การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชัยชนะตกเป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งชนะการเลือกตั้งพร้อมครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสแบบเบ็ดเสร็จ (Red Sweep)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้จะมีอะไรบ้างนั้น ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ สรุปไว้ 11 ข้อ ได้แก่
- การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงถัดไป เช่น ด้านกลาโหม, ประกันสังคม, ประกันสุขภาพ ส่งผลให้แนวโน้มอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น หนุนให้อัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ และกลุ่มที่เชื่อมโยงกับพันธบัตร เช่น Global REIT
- ความน่าจะเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่จะเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) สูงขึ้น และอาจอยู่ในระดับรุนแรงและรวดเร็วจากการที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลกดดันต่อราคาสินค้าในระดับโลกและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลก
- คาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น จากทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น มีโอกาสทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ชะลอการลดดอกเบี้ยในช่วงถัดไป แม้นักลงทุนคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้ลงอีก 0.25% แต่การประชุมในเดือนธันวาคม นักลงทุนประมาณ 30% คาดว่า Fed จะไม่ลดดอกเบี้ยอีกแล้ว
- เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะการเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้น ช่วยให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นและมีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าลงทุนในตราสารเงินฝากและหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น
- มีแนวโน้มสูงมากที่นโยบายลดภาษีที่เคยเกิดขึ้นสมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกจะได้รับการต่ออายุออกไป จากที่จะทยอยหมดอายุในปีหน้า เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ส่งผลบวกต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน
- ผลการเลือกตั้งแบบ Red Sweep เมื่อปี 2016 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ Outperform ตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นภาพเดียวกัน
- การปรับตัวของหุ้นในช่วง 1 เดือนแรกน่าจะคล้ายกับปี 2016 เช่น หุ้นกลุ่ม Cyclical น่าจะ Outperform เทียบกับกลุ่ม Defensive, หุ้นกลุ่ม Value น่าจะ Outperform เทียบกับกลุ่ม Growth, ดัชนี Dow Jones น่าจะ Outperform เทียบกับดัชนี Nasdaq และหุ้นขนาดเล็กน่าจะ Outperform เทียบกับหุ้นขนาดใหญ่
- คาดว่าหุ้นไทยจะแปรผันตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภาพรวม แต่ดัชนี SET น่าจะแข็งแกร่งกว่าไม่มากก็น้อยจากการที่อัตราผลตอบแทนของบอนด์ในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ Valuation ของหุ้นไทยยังน่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างประเทศ คาดว่า SET มีโอกาสยากมากที่จะหลุดระดับ 1,400 จุดในสิ้นปีนี้ โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, นิคมอุตสาหกรรม, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร, ไฟแนนซ์, ท่องเที่ยว และ REIT
- หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์ช่วงสั้นจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหุ้นอินเดียได้ประโยชน์จากการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นจีนจากความกังวลสงครามการค้า และหุ้นเวียดนามได้อานิสงส์จากความคาดหวังการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น
- ธีมการลงทุน Reflation Trade ในระดับโลกน่าสนใจ เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มน้ำมัน ตามนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ต้องรอให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ย่อลงหลังการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ
- ราคาทองคำมีโอกาสทรงตัวออกด้านข้างต่อจากนี้ โดยปัจจัยหนุนคือเป็นสินทรัพย์ช่วยป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อ แต่ก็ถูกกดดันด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และ Fed อาจชะลอการลดดอกเบี้ย
ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีท็อป 10 ของโลกส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น
Bloomberg รายงานว่า ความมั่งคั่งสุทธิของมหาเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
โดย อีลอน มัสก์ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด 10.1% เพิ่มขึ้น 2.65 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ รวมมั่งคั่งสุทธิ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น Tesla โดยรวมแล้วความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีทั้ง 10 รายเพิ่มขึ้น 6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 ล้านล้านบาทภายใน 1 วัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกจากข้อมูลของ Bloomberg Billionaires Index เป็นดังนี้
ภาพประกอบ: ยุทธพล ธไนศวรรย์
อ้างอิง: