ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change กำลังคืบคลานสร้างความเสียหายในทุกพื้นที่ทั่วโลก
30 ตุลาคม 2567 เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันในบาเลนเซีย เมืองชายฝั่งทางตะวันออกของสเปน กระทบบ้านเรือนกว่า 155,000 หลัง ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เนปาลเผชิญฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม แม้แต่พื้นที่ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดอย่างทะเลทรายซาฮาราก็ถูกน้ำท่วมเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ
ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม – 4 ตุลาคม 2567 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 38 จังหวัด
แม้จะมีความพยายามถอดบทเรียน หาแนวทาง สร้างเครื่องมือเพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่ประเทศไทยและคนทั่วโลกกำลังต่อกรคือ ‘ความไม่แน่นอนของโลกและความแปรปรวนรุนแรงของสภาพอากาศ’ ที่ยากเกินจะคาดเดา และเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ทำได้เพียงหาแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
วิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า Climate Change ถือเป็นความท้าทายของกรมชลประทานที่ต้องเตรียมความพร้อมและปรับปรุงแผนงานในการรับมือภาวะอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ หรือความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนจากค่าที่คาดการณ์ไว้
“ถ้าดูจากปริมาณน้ำฝน เมื่อนำไปเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายปีกับปัจจุบัน จะเห็นว่าปริมาณฝนไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมนัก แต่จะเปลี่ยนตำแหน่งที่ตก รวมถึงความหนาแน่นและความเข้มของฝน
“สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่กรมชลประทานทำมาโดยตลอดคือการคาดการณ์สถานการณ์และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เสี่ยง โดยเราจะวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นจะดู 7-10 วันล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกมากน้อยแค่ไหน ส่วนระยะยาวมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณฝน ซึ่งจะคาดการณ์ 3-6 เดือนล่วงหน้า ข้อมูลที่ได้มาจะถูกนำไปวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำลำคลองต่างๆ”
‘พื้นที่เสี่ยงสูง’ ปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารจัดการน้ำ
นอกจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำแล้วยังต้องนำข้อมูลแวดล้อมของ ‘พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง’ มาพิจารณาร่วมด้วย เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่ตรงจุด
วิทยาบอกว่า พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หมายถึง พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ที่จำเป็นต้องกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีลักษณะเฉพาะตามสภาพพื้นที่ และต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงพื้นที่แล้งที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ
“ภูมิประเทศของไทยอย่างที่ทราบกันดีว่า ทางตอนเหนือเป็นภูเขา อีสานเป็นที่ราบสูง ภาคกลางที่ราบลุ่ม ภาคใต้เป็นชายทะเล ปัญหาเรื่องน้ำย่อมต่างกัน แต่เราก็ใช้หลักการบริหารน้ำคือ ‘ต้นกักเก็บน้ำ กลางหน่วงน้ำ ปลายระบายน้ำ’ เนื่องจากภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขา พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จึงมีความเหมาะสมในการจะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ส่วนตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม น้ำจากตอนบนไหลลงมาต้องมาจัดการจราจรน้ำ เพื่อแบ่งเบาหรือลดยอดน้ำ โดยจะไม่ให้กระทบกับพื้นที่ที่เราผันน้ำเข้าไป จนมาถึงตอนปลาย ซึ่งปัญหาที่พบคือ น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ตามธรรมชาติ ต้องมีสถานีสูบน้ำเข้ามาช่วยสูบระบายน้ำออก โดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง”
วิทยายกตัวอย่างปัญหาของแต่ละพื้นที่ ภาคเหนือตอนบนน้ำมาเร็วแต่ก็ไปเร็ว “ถ้าฝนตกทางพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่จะเก็บน้ำไว้ที่เขื่อนได้ทั้งหมด เช่น ฝนที่เชียงใหม่เก็บในเขื่อนภูมิพล ฝนที่จังหวัดน่านเก็บที่เขื่อนสิริกิติ์ ในขณะที่ฝนจังหวัดแพร่น้ำไหลลงไปที่จังหวัดสุโขทัย เพราะไม่มีที่กักเก็บน้ำ ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ยาก แต่กรมชลประทานพิจารณาปรับใช้พื้นที่ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่รองรับน้ำ สามารถรองรับได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยชะลอน้ำได้ระดับหนึ่ง จึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
“ส่วนตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ราบอย่างกรุงเทพฯ ไม่มีที่เก็บกักน้ำได้เลย ต้องใช้สถานีสูบน้ำอย่างเดียว ปัจจุบันเรามีสถานีสูบน้ำที่สามารถระบายออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำได้ถึงวันละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน”
อย่างไรก็ดี ถึงจะมีเครื่องมือที่ใช้บริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ฝาย ประตูระบายน้ำ หรือคลองระบายน้ำ แต่ถ้าปริมาณฝนตกที่เดิมซ้ำๆ มากกว่าศักยภาพของเครื่องมือที่กรมชลประทานมีก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุทกภัย
‘ภัยแล้ง’ ก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเช่นกัน วิทยาอธิบายว่า วิธีบริการจัดการน้ำของกรมชลประทานแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำ ปัจจุบันกำลังมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ตามสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดำเนินการ โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสังคม และด้านเศรษฐศาสตร์
“อีกมาตรการ คือเรื่องของการบริหารจัดการ โดยการจัดสรรน้ำให้ตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง ปัญหาที่พบคือน้ำเค็มรุกล้ำในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งแนวทางการแก้ไขดูเหมือนไม่ซับซ้อน เพียงแค่ปรับการระบายน้ำจืดจากพื้นที่ทางตอนบน เพื่อมาช่วยผลักดันน้ำเค็ม แต่แนวทางของเราคือ การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด จึงต้องปล่อยน้ำในปริมาณพอเหมาะ ตามจังหวะที่ถูกต้อง ปัจจุบันเรามีการคำนวณว่าช่วงเวลาใดน้ำทะเลจะหนุนสูง โดยใช้ผลพยากรณ์จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เมื่อรู้ว่าน้ำจะหนุนสูง วันไหนของเดือน และช่วงเวลาใด เราก็จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงมา โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-10 วัน จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา การดำเนินการสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
วิทยายังบอกด้วยว่า ความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน นอกจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีเรื่องของความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของประเทศ การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน จำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว
เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันกรมชลประทานนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการน้ำ ประกอบกับผลการพยากรณ์สภาพอากาศและน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เพื่อคำนวณว่า ฝนที่ตกจะกลายเป็นน้ำที่ลงสู่แม่น้ำเท่าไร และน้ำที่ลงแม่น้ำจะไหลเข้าเขื่อนเท่าไร เมื่อเข้าเขื่อนแล้วต้องระบายหรือไม่ และต้องระบายแค่ไหน ถ้าเขื่อนต้องระบายเยอะถึงขนาดที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบก็จะแจ้งไปยังพื้นที่ให้เขาแจ้งเตือนชาวบ้าน
ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตการเก็บข้อมูลเราก็ใช้คนไปวัดระดับน้ำและส่งรายงานเข้ามาทุกวัน แต่ปัจจุบันเราใช้เซ็นเซอร์วัดน้ำหรือระบบโทรมาตร ซึ่งกระจายทั่วประเทศกว่า 1,200 จุด ทำให้เรารู้ระดับน้ำ รู้ปริมาณน้ำ ทุกๆ ชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้ข้อมูลมาจะนำเข้าระบบ Big Data จากนั้นจะเข้าแบบจำลองคณิตศาสตร์ และระบบ AI เข้ามาช่วยคาดการณ์เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เพราะยิ่งรู้ก่อนก็เตือนได้ก่อน ประชาชนก็สามารถเตรียมตัวป้องกันหรืออพยพได้ก่อน ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็จะลดลง”
แนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและประชาชน
ความร่วมมือน่าจะเป็นแนวทางที่ดีในวันที่มนุษย์ต้องต่อกรกับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ วิทยาเล่าว่า ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลน้ำเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแทบทุกวัน
“ข้อมูลที่ได้รับจากหลายหน่วยงานจะถูกนำมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำข้อมูลปริมาณน้ำในพื้นที่มาใช้ประกอบการวางแผนก่อสร้างหรือการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีความถูกต้องและเหมาะสมมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านตำแหน่งที่ตั้งและขนาดของโครงสร้างอาคารที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอาจต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคตอีกด้วย”
สำหรับภาคประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง วิทยาบอกว่า “จริงๆ แล้วมันสอดคล้องกับพันธกิจของกรมชลประทาน เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างการพิจารณาความเหมาะสมหรือการศึกษาวางแผนโครงการใหม่ โดยต้องกำหนดตำแหน่งและรูปแบบของโครงการ มีการเพิ่มกระบวนการการมีส่วนร่วมประชาชนเข้ามาด้วย
“หรือโมเดล SWOC PR แพลตฟอร์มที่ประชาชนจะสามารถรับรู้สถานการณ์น้ำไปพร้อมกับเรา และมีส่วนร่วมด้วยการแจ้งจุดที่มีปัญหา ถ่ายรูปแล้วส่งผ่านแอปได้ทันที โดยจะมีหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปแก้ปัญหาและถ่ายรูปหลังเสร็จงานแจ้งกลับมาที่ส่วนกลาง ข้อดีคือทุกคนเห็นสิ่งเดียวกัน หลังจากปัญหาแก้แล้วมันจะกลายเป็น Big Data ปัญหาไหนเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็จะไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว”
นอกจากนี้กรมชลประทานยังมีโครงการชลประทานที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อประชาชนพบปัญหาสามารถเข้าไปที่โครงการได้ทันที หรือ โทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างที่บอกไปว่า แม้ว่ากรมชลประทานจะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำ แต่ผลกระทบที่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศก็สร้างความท้าทายที่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้เพียงลำพัง
ถ้าเราในฐานะประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนี้ วิทยาแนะว่า นอกจากการให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำแล้ว เราควรสนับสนุนการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของวัฏจักรน้ำ และร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อช่วยกันสร้างความยั่งยืนด้านน้ำในอนาคตต่อไป
“กรมชลประทานจะไม่หยุดพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น เพื่อให้ปลายทางอย่างกระบวนการแจ้งเตือนเร็วขึ้นตามไปด้วย เพราะยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งป้องกันความเสียหายได้มาก” วิทยากล่าวทิ้งท้าย