อย่ากลับบ้าน นับเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่น่าสนใจที่สุดจากโปรเจกต์ทีไทย ทีมันส์ ปี 2 ทั้งจากการร่วมงานครั้งแรกของ นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี กับ Netflix และยังได้ทีมผู้สร้างอย่าง วุฒิดนัย อินทรเกษตร ที่มาจากสายโฆษณา, อมราพร แผ่นดินทอง มือเขียนบทผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์อย่าง Analog Squad และ สาธุ โดยจะเล่าผ่านตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิงทั้งหมด ส่วนตัวอย่างซีรีส์ก็มีเนื้อหาน้อยนิดจนคนดูคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าจะเล่าเรื่องผี เรื่องฆาตกรรม หรือการสืบสวนสอบสวน เอาเข้าจริงๆ อย่ากลับบ้าน ก็รวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน แถมยังพาคนดูนั่งรถไฟเหาะตีลังกาแบบไม่คิดว่าจะพามาไกลขนาดนี้
อย่ากลับบ้าน เริ่มต้นเมื่อ วารี (นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี) ตัดสินใจพา มิน (เจแปน-พลอยปภัส ฝนแก้วศิวพร) หนีจาก ยุทธชัย (ตุ้ย-ธีรภัทร์ สัจจกุล) สามีนายทหารยศใหญ่กลับไปยัง ‘บ้านจารึกอนันต์ 2475’ บ้านเก่าของครอบครัวที่เธอเคยอาศัยอยู่เมื่อ 30 ปีก่อน ทั้งที่ พนิดา (ซินดี้-สิรินยา บิชอพ) กำชับไว้ก่อนตายว่าอย่ากลับไปที่นั่นอีกเด็ดขาด
เมื่อไปถึง 2 แม่ลูกต้องเจอกับเหตุการณ์ประหลาดที่หาคำอธิบายไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งมินหายตัวไปอย่างลึกลับ ทำให้ ฟ้า (แพร-พิชชาภา พันธุมจินดา) ตำรวจหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ได้เข้ามาสืบสวนคดีการหายตัวไปของเด็กหญิง ซึ่งในระหว่างที่พยายามรวบรวมเบาะแส หลักฐานต่างๆ ก็ชี้ให้เธอสงสัยว่าบ้านเก่าแก่หลังนี้มีความลับหลายอย่างซ่อนอยู่
บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์
ความระทึกขวัญของเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในตัวอย่างซีรีส์ก็ชวนให้คิดว่าเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องผีแน่นอน แต่ อย่ากลับบ้าน คือการสะท้อนชีวิตผู้หญิงหลายรูปแบบในโลกของผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นวารีที่ต้องพาลูกหนีจากความรุนแรงในครอบครัวไปยังสถานที่ที่แม่กำชับนักหนาว่าอย่ากลับไป หรือฟ้า ตำรวจหญิงที่เก่งทุกอย่าง แต่ต้องตกม้าตายด้วยการเป็นเมียน้อยของเจ้านาย และพนิดาที่ประสบความสำเร็จเรื่องหน้าที่การงาน แต่ก็บกพร่องในบทบาทความเป็นแม่ โดยแต่ละตัวละครถูกเล่าผ่านฌอง (Genre) หรือประเภทซีรีส์แตกต่างกันไป เรียกได้ว่าเสี่ยงมากที่จะพาคนดูออกทะเล แต่ก็ได้ธีมหลักและโทนการเล่าเรื่องให้ไปในทิศทางเดียวกัน
อย่ากลับบ้าน ในพาร์ตแรกใช้การเล่าเรื่องในบรรยากาศของหนังผี โดยคนดูได้เห็นการปรากฏตัวของวิญญาณและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติต่างๆ พร้อมๆ กับการกระจายปมผ่านชีวิตวารีที่มีอาการชวนสงสัยว่าเรื่องราวทั้งหมดหรือแม้แต่ตัวลูกสาวจริงๆ แล้วมีอยู่แค่ในจินตนาการของเธอหรือไม่ และมีความเป็นไปได้ว่าการหายตัวไปของมินก็อาจเป็นฝีมือของวารีเอง ลามไปถึงตัวสามีว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดหรือเปล่า
ในขณะที่ฟ้าเข้ามาในพาร์ตสืบสวนสอบสวนและการเล่าเรื่องชวนดราม่าว่าใครคือพ่อของลูกในท้อง การต้องยอมมีความสัมพันธ์แบบหลบๆ ซ่อนๆ กับเจ้านายตัวเอง แม้จะไม่มีฉากความรุนแรงทางร่างกายแต่ก็มีความรุนแรงทางใจ อย่างเช่นในฉากที่เธอไปตามสืบเรื่องสามีของวารีและได้เห็นผู้ชายของเธอไปกับผู้หญิงอื่น รวมถึงความสัมพันธ์ของฟ้ากับพ่อซึ่งพอจะบอกได้ว่าฟ้าเองก็เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นแม่
ส่วนตอนกลางเรื่อง ซีรีส์พาคนดูตีลังกาด้วยการข้ามฌองเข้าสู่ซีรีส์แนวไซไฟด้วยการเดินทางย้อนเวลาของวารีเพื่อไขปมต่างๆ ซึ่งทำให้เธอได้พบกับแม่ผู้เก็บเธอมาเลี้ยง และย้อนให้เห็นชีวิตก่อนหน้านั้นของพนิดาว่าเคยเจ็บปวดกับความคาดหวังของสังคมต่อบทบาทของผู้หญิง เธอคือผู้หญิงทำงานที่เก่งรอบด้านยกเว้นการเป็นแม่ ลึกๆ แล้วเธอไม่อยากมีลูกด้วยซ้ำ แต่เมื่อเสียลูกไป การได้เจอมินจึงเป็นเหมือนโอกาสไถ่บาปจนต้องทำทุกทางเพื่อไม่ให้เสียมินไป
แม้ทั้ง 3 ตัวละครจะมีบุคลิกต่างกัน แต่จุดร่วมคือความเป็นแม่และอยู่ในชะตากรรมที่ผู้หญิงต้องเจอ เมื่อผนวกกับธีมย้อนเวลาก็เหมือนการฉายภาพเดิมๆ วนซ้ำๆ โดยไม่มีใครรับรู้ เหมือนวิญญาณของวารีที่ยังวนเวียนอยู่ที่บ้านจารึกอนันต์ พยายามบอกให้ตัวเองอย่ากลับมาที่บ้านหลังนี้อีก แต่ก็ทำได้แค่ปรากฏตัวแว่บไปมาแบบที่คนดูได้เห็นตอนต้นเรื่อง
อีกประเด็นที่ อย่ากลับบ้าน พูดถึงคือภาวะชายเป็นพิษ หรือ Toxic Masculinity ผ่านตัวละครชายอย่างยุทธชัยที่มีหน้ามีตาในสังคม แต่ก็ใช้ทั้งอำนาจและความรุนแรงกับวารีจนต้องหนีออกมา หรือท่านผู้กำกับ (ไผ่-พาทิศ พิสิฐกุล) ผู้มีแต่ความเห็นแก่ตัว และพ่อของฟ้า อดีตนายตำรวจที่เห็นเมียเป็นกระสอบทราย ความน่าสนใจคือทั้งหมดทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐผู้ต้องดูแลประชาชน เมื่อรวมกับรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องก็แตกประเด็นให้คิดในมุมทางการเมืองได้ด้วย
เริ่มตั้งแต่ชื่อบ้านจารึกอนันต์ 2475 ตามปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย ส่วนมินและวารีก็ย้อนเวลากลับไปในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 หรือในตอนที่วารีได้เจอกับยุทธชัยก็คือช่วงการทำรัฐประหารปี 2557 รวมทั้งเหตุการณ์ในเรื่องก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ทำให้นึกถึงกรณีคนหายเดือนตุลา ฯลฯ เรียกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในชีวิตของวารีล้วนผูกติดกับความพลิกผันทางการเมือง ส่วนชะตากรรมที่ได้รับทั้งความรุนแรงและการใช้อำนาจของสามีก็ไม่ต่างจากที่ประชาชนต้องได้รับ แม้แต่วิญญาณที่เวียนว่ายอยู่ในบ้านจารึกอนันต์ก็ชวนให้คิดถึงเหล่าผู้เรียกร้องความยุติธรรมที่ส่งเสียงเท่าไรก็ไม่มีใครได้ยิน
“มึงไม่ได้อยากปกป้อง มึงอยากมีอำนาจ มึงอยากปกครอง” ฟ้าระเบิดอารมณ์ออกมาในช่วงท้ายเรื่อง สะท้อนได้ทั้งในมุมมองความเป็นชายและนัยทางการเมืองที่ซีรีส์เรื่องนี้ต้องการสื่อ
ทางด้านการแสดง ตัวละครหลักอย่างนุ่น วรนุช ในบทบาทวารียังมีอินเนอร์ความเป็นละครไทยไปหน่อยจนเล่นใหญ่ไปในหลายๆ ฉาก ส่วนคนที่น่าชื่นชมคือแพร พิชชาภา ซึ่งทำออกมาอย่างพอดิบพอดี เล่นลึกทั้งสีหน้า แววตา และบุคลิกท่าทาง จนลืมบทนางร้ายในละครจากผลงานเก่าๆ ของเธอเลยทีเดียว
แม้จะมีประเด็นหนักๆ สอดแทรกอยู่ในเรื่องมากมาย อย่ากลับบ้าน ก็มีครบทุกอย่างที่ซีรีส์แนวลึกลับสนุกๆ สักเรื่องต้องมี เพียงแต่ใช้วิธีการเล่าเรื่องและฝึกคนดูให้เก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ ให้คนดูได้คิดวิเคราะห์กันเอง เอาเข้าจริงวิธีหักมุมตัวละครตัวเดียวกันที่อยู่คนละช่วงเวลาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับ อย่ากลับบ้าน สิ่งนี้ได้รับใช้ประเด็นหลักของเรื่องได้อย่างดี เป็นอีกหนึ่งซีรีส์พันธุ์ไทยที่อยากเชียร์ให้ประสบความสำเร็จในระดับโลก