×

ณัฐวุฒิชี้ ปม MOU 44 เชื่อมโยงกับเกาะกูด เป็นแผนโจมตีทางการเมืองของฝ่ายขวาสุดขอบ สังคมไทยมีประสบการณ์แล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
05.11.2024
  • LOADING...
ณัฐวุฒิ เกาะกูด

วานนี้ (4 พฤศจิกายน) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการหยิบยกประเด็นต่างๆ มาโจมตีทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล 

 

ระบุว่า “อาวุธสำคัญที่พลังฝ่ายขวาสุดซึ่งพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งใช้โจมตีทางการเมืองต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาตลอดคือเรื่องสถาบัน ทุจริตคอร์รัปชันภายใต้ภูมิทัศน์คนดีคนชั่ว และอุดมการณ์ชาตินิยม

 

“ข้อกล่าวหาเรื่องสถาบันพุ่งเป้าใส่รัฐบาลไม่ง่ายเหมือนก่อน คอร์รัปชันก็ทำอะไร 1 ปีของรัฐบาลเศรษฐาไม่ได้ ยิ่งรัฐบาลแพทองธารเพิ่งทำงานไม่ถึง 2 เดือนจะว่าร้ายเรื่องนี้ก็ห่างไกล

 

“วาระนี้จึงเป็นเรื่องชาตินิยม ใช้กรณี MOU 44 เชื่อมโยงกับ เกาะกูด สร้างแรงกดดันหลายมิติ บางกลุ่มนัดชุมนุมขับไล่ ทั้งที่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ทำไว้ เรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนก็ยังไม่มีการเจรจากันแม้แต่คำเดียว

 

“เทียบเคียงกับการทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารที่ใช้โจมตีรัฐบาลสมัครข้อหาขายชาติโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งประกอบด้วยคนกลุ่มเดียวกันหลายคนที่กำลังปั่นกระแส เกาะกูด อยู่ขณะนี้

 

“วันนั้นทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งไทยแพ้คดีในศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 วันนี้ปกป้องเกาะกูดทั้งที่เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราดมาหลายสิบปี โดยไม่เคยมีประเทศใดทักท้วงทวงสิทธิ์

 

“วันนั้นเรียกร้องให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) วันนี้ให้ยกเลิก MOU 44 วันนั้นปลุกกันจนมีคนเดินขบวนเกิดปะทะกับคนในพื้นที่ บานปลายต่อเนื่องถึงขั้นทหารทั้ง 2 ฝ่ายเปิดฉากยิงใส่กัน มีการบาดเจ็บสูญเสีย ถือเป็นการปะทะกันครั้งล่าสุดระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน

 

“ถึงที่สุดเรื่องกลับศาลโลก ปี 2556 ศาลชี้ว่าตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา ปี 2558 ศาลฎีกาชี้ว่าการดำเนินการของ นพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ขณะนั้น (ซึ่งถูกฝ่ายต่อต้านฟ้อง) ไม่มีความผิด ประเทศไทยได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ไม่มีคนรับผิดชอบ ไม่มีใครพูดถึงแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) นั้นอีก หรือไม่มีใครสรุปบทเรียนจากเรื่องนี้?

 

“วันนี้ MOU 44 ซึ่งทั้งกระทรวงการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคงยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของอีกฝ่าย จะถูกใช้เป็นเครื่องมือปั่นกระแสไปถึงไหน

 

“อาเซียนกำลังเนื้อหอม สิ่งที่โลกอยากรู้และต้องการเห็นคือ 2 ประเทศจะบรรลุข้อตกลง นำทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลมูลค่ามหาศาลกว่า 10 ล้านล้านบาทมาใช้ประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่พิพาทสู้รบชิงดินแดน เพิ่มอุณหภูมิในภูมิรัฐศาสตร์ ทำลายบรรยากาศและความเชื่อมั่นในภูมิภาค

 

“ผมเชื่อว่าสังคมไทยมีประสบการณ์ อ่านขาดว่าเรื่องนี้คือการเมืองของฝ่ายขวาสุดขอบ ซึ่งรัฐบาลยังต้องรับมืออีกหลายขนาน”

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising