วันนี้ (22 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี รังสิมันต์ โรม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณากรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้ กมธ.ความมั่นคงฯ เชิญทักษิณมาชี้แจงด้วย ซึ่งส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ และลงรับในวันที่ 16 พฤศจิกายน ปรากฏว่าไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงหรือตอบรับเข้าร่วมประชุม สำหรับผู้ที่ตอบรับมาคือ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรมราชทัณฑ์มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ กลุ่มงานพักการลงโทษ เข้าชี้แจงแทน
ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม กมธ.ความมั่นคงฯ ฝ่ายรัฐบาล เช่น ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, สุธรรม แสงประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ ซูการ์โน มะทา สส. ยะลา พรรคประชาชาติ ขอหารือว่าอยากให้ประชุมลับเพื่อถกเถียงว่า กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ภายหลังกรมราชทัณฑ์ทำหนังสือท้วงติงว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจ ทำให้ กมธ.ความมั่นคงฯ หลายคนกังวลว่าจะขัดจริยธรรมและสุ่มเสี่ยงอาจถูกฟ้องเรื่องจริยธรรมได้ จึงอยากให้พิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่หากจะเดินหน้าพิจารณาเรื่องนี้ ควรจะหารือกันเป็นการภายในและคงต้องให้ พ.ต.อ. ทวี รอไปก่อน
ขณะที่ ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ เห็นว่าสามารถพิจารณาได้ เพื่อให้การทำงานของ กมธ.ความมั่นคงฯ มีความโปร่งใส จึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนทราบข้อมูล และควรที่จะเดินหน้าพิจารณาต่อ
ระหว่างที่ประชุมยังคงโต้เถียงกันไปมา ทำให้รังสิมันต์ชี้แจงยืนยันว่า กมธ.ความมั่นคงฯ มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนจะประชุมสัปดาห์ถัดไป ในทุกวันศุกร์ก็จะต้องทำหนังสือรายงานต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า กมธ.ความมั่นคงฯ จะประชุมเรื่องอะไรและเชิญใครบ้าง หากเรื่องใดที่ซ้ำซ้อนกับ กมธ.อื่น ประธานสภาก็จะท้วงติง แต่ในเรื่องนี้ประธานสภาไม่ได้ท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมองว่าให้ประชุมโดยเปิดเผยไปก่อนจนจบวาระนี้ ส่วนหลังจากนั้นก็ยินดีที่จะให้เป็นการประชุมลับ
แต่ปรากฏว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติไม่ยินยอม พร้อมยกเรื่องการแถลงข่าวตอบโต้ระหว่าง กมธ.ความมั่นคงฯ กับกรมราชทัณฑ์ขึ้นมา ในที่สุดรังสิมันต์จึงตัดบทว่าเมื่อทุกคนเห็นด้วยกับข้อเสนอของประยุทธ์ก็ขอให้ประชุมลับเป็นการภายใน กมธ.ความมั่นคงฯ ก่อน จากนั้นจึงเชิญคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปรอภายนอก รวมถึงให้ พ.ต.อ. ทวี ไปพักรออีกห้องหนึ่ง
ยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมาเวลา 11.00 น. กมธ.ความมั่นคงฯ กลับเข้ามาประชุมในวาระกรณีทักษิณเข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
พ.ต.อ. ทวี กล่าวถึงการแบ่งเกรดของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าใช้ศักยภาพการรักษาเป็นเกณฑ์แบ่ง หากเห็นว่าโรคต่างๆ อย่างโรคหัวใจ หรือโรคกระดูก โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอก็จะต้องส่งตัวไปต่อ ซึ่งการอยู่ในโรงพยาบาลนั้นถือว่าเป็นที่คุมขัง เพราะหากหนีออกจากโรงพยาบาลหรือที่คุมขังก็จะมีโทษเช่นเดียวกัน
พ.ต.อ. ทวี มองว่าการรักษาพยาบาลต้องทำโดยเร็ว พร้อมชูเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบ แต่ไม่สามารถให้ได้ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 จำกัดไว้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยินยอมให้เอกสาร ก่อนจะบอกรังสิมันต์ให้ระวังเอกสารลับเรื่องการรักษาตัว เนื่องจากมีสื่อมวลชนกำลังบันทึกภาพ และถามย้ำกับช่างภาพว่าถ่ายภาพติดหรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องสิทธิ
ชุติพงศ์สอบถามถึงการส่งตัวว่าได้จัดเจ้าหน้าที่ 2 คนในการควบคุมตัวไปด้วยหรือไม่ ภายหลังการตรวจสอบสิทธิการรักษาได้จับผู้ร่วมขังรวมกับผู้ต้องขังอื่นในชั้น 14 หรือไม่ อย่างไร และเจ้าพนักงานเรือนจำจดบันทึกผู้เข้าเยี่ยมและเวลาเข้าเยี่ยมหรือไม่
พ.ต.อ. ทวี ยืนยันว่าตามเอกสารที่ได้รับมา เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจัดเจ้าหน้าที่หลายคนผลัดกันเข้าเวรเพื่อควบคุมตัวไป โดยใช้ห้องควบคุมพิเศษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนการเข้าเยี่ยมนั้นมีรายชื่อและรายการการเข้าเยี่ยมทั้งหมด
ส่วนการปฏิบัติเหมือนกรณีทั่วไปหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่แค่กรณีของทักษิณคนเดียว แต่โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศ ผู้ป่วยจะแยกห้องเฉพาะ ไม่ได้รวมกับคนอื่น
ปิยรัฐ จงเทพ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษก กมธ.ความมั่นคงฯ สอบถามถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 ว่าศาลเป็นผู้มีอำนาจในการให้อำนาจกับเรือนจำในการฝากขังหรือจำคุก กรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือแจ้งต่อศาลให้ทราบหรือไม่
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่าศาลเป็นผู้ลงโทษ ส่วนการปฏิบัติกับผู้ต้องขังเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังนั้นสำหรับนักโทษเด็ดขาดจึงไม่ต้องไปขอศาลอีก ย้ำว่าข้าราชการกรมราชทัณฑ์ไม่มีสิทธิใช้ดุลพินิจในกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย ส่วนหากเป็นการตีความตามมาตรา 6 นั้นก็เป็นเรื่องของอนาคต
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร สอบถามถึงกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2563 ซึ่งระบุถึงคำว่าห้องพักพิเศษและห้องควบคุมพิเศษมีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และหอควบคุมผู้ป่วยพิเศษระดับสูงนั้นมีฐานะแบบใด หากเป็นห้องควบคุมพิเศษเป็นห้องควบคุมพิเศษอะไร
พ.ต.อ. ทวี ชี้แจงเรื่องการใช้ดุลพินิจว่ากฎกระทรวงระบุชัดเจนว่าสถานที่รักษา ยืนยันว่าคนที่เข้าเรือนจำต้องควบคุม และห้องที่ทักษิณอยู่นั้นคือห้องควบคุมพิเศษและที่รักษาด้วย สำหรับป้ายที่ติดอยู่หน้าห้องนั้นตนไม่ทราบ แต่เป็นที่รักษาคนทั่วไป ส่วนการควบคุมนั้น เนื่องจากทักษิณยังต้องราชทัณฑ์อยู่ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือไม่ให้เขาหลบหนีและไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย
ซูการ์โนถามว่าการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมนั้นแต่ละเรือนจำทั่วประเทศปฏิบัติเท่าเทียมกันหรือไม่ ให้เฉพาะญาติเท่านั้นหรือให้เฉพาะญาตินำพาเข้าเท่านั้นใช่หรือไม่
เผย ทักษิณออกค่าใช้จ่ายเอง
ชุติพงศ์ถามอีกว่า กมธ.ความมั่นคงฯ จะขอเชิญ พ.ต.อ. ทวี เพื่อขออนุญาตขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจด้วยกันได้หรือไม่ สำหรับกรณีห้องพักพิเศษนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ส่งผู้ต้องขังออกไปคุมขังนอกเรือนจำ โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาหรือไม่ หากเก็บค่ารักษาในกรณีการส่งตัวผู้ป่วยไปฝากไว้ที่ชั้น 14 เป็นเวลา 180 วันนั้น กรมราชทัณฑ์เสียค่าใช้จ่ายไปเท่าไร และเป็นความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์หรือผู้ป่วยเองที่จะต้องจ่าย
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์เรื่องการติดต่อญาติ จะให้ผู้ต้องราชทัณฑ์เขียนรายชื่ออย่างน้อย 10 ชื่อ หากมากเกินไปจะไปตัดสิทธิในการเยี่ยมของคนอื่น ส่วนการที่จะให้ตนขึ้นไปที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนั้นไม่มีปัญหา ขนาดการมาในวันนี้มีคนห้ามไม่ให้มาเพราะอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนก็ยังมา เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่จะทำให้ความจริงปรากฏ
สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น เมื่อตนได้คุยกับนายแพทย์ใหญ่ระบุว่าส่งเอกสารให้ ป.ป.ช. แล้ว ซึ่งระบุข้อมูลทั้งหมด เหลือเพียงเวชระเบียน เพราะเป็นสิทธิตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และเป็นสิทธิของผู้ป่วยหากจะออกเอง เนื่องจากสิ่งที่เราทำร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือมอบหมายให้โรงพยาบาลที่รับลูกเป็นคนคิด หากจะถามเรื่องนี้ขอให้ถามกับโรงพยาบาลตำรวจและนายแพทย์ใหญ่ ทั้งยังระบุอีกว่าการส่งใบรักษาพยาบาลจะแก้ไขไม่ได้หากวันไหนต้องจ่ายค่ายาเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งตนเปิดเผยไม่ได้ แต่เป็นจำนวนที่สูง ผู้ป่วยจึงเป็นผู้ออกเองเนื่องจากไม่มีกฎหมายเขียนไว้
พ.ต.ท.ธีรวัตร์ ปัญญาณ์ธรรมกุล เลขานุการ กมธ.ความมั่นคงฯ ถามว่าทักษิณได้รับส่วนลดหรือไม่ เนื่องจากค่าห้องพักแยกออกจากค่ารักษาพยาบาล และหากในอนาคตมีผู้ต้องขังที่อยากได้รับการรักษาเช่นนั้นบ้างจะต้องแจ้งหรือทำอย่างไร จากนั้น นพ.วาโย สอบถามถึงเรื่องการพักโทษด้วย
พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่าคนทั่วไปก็อยู่ห้องนั้นได้ ส่วนการรักษาพยาบาลทักษิณไม่ขอใช้สิทธิ แต่ขอจ่ายเงินเอง ราคาห้องอาจมากกว่าที่คำนวณ เนื่องจากยังมีค่าหมอและค่ายา และการที่ทักษิณอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจก็เหมือนอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ออกไปไหน ส่วนการที่ต้องส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่เพียงพอ
รังสิมันต์แย้งว่ามีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากครั้งที่แล้วกรมราชทัณฑ์ให้ข้อมูลกับ กมธ.ความมั่นคงฯ ว่าพยาบาล 2 ท่านเป็นผู้วินิจฉัยในการส่งตัวทักษิณไปที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ พ.ต.อ. ทวี เพิ่งบอกว่ามีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย
พ.ต.อ. ทวี จึงชี้แจงว่าแพทย์มาตรวจเวลา 11.00 น. ถึงรู้ว่าทักษิณเป็นโรคเยอะ ดังนั้นในช่วงกลางคืนพยาบาลจึงส่งตัวตามคำแนะนำของแพทย์ในตอนเช้า และตามกฎหมายก็เขียนให้พยาบาลเป็นผู้ส่งตัว ไม่ได้ให้แพทย์เป็นผู้ส่งตัว ไม่มีอะไรที่จะผิดกฎหมาย
พ.ต.อ. ทวี กล่าวย้ำว่าในฐานะรัฐมนตรี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นแพทย์ได้ให้ความเห็นว่าเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุทั้งหมด อีกทั้งยังเหลือโทษไม่มาก การให้คะแนนจึงเป็น 9 คะแนน ซึ่งแพทย์วินิจฉัยโรคดีกว่าและเป็นผู้วินิจฉัยว่าเข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด มีโรคหลายโรคโดยไม่มีผู้อื่นเห็นแย้ง และอัยการก็ระบุถึงการพิจารณาเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ และการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจถือเป็นการจำคุก เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำ เพราะมีผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
“เพราะฉะนั้นหากจะให้ผมวินิจฉัยโรค ผมคงชอบให้หมอวินิจฉัยมากกว่า เพราะถ้าให้ผมเป็นคนให้ยา คุณรังสิมันต์ก็คงไม่เอาเหมือนกัน ผมยืนยันว่าข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่เอกสาร ส่วนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” พ.ต.อ. ทวี กล่าว
รังสิมันต์ถามต่อว่าเข้าใจว่า พ.ต.อ. ทวี ไม่ใช่แพทย์ แต่ผลที่ออกมาเหมือนจะเป็นไปตามนั้น เพราะดูทักษิณสุขภาพดี ช่วยเหลือตัวเองได้ จึงขอถามอีกว่าได้ตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาว่าเป็นการใช้อำนาจมิชอบด้วยหรือไม่
พ.ต.อ. ทวี ชี้แจงอีกว่าให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรมไปตรวจสอบ และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ตรวจสอบกรณีนี้แล้ว ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และยุติเรื่องไปแล้ว ยืนยันว่าการพิจารณาการพักโทษของแต่ละคนจะพิจารณากันหนักมาก