“ลิเวอร์พูลมันแย่อย่างนั้น เจอร์เกน คล็อปป์ มันหยิ่งอย่างนี้”
นี่คือส่วนหนึ่งของคลิปอื้อฉาวที่บันทึกภาพของ เดวิด คูต ผู้ตัดสินระดับพรีเมียร์ลีก พูดออกมา ซึ่งผมพยายามปรับโทนให้อ่อนลง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรที่จะปรับโทนของเรื่องนี้ให้อ่อนลงตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม – ไม่ว่าผลการสอบสวนโดย PGMOL ผู้กำกับดูแลผู้ตัดสินของพรีเมียร์ลีก จะออกมาอย่างไรก็ตาม – นี่คือเวลาที่ความสงสัยและข้อสันนิษฐานต่างๆ นานาที่แฟนฟุตบอลลิเวอร์พูล (และสโมสรอื่น) มีต่อการทำหน้าที่ตัดสินของผู้ตัดสินในพรีเมียร์ลีก ควรจะเป็นประเด็นสนทนาและถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
บนแขนเสื้อของนักฟุตบอลทุกคนติดคำว่า ‘Respect’ เช่นเดียวกับแบนเนอร์ข้างสนาม และอีกมากมายตามแคมเปญเพื่อปกป้องผู้ตัดสิน
แต่ผู้ตัดสิน ในฐานะผู้ที่ควรคงความเป็นธรรมในสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยการปะทะตั้งแต่ร่างกายจนถึงอารมณ์และความรู้สึก พวกเขาทำตัวได้น่าเคารพและสมควรให้เกียรติอย่างที่เรียกร้องต้องการแล้วหรือไม่
Work Ethic หรือจริยธรรมในการทำงาน ของผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีกควรได้รับการตรวจสอบจริงไหม?
ต้องบอกว่าในขณะที่คนไทยกำลังตื่นเต้นกับข่าวการเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในรอบการประมูลใหม่ 2025-2028 ที่ ‘JAS’ คว้าสิทธิ์ไปครอบครอง ในประเทศอังกฤษข่าวของ เดวิด คูต ผู้ตัดสินระดับพรีเมียร์ลีก กลายเป็น Talk of the Town ที่ร้อนแรงแทบจะทันทีที่เรื่องแดงขึ้นมา
เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากการเผยแพร่คลิปหลุดของคูตที่พูดกับกล้อง โดยตอบคำถามที่ถูก ‘ชง’ ให้พูดถึงสโมสรลิเวอร์พูล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจอร์เกน คล็อปป์ อดีตผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล
ความจริงการแสดงความคิดเห็นของใครต่อใคร ต่อให้เป็นเชิงลบแค่ไหน มันก็อาจจะยังพอหลับตาเข้าใจได้
แต่เรื่องนี้มันใช้ไม่ได้สำหรับคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินอย่างคูต ซึ่งมีหน้าที่รักษาความเป็นธรรมในสนามฟุตบอล
ความเลวร้ายคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคูตเป็นผู้ตัดสินที่มี ‘ประวัติ’ ในการตัดสินแบบน่ากังขากับลิเวอร์พูลมามากมายหลายครั้ง ซึ่งแค่เพียงไม่นานหลังจากที่มีคลิปหลุด บนโซเชียลมีเดียก็มีแฟนบอลนักสืบจำนวนมากขุดคุ้ยเหตุการณ์ – หรือเราควรจะเรียกว่าวีรกรรม – ในอดีตขึ้นมาใหม่
- เหตุการณ์ที่ จอร์แดน พิกฟอร์ด เข้าปะทะหนักใส่ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ในฤดูกาล 2020/21 จนทำให้กองหลังชาวดัตช์เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ต้องพักการเล่นตลอดฤดูกาล และส่งผลร้ายแรงต่อลิเวอร์พูลในฤดูกาลนั้น แต่คูตซึ่งเป็นผู้ตัดสิน VAR กลับปล่อยผ่าน ไม่ได้ทักท้วงว่าควรเป็นจุดโทษหรือใบแดงแต่อย่างใด
- เหตุการณ์ในเกมที่ลิเวอร์พูลพบกับเบิร์นลีย์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน คิดว่าโดนทำฟาวล์ในกรอบเขตโทษและควรเป็นจุดโทษ แต่คูตซึ่งเป็นผู้ตัดสินในสนามปล่อยผ่าน จนแบ็กซ้ายทีมชาติสกอตแลนด์ไม่พอใจ ปรี่เข้าไปต่อว่าหลังเกมจบลง รวมถึงคล็อปป์ด้วย
- เหตุการณ์ในเกมพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่แล้ว ในเกมที่ลิเวอร์พูลรับการมาเยือนของอาร์เซนอล ซึ่งมีจังหวะปัญหา เมื่อ โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ แตะบอลแล้วไปโดนมือของ มาร์ติน โอเดการ์ด กัปตันกันเนอร์ส ที่ใช้มือสะบัดบอลลง แต่คูตที่นั่งเป็น VAR ไม่ได้ทักท้วงว่าเป็นการทำแฮนด์บอล
ล่าสุดในเกมพรีเมียร์ลีกสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งลิเวอร์พูลเปิดแอนฟิลด์พบกับแอสตัน วิลลา ในจังหวะประตูขึ้นนำของเจ้าบ้าน โม ซาลาห์ ได้โอกาสกระชากบอลเข้าหากรอบเขตโทษ แล้วถูก ลีออน ไบลีย์ เหนี่ยวรั้งจนล้มลง ก่อนที่ ดาร์วิน นูนเญซ จะตามมาเก็บบอลและยิงเข้าไปได้
แต่มีคนจับภาพได้ว่าคูตซึ่งวิ่งตามมาเห็นเหตุการณ์อยู่ด้านหลัง ทำท่าปฏิเสธว่าจังหวะของไบลีย์ไม่เป็นการทำฟาวล์ ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นการทำ Professional Foul หรือการทำฟาวล์ตัวสุดท้ายที่หมายถึงใบแดงในแบบเดียวกับที่ วิลเลียม ซาลิบา ของอาร์เซนอล เคยโดนในช่วงก่อนหน้านี้
ให้ความยุติธรรมกับคูต มันเป็นไปได้ที่ผู้ตัดสินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘หนึ่งในผู้ตัดสินที่มีประสบการณ์สูงที่สุด’ จะตัดสินทุกอย่างตามดุลพินิจส่วนตัวจากประสบการณ์ในการทำงานตีความเหตุการณ์เข้ากับกฎของเกมลูกหนัง
แต่คลิปที่หลุดออกมามันไม่ช่วยอะไร นอกจากทำให้สิ่งที่ผู้คนสงสัยในตัวเขาดูจะมีเค้าของความเป็นจริงมากขึ้น
โดยที่คลิปนั้นไม่ว่าจะพูดกับใครก็ตาม สิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะพูดออกมา
และในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่ ‘คิด’ ก็ไม่ควรด้วยซ้ำ
เพราะสำหรับคนทำงานเป็นผู้ตัดสิน สิ่งสุดท้ายที่พึงมีคือ ‘อคติ’ ที่ไม่ว่าจะมีมากหรือน้อย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ มันอาจเป็นสิ่งที่นำไปสู่การตัดสินที่เอนเอียงไม่เที่ยงธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของวงการผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีกยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
เพราะใช่ว่าจะมีแค่คูตคนเดียวที่มีเครื่องหมายคำถาม ผู้ตัดสินคนอื่นเองก็โดนวิพากษ์วิจารณ์กันแทบตลอดเวลา ไปจนถึงบางคนที่ถูกตั้งคำถามเรื่องของ ‘ผลประโยชน์แอบแฝง’ บางอย่างจากการรับงานไปตัดสินฟุตบอลในแถบตะวันออกกลาง
ในความเห็นส่วนตัวของผม การสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่โดย PGMOL เป็นการตัดสินใจเบื้องต้นที่ถูกต้อง
PGMOL ทำแบบนี้ก็เพื่อหยุดเรื่องทุกอย่างก่อนจะลุกลามบานปลาย ใช้เวลาในการสอบสวน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะนานเท่าไร
แต่ตลอดมา PGMOL ก็ถูกมองว่า ‘โอ๋’ ผู้ตัดสินมาโดยตลอด ผิดมากหรือน้อยแค่ไม่นานก็ได้กลับมาทำงานแล้ว
ครั้งนี้ผมคิดว่ามันควรจะมีการตรวจสอบถึงขั้น ‘จริยธรรม’ การทำงานของผู้ตัดสินพรีเมียร์ลีกอย่างจริงจัง ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่ามันจะสามารถตรวจสอบได้มากหรือน้อยแค่ไหนในสิ่งที่เป็นนามธรรมแบบนี้ แต่เชื่อว่ามีกฎและเกณฑ์ของมันอยู่
แต่มันคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ต่อให้ต้องตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบ ไปจนถึงการใช้เครื่องมืออย่างเครื่องจับเท็จก็จำเป็น
ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ ผู้ตัดสินที่ยืนหยัดในความถูกต้องจะกลัวอะไรจริงไหม?
เพียงแต่ถ้าทองโดนไฟแล้วเกิดลอกขึ้นมาว่าไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจา หรือใจ นี่เป็นโอกาสของ PGMOL ที่จะสังคายนาระบบผู้ตัดสินขึ้นมาใหม่
ไม่จำเป็นต้องปกป้องคนผิด และอย่าคิดว่าคนของตัวเองไม่เคยผิด
ผู้ตัดสินที่ไม่เป็นธรรม จะเอามาทำแมวน้ำอะไร