×

ศาลยกฟ้อง ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน คดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ เรียก 50 ล้าน ข้อหาละเมิดไขข่าวฯ

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2024
  • LOADING...
ณัฐพล ใจจริง

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) มีรายงานว่า ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษา ยกฟ้องคดีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต (โจทก์) ฟ้อง ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500), สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 รวมถึงบรรณาธิการบริหาร และบรรณาธิการหนังสือทั้งสองเล่มนี้ (รวมจำเลยทั้งหมด 5 คน) ในข้อหา ‘ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง’ และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้เผยแพร่คำพิพากษา โดยประเด็นแรก ข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือมิได้กล่าวพาดพิงโจทก์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของโจทก์และครอบครัว ทั้งเรื่องการรับรองรัฐประหาร 2490 และการเข้าแทรกแซงการเมืองสมัยจอมพล ป. ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ อีกทั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สิ้นพระชนม์ก่อนแล้ว จึงเป็นการฟ้องที่กล่าวอ้างว่าเสียหายต่อผู้ที่ไม่มีสภาพบุคคลแล้วไม่ได้ แม้เป็นหลานของกรมพระยาชัยนาทฯ ก็ไม่ได้เสียหายต่อโจทก์ทายาทชั้นหลานด้วย

 

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงตามเนื้อหาในหนังสือเป็นอย่างไรโจทก์ไม่ทราบและยังไม่เกิด ดังนั้นเมื่อข้อความในหนังสือไม่สื่อความหมายถึงโจทก์ ย่อมไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในตัวโจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นหลานได้

 

ประเด็นที่สอง ส่วนที่โจทก์เบิกความว่ามีการชุมนุมแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกรมพระยาชัยนาทฯ โดยมีผู้นำสีแดงมาสาดใส่อนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทฯ รวมถึงการชุมนุมกดดันให้ยกเลิกชื่อถนนอันเป็นนามวิภาวดีรังสิตตามภาพข่าว ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นการชุมนุมปลุกระดมอันสืบเนื่องมาจากข้อความในวิทยานิพนธ์และหนังสือแต่อย่างใด จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเสียหายของโจทก์

 

ประเด็นที่สาม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป

 

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นจาก ศ. ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้กล่าวหาและแจ้งแก่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา ทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ว่าวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) และหนังสืออีก 2 เล่ม คือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 ที่เขียนโดย ณัฐพล ใจจริง ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย

 

ในเดือนมีนาคม 2564 ม.ร.ว.ปรียนันทนา (หลาน) จึงได้ฟ้องร้อง ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนวิทยานิพนธ์และหนังสือ เป็นจำเลยที่ 1, รศ. ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เป็นจำเลยที่ 2, ชัยธวัช ตุลาธน บรรณาธิการหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อฯ เป็นจำเลยที่ 3, อัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ เป็นจำเลยที่ 4, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้จัดพิมพ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม เป็นจำเลยที่ 5 และ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นจำเลยที่ 6 ต่อศาลแพ่งในข้อหา ‘ละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง’ และเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท

 

ประเด็นสำคัญในวันนี้อยู่ที่การพิจารณาคำร้องของ ม.ร.ว. ปรียนันทนา ที่ขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์และหนังสือทั้ง 3 รายการจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทนายความของ ม.ร.ว.ปรียนันทนา กล่าวว่า เหตุที่ดำเนินการฟ้องร้องในคดีนี้เพราะโจทก์ได้รับความเสื่อมเสียจาก ‘การกระทำที่บิดเบือน’ ของจำเลยในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกรมพระยาชัยนาทฯ ซึ่งฝ่ายโจทก์เชื่อว่า ‘เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจ ไม่ใช่ผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจ’

 

ก่อนหน้านี้ ณัฐพลชี้แจงถึงประเด็น ‘ข้อผิดพลาด’ ในวิทยานิพนธ์ของเขาในส่วนที่เกี่ยวกับกรมพระยาชัยนาทฯ ว่า หลังจากมีการทักท้วงในเรื่องนี้เขาไม่ได้นิ่งนอนใจและได้รีบตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในทันที และพบว่าเขาอ่านเอกสารผิดพลาดจริง จึงได้แสดงเจตจำนงขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัยในทันที แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไข ซึ่งเป็นกฎที่ใช้กับวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ผ่านกระบวนการสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และบัณฑิตวิทยาลัยได้ดำเนินการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising