×

กระทรวงพาณิชย์คาดเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปี 67 ไม่เกิน 0.50% หลัง CPI เดือน ต.ค. สูงขึ้น 0.83% ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

06.11.2024
  • LOADING...
เงินเฟ้อไทย ต.ค.

อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนตุลาคมสูงขึ้น 0.83% เหตุอาหาร น้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายคือราคาแก๊สโซฮอล์ที่ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 0.50%

 

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.83% (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสูงขึ้น โดยเฉพาะผักสดและผลไม้สด ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น เนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปี 2566 ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากภาครัฐมากกว่าปี 2567

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายคือราคาแก๊สโซฮอล์ที่ปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567 ลดลง 0.06% (MoM) โดยปัจจัยหลักที่ทำให้โมเมนตัมแผ่วมากจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ทั้งนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงครองสัดส่วนราว 9.40% ของตะกร้าเงินเฟ้อไทย

 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.26% (AoA) นับว่ายังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอยู่ที่ 1-3%

 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.77% (YoY) ทรงตัวเท่ากับเดือนกันยายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.77% (YoY)

 

เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไทยระยะต่อไป

 

สำหรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยปี 2567 พูนพงษ์คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับค่ากลางที่ 0.50% และไม่น่าเกินกว่า 0.50%

 

ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในไตรมาส 4 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.12% สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 2567 กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนตุลาคม 2567

 

โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่

  1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566
  2. ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของภาครัฐในปี 2567 น้อยกว่าปี 2566
  3. สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว

 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่

  1. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2566 (เดือนพฤศจิกายน 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง 
  2. ราคาผักสดกลับเข้าสู่ระดับปกติ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวของอุทกภัยในบางพื้นที่สิ้นสุดลง 
  3. คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต่อเงินเฟ้อไทย พูนพงษ์กล่าวว่า ต้องรอดูผลลัพธ์อีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X