หลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ก็ถือว่ากฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
เนื่องจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่แสดงถึงความเสร็จสิ้นบริบูรณ์ของการนิติบัญญัติหรือการตรากฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องขั้นตอนสุดท้ายนี้ไว้ในมาตรา 81 วรรคสอง
อย่างไรก็ดี การประกาศตัวว่ามีกฎหมายเกิดขึ้นในประเทศกับการมีผลใช้บังคับได้ของกฎหมายนั้นเป็นประเด็นที่แยกออกจากกันได้ กล่าวคือแม้กฎหมายนั้นจะถูกประกาศออกมาแล้วแต่กฎหมายนั้นอาจยังไม่มีผลใช้บังคับก็ได้ ซึ่งหมายความว่า กฎหมายนั้นยังไม่เริ่มเปล่งอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความเป็นไปตามที่กฎหมายนั้นได้ตราขึ้น อุปมาเหมือนทารกที่คลอดออกมาแล้วแต่ยังไม่ส่งเสียงร้อง
เหตุผลที่กฎหมายปรากฏตัวในราชกิจจานุเบกษาแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับ เพราะประสงค์ให้ชะลอผลที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมายนั้นออกไปก่อน ที่เป็นเช่นนั้นมีเหตุผลสำคัญคือ เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในภายหน้า เช่น การวางแผนเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปรับตัว การประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้นใหม่
กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็มีลักษณะดังที่ได้กล่าวมา เนื่องจากในมาตรา 2 บัญญัติว่า ‘พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป’ ซึ่งวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 24 กันยายน 2567
คำถามที่ต้องการความชัดเจนคือ สรุปแล้วกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับได้ ณ วันใดเป็นวันแรก
เรื่องนี้มีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีผล ณ วันที่ 22 มกราคม 2568 แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ามีผล ณ วันที่ 23 มกราคม 2568 ต่างกันอยู่ 1 วัน
สำหรับฝ่ายที่เห็นว่ามีผล ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 สามารถเห็นได้ตามสื่อต่างๆ ที่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการมีผลในวันดังกล่าว ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ พบข่าวว่ามีภาคประชาชนที่เตรียมจัดแคมเปญรวมคู่รัก LGBTQIA+ ทั้งสิ้น 1,448 คู่ไปจดทะเบียนสมรสตั้งแต่วันแรกซึ่งหมายถึงวันที่ 22
แต่ฝ่ายที่เห็นว่ามีผล ณ วันที่ 23 มกราคม 2568 ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนะจากฝั่งกระทรวงมหาดไทยที่ออกมากล่าวถึงการเตรียมความพร้อมและกล่าวถึงวันเริ่มมีผลบังคับของกฎหมายว่าคือวันที่ 23 ซึ่งขยับออกไปจากฝ่ายแรก 1 วัน
ข้อควรทราบคือ กระทรวงมหาดไทยคือหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางระบบระเบียบเกี่ยวกับการจดทะเบียนครอบครัว และอย่างที่หลายคนรู้อยู่ว่า ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศเป็นสถานที่สำคัญของการจดทะเบียนสมรส ซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล
แต่ข้อที่น่าจินตนาการคือ หากมีคู่สมรส LGBTQIA+ จำนวน 1,448 คู่หรือมากกว่านั้นเดินทางไปขอจดทะเบียนสมรสในวันที่ 22 แต่ถูกปฏิเสธ สถานการณ์จะเป็นเช่นไร
คำถามรากฐานของเรื่องนี้คือ เหตุใดวันมีผลของกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงมีมุมมองที่แตกต่าง
จากคำถามดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า ก็เพราะวันเริ่มต้นนับระยะเวลาเพื่อหาวันมีผลใช้บังคับไม่ตรงกัน เนื่องจากฝ่ายที่สองนับคนละวันกับฝ่ายแรก โดยฝ่ายที่สองขยับวันเริ่มนับไปอีกหนึ่งวัน
หากย้อนกลับไปดูตัวบทจะพบถ้อยบัญญัติว่า ‘ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา’
ฝ่ายแรกนับเริ่มนับวันที่ 24 กันยายน 2567 เพราะมองว่าวันนั้นคือวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังเนื้อความในตัวบทที่ให้ ‘นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ซึ่งก็คือนับตั้งแต่วันที่ 24 ดังกล่าว ท้ายสุดจึงทำให้วันที่มีผลใช้บังคับ (ซึ่งต้องผ่านพ้น 120 วันก่อน) คือวันที่ 22 มกราคม 2568
แต่ฝ่ายที่สองมีการแถลงจากฝั่งกระทรวงมหาดไทยว่า ถือการนับวันบังคับตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา โดยนับวันแรกคือวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ซึ่งหมายความว่าไม่ได้นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษานั่นเอง ซึ่งตรงนี้มีข้อมูลมาสำทับด้วย กล่าวคือสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกหนังสือเวียนฉบับลงวันที่ 26 กันยายน 2567 เกี่ยวกับการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ทั้งนี้ มีเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยสรุปว่า การนับระยะเวลานั้นมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน โดยอ้างถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 ที่ว่าด้วยการนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายดังกล่าว พร้อมกับอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้เชื่อมโยงได้กับการชี้แจงจากฝั่งกระทรวงมหาดไทยที่ออกมากล่าวโดยมีนัยว่ายึดถือตามแนวนี้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการนับเวลาของฝ่ายที่หนึ่งจะไม่มีข้อมูลสำทับ เนื่องจากการที่เริ่มต้นนับวันที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันแรกของการนับเพื่อนำไปสู่การหาวันมีผลใช้บังคับนั้น มีแนวความเห็นจากฝั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นข้อที่สร้างความหนักแน่นให้กับฝั่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในอดีตที่มีที่มาจากกรณีซึ่งมีประเด็นความเห็น 2 แนวที่เขย่งกัน 1 วันเกี่ยวกับวันที่มีผลใช้บังคับของกฎหมายให้พิจารณา เช่นในคราวที่มีความเห็นเกี่ยวกับวันเริ่มใช้บังคับ พ.ร.บ.ปปง. ซึ่งฝั่งคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่า เมื่อกฎหมายกำหนดโดยชัดแจ้งว่าให้เริ่มนับกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ต้องนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ไม่ใช่นับวันรุ่งขึ้น
สำหรับตัวผู้เขียนเองมีความเห็นว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายแรก ซึ่งมีแนวของฝั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเครื่องสนับสนุน
ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายบัญญัติชัดเจนในตัวเอง ว่านับแต่วันใดเป็นวันเริ่มต้นคำนวณ 120 วันที่จะนำไปสู่การหาวันแรกที่กฎหมายมีผล เมื่อตัวกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดไว้ในตัวเองว่านับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นจุดเริ่มต้นการคำนวณ ก็ต้องเป็นไปตามที่ตัวกฎหมายสมรสเท่าเทียมชี้ชัดไว้เช่นนั้นแล้ว
ดังนั้นจึงนับวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันที่ 24 กันยายน 2567 เป็นวันที่ 1 และครบกำหนด 120 วันในวันที่ 21 มกราคม 2568 เพราะฉะนั้นกฎหมายสมรสเท่าเทียมจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวัน ‘พ้น’ กำหนด 120 วันเป็นต้นไปตามที่กฎหมายระบุ
ผู้เขียนเห็นว่าความเห็นที่แตกต่างสองแนวในเรื่องวันมีผลใช้บังคับของกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะมีประเด็นต่อไปในวันข้างหน้า หากยังไม่มีข้อยุติหรือยังมีความเห็นที่ต่างกันระหว่างผู้ประสงค์จดทะเบียนสมรสกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเข้าไปขอจดทะเบียนสมรสในวันที่ 22 มกราคม 2568 แล้วถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวยังมีช่องทางในการยุติปัญหาข้อพิพาท นั่นคือการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสให้แก่คู่รัก LGBTQIA+ ในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ายังไม่ถึงวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับให้จดทะเบียนสมรสได้ ก็ถือว่ามีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ มีสภาพเป็นคดีปกครอง ไม่ใช่คดีแพ่งที่ประสงค์ให้บังคับตามสิทธิในทางครอบครัว คู่รัก LGBTQIA+ ที่ถูกปฏิเสธมีสิทธิยื่นฟ้องศาลปกครองได้ เพราะศาลปกครองมีอำนาจในกรณีดังกล่าว ไม่ใช่ศาลยุติธรรม (จากการที่ผู้เขียนลองค้นคว้า พบว่ามีคดีที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสแล้วถูกฟ้องเป็นคดีในศาลปกครองให้เทียบเคียงคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.233/2557) และถ้าการที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะจดทะเบียนสมรสให้กับคู่รัก LGBTQIA+ มีคดีเกิดขึ้น ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ศาลปกครองจะตัดสินชี้ขาดว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลในวันที่ 22 มกราคม 2568 หรือวันที่ 23 มกราคม 2568 กันแน่