พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เตรียมเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์เข้าหารือเพื่อเร่งความคืบหน้าของมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ชี้ กระทรวงการคลังพร้อมนำเรื่องการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เข้า ครม. ทันที โดยคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการออกมาอย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
“กระทรวงการคลังจะเชิญผู้บริหารสถาบันการเงินเข้ามาหารือและขอความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งลูกหนี้ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ที่ผ่านมาแม้ว่านักวิเคราะห์จะบอกว่าผลประกอบการของแบงก์ไทยต่ำกว่าแบงก์ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผมเห็นว่าแบงก์ไทยยังมีผลประกอบการที่ดีอยู่มากเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ” พิชัยกล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่
พิชัยยังเปิดเผยถึงแนวทางมาตรการ Hair Cut หนี้ดังกล่าวว่า จะยกเว้นดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ NPL กลุ่มที่มีศักยภาพและพร้อมฟื้นตัว เป็นเวลา 3 ปี สำหรับเงินทุนในการทำมาตรการนี้ พิชัยเปิดเผยว่ามาจาก 2 ส่วน ได้แก่ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ทั้งระบบเหลือ 0.23% ซึ่งคาดว่าจะได้เงินทุนมา 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนฝั่งธนาคารต้องยอมลดรายได้ดอกเบี้ยลง ซึ่งพิชัยมองว่าสถาบันการเงินอาจมีรายได้ลดลงบ้าง เพราะสามารถใช้เงินสำรองหนี้เสียที่ตั้งไว้สูงมาใช้เป็นประโยชน์ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ประชาชน เมื่อมารวมกันก็จะได้ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถดูแลลูกหนี้ NPL ได้ครอบคลุมมูลหนี้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ สถาบันการเงินก็ควรมีการปรับโครงสร้างหนี้ในลักษณะที่เพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น เพื่อลดภาระการผ่อนชำระต่องวดลง และมีผลทำให้ยอดหนี้เงินต้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลทำให้บัญชีหนี้ครัวเรือนหลุดจากสถานะ NPL มากขึ้น
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร แสดงให้เห็นว่า หนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน ณ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท