รัฐบาลไทยประกาศออก ‘บอนด์ส่งเสริมความยั่งยืน’ หรือ Sustainability-Linked Bond เป็นประเทศที่ 3 ของโลก วงเงิน 1.3 แสนล้านบาท ต่อจากชิลีและอุรุกวัย ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
วันนี้ (4 พฤศจิกายน) พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน. ออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond หรือ SLB) ครั้งแรกของรัฐบาลไทย อายุ 15 ปี วงเงิน 1.3 แสนล้านบาททั้งปีงบประมาณ แบ่งเป็นรอบละ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยจะออกรอบแรกในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567
ขณะที่ จินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่ออก Sustainability-Linked Bond ต่อจากชิลีและอุรุกวัย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) พชรคาดว่าจะไม่ต่างจากพันธบัตรระยะยาวที่มีอายุใกล้เคียงกัน โดย สบน. จะดำเนินการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) หรือจัดเสนออัตราดอกเบี้ยโดยนักลงทุนในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567
พชรกล่าวต่ออีกว่า จาก Roadshow วันนี้พบว่ามีสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทประกันชีวิตและสหกรณ์ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาลง ทำให้พันธบัตรลักษณะนี้มีความน่าสนใจในระยะยาวอย่างมาก นอกจากนี้ สบน. ยังเตรียมไป Roadshow ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ด้วยในสัปดาห์หน้า
สำหรับความน่าสนใจของ SLB ของรัฐบาลไทยคือ การกำหนดตัวชี้วัด (KPIs) และเป้าหมายการดำเนินงาน (SPTs) ไว้ โดยหากรัฐบาลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ก็จะมีการจ่ายดอกเบี้ยพิเศษเพิ่มเติม
สำหรับตัวชี้วัด (KPIs) และเป้าหมายการดำเนินงาน (SPTs) มี 2 ประการ ดังนี้
- ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้) ลง 30% จากค่า Business As Usual (BAU) หรือไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี 2573
- เพิ่มปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles: ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pickup Trucks) ไม่ต่ำกว่า 440,000 คันในปี 2573
โดยในกรณีที่แต่ละตัวชี้วัดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% หรือในกรณีที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025% กล่าวคือมีอัตราปรับขึ้นและปรับลดสูงสุด (Maximum) อยู่ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) จากทั้งสองตัวชี้วัด
พชรยืนยันว่า “เพื่อให้คุณสมบัติของพันธบัตรดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล สบน. ได้จัดทำกรอบการระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond Financing Framework) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) โดยได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้ความเห็นอิสระระดับสากล (Second Party Opinion) ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกรอบการดำเนินงานของ สบน.”