในป่าดิบแล้งขึ้นบ้าง อาทิ พวกเฟิร์น ในส่วนของด้านบนภูเขาที่มีลักษณะหน้าดินตื้นจึงเป็นลักษณะของป่าเต็งรัง แต่โดยรวมแล้วสภาพแวดล้อมบริเวณนี้เหมาะสมอย่างมากต่อการอยู่อาศัย เพราะไม่ขาดแคลนน้ำ
พระพุทธรูปสลักบนเพิงผาหิน
พระพุทธรูปสลักหินที่พบที่วังช้างประกอบด้วยกลุ่มของภาพสลักพระพุทธรูป 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เป็นพระพุทธรูปสลักหินองค์ใหญ่จำนวน 2 องค์ มีความสูงประมาณ 3.5 เมตร ปางแสดงธรรม หรือ ‘วิตรรกมุทรา’ (Vitarka Mudra) ด้วยพระหัตถ์ (มือ) ขวา พระหัตถ์ซ้ายวางบนหน้าตักคล้ายกับการทำสมาธิ เบื้องหน้าของพระพุทธรูปองค์ติดกับเหลี่ยมภูเขาซึ่งมีพระพุทธรูปอีก 3 องค์ แบ่งเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง 2 องค์ และพระพุทธรูปประทับยืนอีก 1 องค์ เดิมทีพระพุทธรูปทั้งหมดนี้คงอยู่ในอาคารหลังคาคลุม เพราะพบช่องที่เกิดจากการสกัดหินเพื่อเสียบไม้คาน
ในแง่ของรูปแบบศิลปะแล้ว พระพุทธรูปกลุ่มนี้มีความคล้ายคลึงกันกับศิลปะทวารวดีในประเทศไทย กล่าวคือพระพักตร์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม, พระขนง (คิ้ว) ต่อกันเป็นปีกกา, พระเนตร (ตา) ใหญ่ค่อนข้างโป่งนูน และพระโอษฐ์ (ปาก) ค่อนข้างหนาสักเล็กน้อย แต่ก็นับว่าบางกว่าพระพุทธรูปทวารวดีในประเทศไทย ในความเห็นส่วนตัวรูปหน้าของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ต่างกันเล็กน้อย แต่คล้ายกับคนมีอายุราวสัก 35-45 ปี
ในส่วนของพระวรกายค่อนข้างใหญ่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ทั้ง 2 องค์นั่งขัดสมาธิราบพระชงฆ์ พระบาทข้างขวาหย่อนมาบังพระชงฆ์และพระบาทข้างซ้าย พระบาทข้างขวาแผ่ออกจนเห็นเกือบทั้งหมด ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบการนั่งของพระพุทธรูปแบบทวารวดี
อย่างไรก็ตาม ที่พระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ก็แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรเข้ามาด้วยแล้ว กล่าวคือมีการสลักไรพระศก (ไรผม) เรียงกันเป็นเส้นขนาดเล็ก เช่นเดียวกับพระศกด้านข้างขมับไล่ไปจนถึงผนังด้านหลังนั้นก็สลักให้มีขนาดเล็กเช่นกัน ลักษณะอาจได้รับอิทธิพลจากการสวมมงกุฎของพระพุทธรูปในศิลปะเขมรที่ปรากฏในศิลปะแบบบาปวนถึงนครวัด มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 (คริสต์ศตวรรษที่ 11-12) ดังนั้นจึงทำให้กำหนดอายุพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้ว่าควรสลักขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งถ้าเทียบกับศิลปะทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทยแล้วก็จะอยู่ในศิลปะทวารวดีตอนปลาย ซึ่งเป็นระยะที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรเช่นกัน
แต่อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในที่อื่นว่าการใช้คำว่า ‘ศิลปะทวารวดี’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นอาจต้องมีการทบทวนกันใหม่ เนื่องจากแม้ว่าในทางรูปแบบศิลปะและยังมีการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่บ้างก็ตาม โดยพบในจังหวัดชัยภูมิ, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุดรธานี และสกลนคร แต่ก็เป็นจารึกที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นหลัก และมีข้อความสั้นๆ เป็นเรื่องทางศาสนา โดยจารึกเหล่านั้นก็ไม่ได้ปรากฏชื่อทวารวดี (ศรีทวารวตี) เลยแต่อย่างใด ดังนั้นจารึกพวกนี้จึงอาจเป็นเพียงกลุ่มของพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่นำภาษาและวัฒนธรรมจากทวารวดีภาคกลางมาเผยแพร่ แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องทางการเมือง
ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 16 พบว่าภาษาหลักที่ใช้กันในช่วงเวลานี้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ภาษาเขมรโบราณแทน ซึ่งความจริงแล้วในหลายพื้นที่พบการใช้ภาษาเขมรโบราณมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เรื่องนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางวัฒนธรรมและการเมือง หลักฐานหนึ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ห่างจากภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี มีการค้นพบจารึกบนใบเสมาที่พบที่วัดป่าหนองเป่ง อำเภอบ้านผือ จารึกด้วยอักษรเขมรโบราณ ภาษาสันสกฤตกับเขมรโบราณ กำหนดอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 16 (คริสต์ศตวรรษที่ 10-11) ความว่า “ศรีมานราชาเป็นช่วงเวลากลียุค อยู่ในกาลเดือนเจตร (เดือน 5) โขลญพุทา…เร่งรีบกำหนดวันโดยเร็ว เพื่อประกอบพิธีบูชาบวงสรวงพระเทวีด้วยความยินดี ผู้มีนามทั้งสามมีโขลญพลเป็นหัวหน้า เป็นผู้ประกอบพิธีในครั้งนั้น” (กรมศิลปากร, วัฒนธรรมเสมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เอกสารออนไลน์, ไม่ทราบปีที่พิมพ์)
หลักฐานนี้แสดงให้เห็นชัดว่าภาษาหลักในเวลานี้เป็นภาษาเขมรโบราณ และพื้นที่ใกล้ภูพระบาทนี้มีกษัตริย์ท้องถิ่นนามว่า ‘ศรีมานราชา’ พระนามกษัตริย์เช่นนี้ไม่พบในกลุ่มวัฒนธรรมมอญ หากพบในกลุ่มกษัตริย์ของฝูหนาน ประเด็นนี้จึงทำให้เราอาจต้องทบทวนให้มากขึ้น เพราะภาษาที่ใช้ในเวลานี้ก็ไม่ใช่ภาษามอญโบราณเสียแล้ว การจะใช้คำว่า ‘ทวารวดีภาคอีสาน’ จึงย่อมไม่สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ และยังสื่อถึงวิธีการนิยามที่ใช้กรอบของศิลปะจากส่วนกลางมาอธิบาย
พระพุทธรูปสลักหินกลุ่มที่ 1
พระพุทธรูปประธาน 2 องค์ของพระพุทธรูปสลักหินกลุ่มที่ 1
พระพักตร์ของพระพุทธรูปที่วังช้าง พระพักตร์พระพุทธรูปศิลปะเขมรแบบนครวัด
พบที่วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กลับมาที่เรื่องของพระพุทธรูปที่วังช้าง สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยแล้ว พบเศียรพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่อาจเทียบเคียงได้กับพระพุทธรูปที่วังช้างคือ เศียรพระพุทธรูปที่วัดป่าหนองเป่ง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่จะเห็นได้ว่าไรพระศกสลักเป็นแถวเส้นผมขนาดเล็ก นอกจากนี้แล้วรัศมีและอุษณีษะยังมีลักษณะที่โป่งนูน คล้ายกันมากกับพระพุทธรูปที่วังช้างอีกด้วย เหตุผลที่อุษณีษะและรัศมีมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกมนขึ้นไปนี้ อาจเป็นความพยายามในการเลียนแบบยอดมงกุฎของพระพุทธรูปในศิลปะเขมร
เศียรพระพุทธรูปด้านหน้าและด้านข้างที่วัดป่าหนองเป่ง
พระพุทธรูปประทับยืนและนั่งทั้ง 3 องค์ที่พระพุทธรูปกลุ่มที่ 1
พระพุทธรูปอีก 3 องค์เล็กมีลักษณะพระพักตร์ที่คล้ายกันกับพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีก 2 องค์ ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะสลักในเวลาใกล้เคียงกัน แต่พระหัตถ์และพระเพลาของพระพุทธรูปประทับนั่งทั้ง 2 องค์แสดงให้เห็นชัดว่ามีการซ่อม จึงทำให้มีลักษณะของศิลปะแบบล้านช้าง สำหรับพระพุทธรูปประทับยืน พระกรด้านซ้ายแนบพระวรกายแต่แอ่นออกเล็กน้อย คล้ายกับท่าทางของพระกรแบบปางเปิดโลกของพระพุทธรูปล้านช้าง ปกติแล้วถ้าเป็นพระพุทธรูปในอินเดียหรือทวารวดีพระหัตถ์จะแบออก ส่วนพระกรและพระหัตถ์ข้างขวาหักไป ถ้าเป็นอย่างพระพุทธรูปทวารวดีอาจทำเป็นปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) หรือปางประทานอภัย (อภัยมุทรา)
รัศมีของพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์ทำเป็นแท่งมนขึ้นไปคล้ายกับลูกแก้ว ลักษณะเช่นนี้ไม่พบในศิลปะทวารวดีในประเทศไทย โดยมากแล้วจะทำเป็นลูกแก้วมีขนาดเล็ก เหตุที่ทำรัศมีเป็นรูปทรงคล้ายลูกแก้วนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียในสมัยราชวงศ์ปาละ ซึ่งมีอาณาเขตอยู่บริเวณแคว้นเบงกอล มีอายุระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8-12 (พุทธศตวรรษที่ 13-17) รัศมีลูกแก้วแบบนี้ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะทวารวดีเช่นกัน ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปหลายองค์ทั้งที่พบในเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่เมืองนครปฐม หรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกตัวอย่างเช่น ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นไปได้
พระพุทธรูปสลักหินกลุ่มที่ 2
กลุ่มที่ 2 เป็นพระพุทธรูปองค์เล็กจำนวน 5 องค์ พระพุทธรูปองค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นอีก 3 องค์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้ทำปางวิตรรกมุทรา ส่วนอีก 3 องค์ทำปางสมาธิ เบื้องพระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์นี้เป็นรอยแยกของหินขนาดใหญ่เป็นแนวตัดตรง ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งจากลักษณะการแตกของหินเป็นแนวตรงนี้เป็นธรรมชาติโดยทั่วไปของการแตกของหินทราย แสดงว่าพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้เคยสลักอยู่บนหินก้อนเดียวกัน เดิมทีพระพุทธรูปกลุ่มนี้เคยอยู่ภายใต้อาคารหลังคาคลุมเช่นกัน สังเกตได้จากก้อนหินของพระพุทธรูปที่แยกออกไปเพียงองค์เดียวกันนั้นมีการสลักหินเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายกับจั่ว และมีช่องสำหรับเสียบคานไม้สลักลึกเป็นรูปสี่เหลี่ยมลงไปด้วย
พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้มีลักษณะพระพักตร์ พระวรกาย และลักษณะการนั่ง เหมือนกันกับพระพุทธรูปกลุ่มที่ 1 กล่าวคือพระพักตร์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา ดวงพระเนตรใหญ่ค่อนข้างโป่งนูน พระโอษฐ์ค่อนข้างหนาสักเล็กน้อย พระวรกายใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ลักษณะดังกล่าวจึงสะท้อนอิทธิพลของศิลปะทวารวดีหรือศิลปะจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพระพุทธรูปนั่งทั้ง 5 องค์ในกลุ่มที่ 2 และอีก 5 องค์ในกลุ่มที่ 1 คือทั้งหมดห่มจีวรแบบห่มคลุม ซึ่งนับเป็นข้อแตกต่างจากพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่นิยมทำพระพุทธรูปแบบห่มเฉียงโดยเปิดพระอังสา (ไหล่) ขวา แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปประทับยืนจะห่มคลุมโดยตลอด ความแตกต่างของวิธีการห่มจีวรนี้ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน แต่อาจเป็นเพราะอิทธิพลทางด้านศิลปะจากพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับนั่งในศิลปะเขมรที่ไม่ห่มจีวรเฉียงเช่นกัน
ลักษณะของหินที่แตกออกและยังเห็นร่องรอยการสลักเป็นหลังคาจั่วสามเหลี่ยม
คติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
ด้วยพระพุทธรูปทั้งหมดประทับนั่งขัดสมาธิราบ (วีราสนะหรือสัตตวปรยังคะ) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่าพระพุทธรูปที่สร้างเนื่องในศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทนั้น พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่มีความสำคัญ ประกอบด้วย พระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมนพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า, พระโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอริยเมตไตรย ทั้งหมดเป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัลป์ ซึ่งพระศรีอริยเมตไตรยเป็นพระพุทธเจ้าที่รอการมาจุติ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว เมื่อสร้างพระศรีอริยเมตไตรยนิยมทำเป็นรูปแบบนักบวชหรือพระโพธิสัตว์ มากกว่าจะเป็นรูปแบบเหมือนกับพระพุทธเจ้า แต่ในจีนมีหลายแห่งที่ทำรูปกายแบบพระพุทธเจ้าและอยู่ร่วมกับอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์เช่นกัน ดังนั้นช่างจึงอาจหมายให้พระศรีอริยเมตไตรยปรากฏกายในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
แต่ถ้าในกรณีที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าในนิกายเถรวาทแล้ว ตามความเชื่อในศาสนาพุทธนิกายมหายานก็มีการนับถือพระพุทธเจ้า 5 องค์เช่นกันเรียกว่า ‘ธยานิพุทธะ’ หรือ ‘ชินนะ’ ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าไวโรจนะ แสดงปางปฐมเทศนา (ธรรมจักรมุทรา) ประจำทิศกลาง, พระพุทธเจ้าอมิตภะ แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) ประจำทิศตะวันตก, พระพุทธเจ้าอักโษภยะ แสดงปางมารวิชัย (ภูมิสปรศมุทรา) ประจำทิศตะวันออก, พระพุทธเจ้าอโมฆสิทธิ แสดงปางประทานอภัย (อภัยมุทรา) ประจำทิศเหนือ และพระพุทธเจ้ารัตนสัมภาวะ แสดงประทานพร (วรมุทรา) ประจำทิศใต้ โดยทั้งหมดอยู่ในรูปกายของพระพุทธเจ้าเสมอ ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปางต่างๆ แล้วจะพบว่าพระพุทธรูปที่วังช้างไม่ได้แสดงปางที่แตกต่างกันไปตามคัมภีร์แต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน
มีเรื่องที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปในกลุ่มที่ 2 นั้น พระพุทธประธานองค์กลางที่มีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นแสดงปางวิตรรกมุทรา ซึ่งบางแห่งเช่นที่บุโรพุทโธ (Borobudur) บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ให้สลักพระพุทธรูปปางนี้ไว้บนยอดสูงสุดของโบราณสถาน เปรียบได้กับทิศกลาง ดังนั้นโดยนัยแล้วจึงยกย่องปางดังกล่าวนี้เปรียบเสมือนกับธรรมะหรือแสงสว่าง เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับคติของมหายานโดยตรง แต่อาจเกี่ยวข้องกับการทำวิปัสสนาที่เมื่อพระสงฆ์เข้าไปในวิหารถ้ำแล้ว เสมือนได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่กำลังแสดงธรรมอยู่ก็เป็นไปได้
ด้วยเหตุนี้พระพุทธรูปองค์กลางที่วังช้างที่ทำเป็นปางวิตรรกมุทรา จึงอาจเป็นการเปรียบเปรยแทนพระพุทธเจ้าที่กำลังแสดงธรรมในอดีตที่ผ่านมาก็คือ พระพุทธเจ้าโคตม ในขณะที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่อีก 2 องค์ในกลุ่มแรกนั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะแทนพระพุทธเจ้าโคตม และพระพุทธเจ้าที่จะมาเทศน์ในอนาคตคือพระศรีอริยเมตไตรย นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการสร้างพระพุทธรูป 2 องค์นี้มีขนาดใหญ่เสมอกัน
ความสัมพันธ์ของพระพุทธรูปสลักหินที่วังช้างกับโบราณสถานอื่น
พระพุทธรูปสลักที่วังช้างถือว่ามีความโดดเด่น เพราะมีขนาดองค์สูงใหญ่มากเมื่อเทียบกับโบราณสถานแห่งอื่นๆ และถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีศิลปะคล้ายกับทวารวดีที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของกลุ่มวัฒนธรรมนี้ที่พบในลาว
แต่นอกเหนือไปจากพระพุทธรูปสลักที่วังช้างแล้วยังพบว่ามีโบราณสถานอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันอีก ได้แก่ ในลาวคือโบราณสถานด่านสูง เมืองนาทรายทอง แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งพระพุทธรูปถูกสลักบนหินรูปทรงคล้ายดอกเห็ดล้อมรอบด้วยใบเสมา พระพุทธรูปที่โบราณสถานแห่งนี้สะท้อนอิทธิพลของศิลปะเขมรเช่นกัน ดังนั้นจึงกำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
พระพุทธรูปสลักหินที่ถ้ำพระ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเพิ่งได้รับมรดกโลกไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา พระพุทธรูปประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ขัดสมาธิราบ พระพักตร์และพระเกศาแสดงอิทธิพลของศิลปะเขมรเช่นกัน ซุ้มเป็นศิลปะบันทายสรี-บาปวน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากที่ภูพระบาทแล้วยังพบการแกะสลักพระพุทธรูปที่หินรูปดอกเห็ดอีกแห่งที่ไม่ห่างกันมากจากภูพระบาทคือวัดภูโขง อำเภอบ้านผือเช่นกัน ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์โบราณในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับลาว ซึ่งคงเป็นพระสงฆ์กลุ่มเดียวกันและมีนิกายเหมือนกัน
พระพุทธรูปสลักหินที่โบราณสถานด่านสูง
พระพุทธรูปสลักหินที่ถ้ำพ่อตา อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
สรุป
พระพุทธรูปสลักหินที่วังช้างสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์กับศิลปะในกลุ่มวัฒนธรรมสีมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง เช่น รูปแบบพระพักตร์ที่มีความแตกต่างในเชิงรายละเอียด หรือห่มจีวรแบบห่มคลุม จากรูปแบบพระเกศาและส่วนอื่นๆ ประกอบกันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะเขมรในสมัยบาปวนถึงนครวัด จึงกำหนดอายุได้ว่าพระพุทธรูปที่วังช้างควรแกะสลักขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17
ความสัมพันธ์ของผู้คนระหว่างไทยและลาวนั้นมีมาอย่างยาวนาน เพียงแต่พรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่เท่านั้นที่นำไปสู่กระบวนการก่อตัวของจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และความเป็นพลเมืองที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่เองทำให้มรดกโลกมักตีกรอบกันอยู่ในประเทศของตนเองเป็นหลัก ยากที่จะข้ามพ้นเส้นพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่
คำอธิบายภาพเปิด: พระพุทธรูปสลักบนหินที่วังช้าง แขวงเวียงจันทน์