ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี เป็นโค้งสุดท้ายของการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี นักลงทุนส่วนมากมักเริ่มกลับมาพิจารณาพอร์ตการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในช่วงนี้ ซึ่งเรามองว่านักลงทุนกลุ่มนี้จำเป็นต้องพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี ข้อกำหนด และเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนรวมลดหย่อนภาษีให้ดี ซึ่งปีนี้มีกองทุนรวมลดหย่อนภาษีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่มีเงื่อนไขแตกต่างกัน
สำหรับลูกค้าที่ไม่มีข้อจำกัดด้านเงินลงทุน สามารถใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่ได้ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของแต่ละกองทุน โดยต้องลงทุนไม่เกินสิทธิที่จะได้รับ เพราะส่วนที่เกินจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
หากผู้ลงทุนมีการวางแผนการลงทุนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยการ Dollar-Cost Averaging หรือ DCA ตั้งแต่ต้นปี ทยอยใส่เงินลงทุนเป็นประจำทุกเดือน จะช่วยลดปัญหาเรื่องการเสียโอกาสลงทุนได้ไม่เต็มที่ตามสิทธิที่มี แต่หากไม่ได้วางแผนไว้ เพิ่งมาให้ความสำคัญในช่วงปลายปี และต้องการลดหย่อนภาษีให้ได้เต็มสิทธิ อาจต้องลงทุนด้วยเงินก้อนจำนวนมากในคราวเดียว ซึ่งบางท่านอาจประสบปัญหาไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะนำมาลงทุนตามสิทธิได้
ทั้งนี้ SCB CIO แนะนำให้นักลงทุนมองกองทุนรวมลดหย่อนภาษีเป็นมากกว่าการลงทุน เพื่อวัตถุประสงค์ใช้ลดหย่อนภาษีที่ซื้อและถือไว้จนครบกำหนดโดยไม่มีการทบทวนการลงทุน และขอให้มองเป็นเครื่องมือการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาวหรือเพื่อการเกษียณอายุ และบริหารจัดการการลงทุนอย่างสม่ำเสมอผ่านกลยุทธ์การสับเปลี่ยนกองทุน (Switching Vehicle) โดยอาจจัดสรรเงินลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และเป็นพอร์ตลงทุนที่จะมีการทบทวนสัดส่วนลงทุนเป็นประจำ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มระยะยาวและสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น
ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์สับเปลี่ยนกองทุน ได้แก่ กรณีนักลงทุนเคยซื้อกองทุน RMF ลดหย่อนภาษีภายใต้นโยบายลงทุนหนึ่งไว้ แต่ผลการดำเนินงานไม่ดี หากพิจารณาแล้วว่าแนวโน้มระยะยาวยังดี อาจพิจารณาลงทุนเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน แต่กรณีที่พิจารณาแล้วกองทุน RMF ที่ลงทุนอยู่ในปัจจุบันมีนโยบายการลงทุนที่ไม่เห็นอนาคตการเติบโตในระยะยาวแล้วจากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แนะนำให้ใช้วิธีสับเปลี่ยนไปยังกองทุน RMF อื่นที่มีนโยบายลงทุนที่ตอบโจทย์มากกว่า โดยกรณีที่ยังเลือกนโยบายใหม่ที่สนใจไม่ได้อาจสับเปลี่ยนเงินลงทุนไปไว้ยังกองทุน RMF ที่ลงทุนในตราสารตลาดเงิน (Money Market) เพื่อพักเงินลงทุนไว้รอสับเปลี่ยนไปยังกองทุน RMF อื่นได้
ในกรณีที่เคยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ไว้แล้วขาดทุนอยู่มาก อาจเลือกลงทุนในกองทุน ThaiESG ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้นไทยเหมือนกัน เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนได้ รวมทั้งภายใต้พอร์ตลงทุนกองทุน ThaiESG เพียงอย่างเดียว ก็สามารถจัดพอร์ตลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันกองทุนประเภทนี้มีนโยบายให้เลือกลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน และกองทุนผสม ยกตัวอย่างเช่น กองทุน ThaiESG ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไทยพาณิชย์ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนการขาย ปัจจุบันมีนโยบายการลงทุนให้เลือกถึง 5 นโยบาย 9 กองทุน ได้แก่ SCBTB (ThaiESGA) ลงทุนในตราสารหนี้ไทยที่โดดเด่นด้าน ESG เน้นตราสารภาครัฐ เสริมด้วยตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี, SCBTM (ThaiESG) และ SCBTM (ThaiESGA) ลงทุนแบบผสมยืดหยุ่น 0-100% ทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนของบริษัทไทยที่มีความโดดเด่นด้าน ESG, SCBTA (ThaiESG) และ SCBTA (ThaiESGA) ลงทุนหุ้นไทยที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความโดดเด่นด้าน ESG บริหารเชิงรุก, SCBTD (ThaiESG) และ SCBTD (ThaiESGA) บริหารพอร์ตเชิงรุก เน้นลงทุนหุ้นไทยปันผล และโดดเด่นด้าน ESG ไม่น้อยกว่า 80%, SCBTP (ThaiESG) และ SCBTP (ThaiESGA) ลงทุนหุ้นไทย ESG เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกองทุนใกล้เคียงกับดัชนี SETESG TRI มากที่สุด
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- กองทุนรวมนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้งศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุน กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางภาษีจะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขของกองทุน รวมถึงควรลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนได้
- ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไทยพาณิชย์ จำกัด และแอป SCB EASY หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777