ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาบ้านล้นตลาด โดยมี ‘อากิยะ’ หรือบ้านร้างกว่า 9 ล้านหลังในปี 2023 ซึ่งบางหลังราคาถูกกว่า 1 หมื่นดอลลาร์ (ประมาณ 3.36 แสนบาท) สาเหตุหลักมาจากวิกฤตประชากร อัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคนรุ่นใหม่ย้ายเข้าเมือง ทำให้บ้านในชนบทถูกทิ้งร้าง
อากิยะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในชนบทและเมืองใหญ่ สร้างโอกาสให้นักลงทุนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เริ่มให้ความสนใจอากิยะมากขึ้น Tetsuya Kaneko หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาของ Savills Japan กล่าวว่า “ปัญหาอากิยะสะสมมานานหลายทศวรรษ มีต้นตอจากความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลก ทำให้มีการสร้างบ้านจำนวนมาก
“ปัญหาเริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว และทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากร” Kaneko กล่าว คนญี่ปุ่นมองว่า อากิยะเป็นภาระ แม้จะได้รับมรดกตกทอด แต่ก็ไม่ต้องการใช้หรือขายต่อ เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย ค่ารีโนเวตสูง และความเชื่อเรื่องโชคลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ญี่ปุ่นเจอวิกฤตบ้านร้างพุ่ง 3.85 ล้านหลัง! เพิ่มขึ้น 80% ในช่วง 20 ปี พบรกร้าง-ทรุดโทรม ชาวชนบทหนีเข้าเมือง
- ‘บ้านร้าง’ กลายเป็นของดี ชาวต่างชาติแห่ซื้อบ้านราคาถูกในญี่ปุ่น บางหลังราคาแค่ 7.5 แสนบาทเท่านั้น
- บ้านผีสิงของญี่ปุ่นกำลังฟื้นคืนชีพ เข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ธรรมดา
Michael ผู้ก่อตั้งบล็อก Cheap Houses Japan กล่าวว่า “อากิยะถูกมองว่าเป็นทรัพย์สินที่เสื่อมค่าและสร้างปัญหามากกว่าคุณค่า” โดยเฉพาะบ้านอายุเกิน 30 ปี ซึ่งคนญี่ปุ่นมองว่าเก่าและอาจมีปัญหาโครงสร้าง
อย่างไรก็ตาม อากิยะกำลังได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ Kaneko กล่าวว่า “เราพบว่ามีคำถามจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งความสนใจและการซื้ออากิยะ ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด แนวโน้มการทำงานทางไกล และการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ ผู้คนมองหาบ้านหลังที่สอง บ้านพักตากอากาศ หรือโครงการรีโนเวตมากขึ้น”
Anton Wormann ชาวสวีเดนวัย 32 ปี ตกหลุมรักญี่ปุ่นหลังจากมาทำงานที่นี่ เขาเคยอาศัยอยู่ในนิวยอร์กและเดินทางไปทั่วยุโรป “ไม่มีทางที่ผมจะซื้อบ้านในเมืองใหญ่เหล่านั้นได้” Wormann กล่าว เมื่อพบว่าญี่ปุ่นขายบ้านราคาถูก เขาจึงตัดสินใจซื้อ ปัจจุบัน Wormann เป็นเจ้าของอากิยะ 7 หลัง ทำงานเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์และนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์
เขาปรับปรุงอากิยะไปแล้ว 3 หลัง และกำลังรีโนเวตอีก 4 หลัง โดยบ้านหลังหนึ่งเขาซื้อและรีโนเวตด้วยเงิน 1.1 แสนดอลลาร์ (ประมาณ 3.7 ล้านบาท) ปัจจุบันปล่อยเช่าระยะสั้น สร้างรายได้เดือนละ 1.1 หมื่นดอลลาร์ (ประมาณ 3.7 แสนบาท)
Wormann มองว่า อากิยะเป็นการลงทุนที่ดี แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรม ภาษา และผู้คน “คุณต้องสร้างชุมชนและเครือข่ายที่ดีในญี่ปุ่นถึงจะประสบความสำเร็จ คุณไม่สามารถมาที่นี่โดยไม่เข้าใจวัฒนธรรม ไม่เข้าใจวิธีการทำงานของญี่ปุ่น แล้วทุ่มเงินลงทุน เพราะนั่นอาจทำให้คุณเสียเงินเปล่า” เขากล่าว
Kaneko กล่าวอีกว่า “อากิยะเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการรีโนเวต หรือต้องการบ้านพักในชนบทที่เงียบสงบ แต่ไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนสถาบัน หรือผู้ที่ต้องการผลตอบแทนเร็ว เนื่องจากค่ารีโนเวตสูงและโอกาสในการขายต่อจำกัด”
เหล่านี้ทำให้ ‘อากิยะ’ สะท้อนภาพความย้อนแย้งของญี่ปุ่นยุคใหม่ ในขณะที่คนท้องถิ่นมองว่าเป็น ‘ภาระ’ ที่ไม่มีใครต้องการ แต่กลับกลายเป็น ‘โอกาส’ ในสายตาชาวต่างชาติ จากบ้านร้างที่ถูกทิ้งให้เสื่อมโทรมกำลังถูกปลุกชีวิตใหม่ด้วยไอเดียสร้างสรรค์และเม็ดเงินลงทุนจากต่างแดน
แต่กระนั้นความสำเร็จก็ไม่ได้มาจากเงินทุนเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องผสานกับความเข้าใจในวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้ง สะท้อนว่าแม้จะเป็น ‘วิกฤต’ แต่ก็แฝงไว้ด้วย ‘โอกาส’ สำหรับผู้ที่พร้อมจะเข้าใจและปรับตัว
อ้างอิง: