หนี้ครัวเรือนไทย เป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงและร่วมแก้ไขกันมากว่าหลายสิบปี แต่ปัญหานี้ก็ไม่เคยหมดไป หลายคนแก้ไขหนี้ไม่สำเร็จ หลายคนแก้หนี้ได้แต่ก็กลับมาเป็นหนี้ซ้ำในระยะเวลาไม่นาน แต่วันนี้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้ และทำให้วินัยการใช้เงินของคนไทยยั่งยืนขึ้น
เวที Young Leaders Dialogue ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ร่วมพูดคุยกันภายใต้หัวข้อ Breaking Free: Overcoming the Cycle of Household Debt หัวข้อ นวัตกรรมการเงินพลิกเกมประเทศไทย หลุดกับดักหนี้ครัวเรือน โดย ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด และ พรณภัสร์ เฉลิมเตียรณ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย ตรีชฎา โชคธนาเสริมสกุล
ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเกิดจากอะไร?
บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด ค้นพบว่า 90% ของพนักงานเป็นหนี้ และในจำนวนนี้มีเกือบ 30% เป็นหนี้นอกระบบ โดยสาเหตุหลัก 3 ปัจจัยคือ ‘ความรัก’ เช่น การใช้หนี้ให้พ่อแม่ที่กู้เงินมาและต้องใช้หนี้อย่างไม่รู้จบ ความสนิทสนมต่อเพื่อนที่ใช้ชื่อในการค้ำประกัน ‘ความโลภ’ เช่น การกู้เงินจากแอปพลิเคชันเถื่อน และ ‘ความไม่รู้’ คือการขาดแคลนความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการหนี้
ในขณะที่ บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด พบปัจจัยเสริมอีกว่า การเป็นหนี้ครัวเรือนไทยอาจเกิดขึ้นได้จากความต้องการเงินทุนเพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้ในอนาคต สถานการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในชีวิต และบางครอบครัวเกิดขึ้นเพราะต้องการสร้างความมั่นคง และอยากสร้างความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน ก็ทำให้วงจรหนี้เกิดขึ้นได้
นวัตกรรมการแก้หนี้ ผสมจิตวิทยาเชิงบวกและการสะกิดพฤติกรรม
บริษัท โนบูโร แพลตฟอร์ม จำกัด สร้างแพลตฟอร์ม Noburo Wealth-Being ที่นำองค์ความรู้ทั้งทักษะทางการเงิน ตั้งแต่ทักษะการเจรจาต่อรองหนี้ในครอบครัว, การเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้, การหารายได้เสริม, ความรู้ทางกฎหมาย และกระบวนการศาล มาผนวกเข้ากับเงินทุนที่ร่วมมือกับ บริษัท เงินดีดี จำกัด อันเป็นบริษัทลูกของธนาคารออมสิน มาให้เงินทุนกับลูกหนี้ที่พร้อม
กลไกสำคัญคือการสร้างจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และหลักการสะกิดพฤติกรรม (Nudge) โดยกระตุ้นให้ลูกหนี้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มเห็นขั้นตอนในการวางแผนปลดหนี้อย่างเป็นรูปธรรมว่า สามารถจะหลุดจากการเป็นหนี้ได้เมื่อไร อย่างไร และถ้าจ่ายหนี้ตามแผนจะประหยัดเงินจากการเป็นหนี้นอกระบบได้อีกเท่าไร เหมือนกับมีแสงสว่างในปลายอุโมงค์ มีการจดบันทึกรายรับรายจ่าย และสนับสนุนให้มีการออม โดยระหว่างทางมีการสะกิดพฤติกรรมเล็กๆ ให้จ่ายหนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อหมดหนี้เร็วขึ้น และจ่ายดอกเบี้ยลดลง
ส่วนบริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด ออกแอปพลิเคชัน MoneyThunder สำหรับผู้ต้องการใช้สินเชื่อแต่ประสบปัญหาว่าไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ไม่มีเอกสารหลักฐานเพื่อขอยื่นกู้ MoneyThunder ใช้ AI เข้ามาช่วยตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การขอสินเชื่อที่ใช้ตัวแปรมากกว่าสลิปเงินเดือน แต่รวมไปถึงการซื้อของออนไลน์ การจ่ายบิลค่าน้ำ-ค่าไฟ พฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันอื่นๆ ประกอบกับข้อมูลอื่นๆ ด้านการเงิน โดยมีตัวบ่งชี้มากกว่า 2,000 ตัวแปร ทำให้ผู้ที่เคยถูกธนาคารปฏิเสธ สามารถกลับมากู้เงินในระบบได้มากขึ้น
ระหว่างทางก็มีการใช้การสะกิดพฤติกรรมด้วยคะแนนรางวัลในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้กู้ค่อยๆ สร้างพฤติกรรมที่ดีทางการเงิน ประกอบความรู้ด้านการเงินจากแชตบอตที่สามารถพิมพ์ถามได้ตลอดเวลา สร้างความยั่งยืนทางการเงินได้อีกทาง
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนเพื่อวิกฤตหนี้ครัวเรือนไทยหมดไป
ธิษณา ธิติศักดิ์สกุล และ พรณภัสร์ เฉลิมเตียรณ มองเห็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีมาหลายทศวรรษว่า
- สถาบันการเงินต้องออกสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ปล่อยสินเชื่อง่ายเกินไป และให้ข้อมูลต่อผู้กู้อย่างเพียงพอให้สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
- ตัวลูกหนี้ต้องกล้าเปลี่ยนความคิดว่าหนี้เป็นสิ่งที่สามารถวางแผนและแก้ไขได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
- การแก้หนี้นอกระบบต้องทำพร้อมกับการแก้หนี้ครัวเรือนในระบบ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยสูง และการเข้าไม่ถึงหนี้ในระบบของหลายคนอาจกลายเป็นต้นทุนมหาศาลของประเทศ
- ผู้ออกนโยบายหรือแม้แต่ผู้นำองค์กรต้องให้ความสำคัญกับความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) อย่างจริงจัง จึงจะสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน ทำให้คนเป็นหนี้มีความแข็งแรง ไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำ