ในยุคที่โอกาสในการลงทุนเปิดกว้างมากขึ้นและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศ หลายคนกระจายการลงทุนของตัวเองไปยังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะในรูปของเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือหุ้นต่างประเทศเป็นรายตัว
การออกไปลงทุนต่างประเทศนั้นนอกจากปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ที่ลงทุนแล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรหรือขาดทุนคือ อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange)
ไม่เพียงแค่การลงทุนเท่านั้น การทำธุรกิจที่ต้องค้าขายกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าหรือส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น เรานำเงินออกไปลงทุนซื้อหุ้นสหรัฐฯ 1 แสนบาท สมมติว่าในวันที่เราลงทุนค่าเงินบาทอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับว่าหุ้นสหรัฐฯ ที่เราซื้อได้จะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,778 ดอลลาร์สหรัฐ
ผ่านไป 6 เดือนเงินบาทแข็งค่าเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากเราแปลงเงินลงทุนกลับมาเป็นเงินบาท มูลค่าจะลดลงมาเหลือประมาณ 91,674 บาท เท่ากับว่าเราจะขาดทุนทันที 8,326 บาท หรือ 8.3% โดยที่ยังไม่รวมผลกำไรหรือขาดทุนจากการลงทุน
หรือแม้แต่การนำเงินไปฝากบัญชีต่างประเทศและได้รับดอกเบี้ย 5% ต่อปี หากปีนั้นเงินบาทแข็งค่าขึ้น 5% เมื่อแปลงสกุลเงินต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาท เท่ากับว่าดอกเบี้ยที่เราได้รับจะหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน
ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ
อย่างกรณีของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2567 เริ่มต้นปีด้วยการอ่อนค่าจากราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปถึงประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแข็งค่ากลับมาสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
Currency Futures เครื่องมือลดความเสี่ยง
เครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินคือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Futures) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
สำหรับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการในไทยสามารถซื้อขายได้ผ่านตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX ซึ่งเป็นสัญญามาตรฐานที่กำหนดขนาดสัญญาและวันหมดอายุชัดเจน และสัญญายังมีขนาดเล็ก เช่น USD/THB Futures 1 สัญญา มีขนาด 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 บาท แต่การซื้อขายจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียงแค่ประมาณ 1,000 บาท จึงนับเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงที่เข้าถึงได้ง่าย
ปัจจุบัน Currency Futures ที่นักลงทุนสามารถซื้อขายผ่าน TFEX มีทั้งหมด 5 คู่สกุลเงิน ได้แก่ USD/THB (ดอลลาร์สหรัฐ/บาท), EUR/THB (ยูโร/บาท), JPY/THB (เยน/บาท), EUR/USD (ยูโร/ดอลลาร์สหรัฐ) และ USD/JPY (ดอลลาร์สหรัฐ/เยน) ครอบคลุมสกุลเงินหลักจากทั้งภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ทำให้การบริหารความเสี่ยงและการสร้างโอกาสลงทุนกว้างขวางยิ่งขึ้น
นอกจากจะใช้เพื่อลดความเสี่ยงแล้ว Currency Futures ยังสามารถใช้เพื่อทำกำไรได้อีกเช่นกันผ่านการซื้อ (Long) หรือขาย (Short) ในแต่ละสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น หากผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นในอนาคตเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท ก็สามารถเปิดสถานะซื้อล่วงหน้า (Long Open) ใน USD/THB Futures ที่ราคาปัจจุบัน ถ้าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในอนาคต แล้วผู้ลงทุนต้องการขายเพื่อปิดสถานะ (Short Close) เมื่อนำส่วนต่างของราคาที่ซื้อมาหักจากราคาที่ขายแล้วคูณกับขนาดสัญญา จะเท่ากับกำไรที่ผู้ลงทุนได้รับ (ก่อนหักค่าธรรมเนียมซื้อขาย)
สมมติว่าเปิดสถานะโดยการซื้อ (Long Open) USD/THB Futures ที่ราคา 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถ้าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากปิดสถานะ (Short Close) จะได้กำไร = (33-32.5)x1,000 = 500 บาท
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การใช้เครื่องมือการลงทุนและบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น และ Currency Futures ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งการซื้อขายผ่าน TFEX มีข้อดีคือใช้เงินบาทในการวางหลักประกันและการคำนวณกำไรขาดทุน ทำให้ไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินให้ยุ่งยาก
นอกจากนี้ยังสามารถซื้อขายง่ายผ่านระบบเทรดที่นักลงทุนคุ้นเคย เช่น Streaming หรือ MT4 รวมทั้งขนาดสัญญาที่ไม่สูงมาก จึงช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวก โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 10% ของมูลค่าสัญญา หรือประมาณ 500-1,500 บาท
และที่สำคัญการซื้อขาย Currency Futures ใน TFEX มีความน่าเชื่อถือ เพราะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกทั้งยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย นักลงทุนจึงมั่นใจได้กับระบบและการดำเนินงานของ TFEX ที่มีความโปร่งใสและเป็นไปตามมาตรฐานสากล