วันนี้ (8 พฤศจิกายน) จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ศปช. ยังคงติดตามการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ประกอบกับผันน้ำออกทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตร ทำให้ขณะนี้ทยอยปรับลดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับลดการระบายน้ำเหลือ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) โดยกรมชลประทานยืนยันจะปรับลดเหลือระดับต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ได้ภายใน 3 วัน
“หากสามารถปรับลดการระบายน้ำได้ต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที จะทำให้จุดที่ต่ำที่สุดของลุ่มเจ้าพระยา คือ อำเภอเสนาและอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของลุ่มเจ้าพระยาที่มีน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายและไม่เหลือพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มเจ้าพระยา ทั้งนี้ การผันน้ำออกทางตะวันตกอาจทำให้มีน้ำเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดนครปฐมเล็กน้อย ซึ่งกรมชลประทานนำเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำรวม 60 เครื่องเข้าไปติดตั้งและเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำแล้ว”
จิรายุกล่าวต่อไปว่า จากแนวโน้มที่ภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องในเดือนนี้และเดือนหน้า ศปช. เน้นย้ำให้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดบูรณาการร่วมกันในการพร่องน้ำในเขื่อน เพื่อเตรียมความพร้อมรับปริมาณน้ำที่อาจเติมเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขณะนี้ที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ปรับลดการระบายน้ำจาก 16 ล้าน ลบ.ม./วัน เหลือ 12 ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ท้ายเขื่อน ทั้งนี้ ศปช. เน้นย้ำให้ประเมินศักยภาพในการรับน้ำของพื้นที่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง