ข้อสังเกตของประชาชนต่อ ‘แนวทางการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง’ ของกรมชลประทานว่ามีความพยายามที่จะปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงอย่างไร
เนื่องจาก ‘พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง’ เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและการเกษตรของประเทศไทย ผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้งย่อมส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
ที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีปัญหาเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หากเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากก็จะประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน “พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างถือเป็นพื้นที่ที่กรมชลประทานต้องเผชิญกับปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำที่ซับซ้อน ยกตัวอย่างน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาทั้ง 2 ระลอก น้ำลงเขื่อนภูมิพลทั้งหมด ไม่มาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แม่น้ำวังก็มีเขื่อนกิ่วลมกักเก็บน้ำ แม่น้ำน่านก็มีเขื่อนสิริกิติ์กักเก็บน้ำ ปัญหาก็มีแค่ลุ่มน้ำยมที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำด้านบน พอฝนตกที่แพร่ก็มาท่วมที่สุโขทัย แล้วมวลน้ำนี้ก็ไหลมาที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง”
ต้นเก็บไม่ไหวต้องปล่อยไหล
ประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างถูกวิธีคือด้านบนมีแหล่งกักเก็บน้ำพอหรือเปล่า? “ต้นน้ำต้องกักเก็บน้ำได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับเจ้าพระยาตอนล่าง มันเหมือนมี 4 แควมาบวกเป็นลำน้ำเดียว และน้ำทางภาคเหนือประกอบด้วยปิง วัง ยม น่าน ทั้งหมดต้องผ่านลำน้ำนี้ออกสู่อ่าวไทย ส่วนใหญ่ถ้าเขื่อนจัดเก็บได้ทั้งหมด ตอนกลางของท้ายเขื่อนก็ต้องมาบริหารจัดการน้ำฝนที่ตกในพื้นที่”
แต่ปัญหาอยู่ที่ ‘เส้นทางของน้ำ’ ถ้าน้ำเหนือมากกว่าศักยภาพในการกักเก็บจะเกิดปัญหาในการบริหารจัดการทันที “และทุกวันนี้ยังใช้ระบบชลประทานในการระบายน้ำอยู่”
“ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทเป็นตัวบริหารจัดการ หน่วง ระบาย แต่เขื่อนเจ้าพระยาไม่ใช่เขื่อนกักเก็บน้ำ มันทำหน้าที่หน่วงและทดน้ำเท่านั้น จึงต้องใช้ระบบชลประทานผันน้ำเข้าสู่ฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก เพื่อลดผลกระทบที่จะระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงไป”
แม้จะมีคลองชลประทานช่วยในการระบายน้ำแต่ก็มีข้อจำกัด “คลองชลประทานมีลักษณะคือต้นใหญ่ปลายเล็ก จึงไม่สามารถเอาเข้าเต็มศักยภาพได้ ถ้าปล่อยเต็มที่ก็จะไปท่วมในพื้นที่ ถ้ามองจากสถิติ 60 ปีของการระบายน้ำใต้เขื่อนเจ้าพระยามีเพียง 3 ปีที่ระบายน้อยกว่า 700 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที นี่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการท่วมซ้ำซาก”
Flood Way อาจเป็นทางออก?
ตลอดเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นี้อย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความสมดุลในการใช้น้ำ ด้วยหลักการบริหารน้ำคือ ‘ต้นกักเก็บน้ำ กลางหน่วงน้ำ ปลายระบายน้ำ’ แต่ท้ายที่สุดแล้ว การสร้าง Flood Way เพื่อผันน้ำเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด
“ถ้าเจาะเรื่องน้ำท่วม แนวทางคือทำอย่างไรให้ไม่ให้น้ำทั้ง 4 แควต้องผ่านลำน้ำสายเดียวเพื่อออกสู่อ่าวไทย นั่นหมายความว่าต้องพัฒนาเรื่อง Flood Way หรือทางระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำฝั่งตะวันออกหรือฝั่งตะวันตก ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบที่จะเกิดกับคนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นลักษณะของนโยบาย”
แต่ระหว่างนี้กรมชลประทานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเดินหน้าพัฒนาแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหา ทั้งการพัฒนาพื้นที่หน่วงน้ำหรือแก้มลิงให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
“ทุกวันนี้ใช้พื้นที่ชลประทานเป็นพื้นที่แก้มลิงตัดยอดน้ำก่อนที่จะผ่านไปกรุงเทพฯ แต่การใช้พื้นที่แก้มลิงก็ติดปัญหาด้านกฎหมาย จำเป็นต้องพัฒนาขอบเขตให้มีความชัดมากขึ้น อย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีแก้มลิงอยู่ประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชลประทาน แต่อำนาจบริหารจัดการเอาน้ำเข้าทุ่งหรือตัดยอดน้ำไปท่วมพื้นที่ทางด้านกฎหมายยังไม่ชัดเจนเท่าไร ควรกำหนดเป็นรูปของผังน้ำว่าพื้นที่ตรงนี้ระบายหรือพื้นที่น้ำขัง เพราะการปล่อยน้ำไปขังในพื้นที่ก็กระทบต่อจุดที่ท่วมเยอะแน่นอน”
ส่วนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งเศรษฐกิจ ได้แก่ ทุ่งเจ้าพระยา ทุ่งบางบาล ทุ่งเชียงราก ทุ่งผักไห่ ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งโพธิ์พระยา ทุ่งบางแก้ว ทุ่งบางเหี้ย และทุ่งพระยาบรรลือ เป็นพื้นที่รับน้ำนองเพื่อชะลอน้ำหลากและลดผลกระทบต่อพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการอยู่
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานในพื้นที่ ทั้งการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำเพื่อควบคุมการไหลของน้ำ หรือการพัฒนาระบบผันน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญก็เป็นสิ่งที่กรมชลประทานทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“เจ้าพระยาตอนล่างใช้อาคารบังคับน้ำช่วยในการระบายน้ำเข้าฝั่งตะวันตก ระบายมาตามคลองย่อยเส้นต่างๆ และระบายลงสู่ทะเล แต่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะตั้งแต่ปทุมธานีและนนทบุรีลงมา ตอนนี้มีปัญหาเรื่องพื้นที่ต่ำ เวลาฝนตกในพื้นที่ไม่สามารถจะออกแม่น้ำได้เอง จำเป็นต้องใช้สถานีสูบน้ำมาช่วย เครื่องสูบน้ำจะน็อกไม่ได้ กรุงเทพฯ อยู่ได้ด้วยเครื่องสูบน้ำ ในกรณีฝนตกหนัก นอกจากนั้นในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ริมคลองก็ต้องมีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด
“ในขณะที่อาคารชลประทานส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร จำเป็นต้องปรับปรุงอาคารให้เหมาะกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งกักเก็บน้ำต้นน้ำ บางที่ไม่มี อย่างที่เชียงราย น้ำจากแม่น้ำกกยังไงก็ต้องผ่านเชียงราย ถ้าน้ำเยอะวิ่งผ่านมันไม่รู้จะไปไหนก็ท่วม
“หลักการบริหารจัดการน้ำง่ายๆ คือน้ำต้องมีที่อยู่และมีที่ไป แต่ถึงจะมีที่ให้น้ำอยู่มันก็ล้นได้ และถ้าจัดเก็บไม่ดี พอถึงหน้าแล้งเกษตรกรไม่มีน้ำใช้อีก แนวทางแก้ปัญหาหน้าแล้งอาจต้องปรับปฏิทินการเพาะปลูก โดยวางแผนการปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสภาพภูมิอากาศ หรือใช้แนวทางส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง ประสานงานกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม
“กรมชลประทานเองก็ต้องพัฒนาระบบควบคุมน้ำเข้า-ออกในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำรองสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้ง”
ความรับผิดชอบร่วม
ท้ายที่สุดมองว่าจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ด้วยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนและจัดสรรน้ำ รวมไปถึงพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม-น้ำแล้ง และส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน
“ต้องอธิบายก่อนว่ากรมชลประทานมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันอุทกภัย แต่ไม่ได้มีภารกิจหลักในการแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยแก่ประชาชนโดยตรง แต่มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
“กรมชลประทานจะวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในระยะสั้นและระยะยาวโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์และข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา แล้วจึงจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน แจ้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เรามุ่งมั่นที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำและการป้องกันอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ตาม การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนก็ควรติดตามข้อมูลจากหลายแหล่ง และเตรียมพร้อมรับมือตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด