วันนี้ (2 พฤศจิกายน) เวลา 09.00 น. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่าบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง
ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2567 แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม
ภาคกลาง 1 จังหวัด
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอทับสะแก, บางสะพาน, บางสะพานน้อย)
ภาคใต้ 10 จังหวัด
- จังหวัดชุมพร (อำเภอเมืองชุมพร, สวี, ทุ่งตะโก, หลังสวน และพะโต๊ะ)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี, กาญจนดิษฐ์, พนม, บ้านนาสาร, บ้านนาเดิม, พุนพิน, เคียนซา, พระแสง, ดอนสัก และเกาะสมุย)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, ปากพนัง, เฉลิมพระเกียรติ, พระพรหม, ร่อนพิบูลย์, จุฬาภรณ์, ขนอม, ทุ่งสง, สิชล, นบพิตำ, ท่าศาลา, พรหมคีรี, ลานสกา, เชียรใหญ่, ชะอวด และหัวไทร)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง และอำเภอควนขนุน)
- สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา, กระแสสินธุ์, ระโนด, นาทวี, สิงหนคร, หาดใหญ่ และรัตภูมิ)
- จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง, กระบุรี, ละอุ่น, กะเปอร์ และสุขสำราญ)
- จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง)
- จังหวัดภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่, เหนือคลอง และคลองท่อม)
- จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง, ย่านตาขาว, ห้วยยอด, นาโยง และวังวิเศษ)
ทั้งนี้ พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณจังหวัดระนอง, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่าง และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองบางสะพาน, คลองชุมพร, แม่น้ำหลังสวน, แม่น้ำตาปี, คลองชะอวด, คลองลำ, คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงประสานแจ้ง 11 จังหวัดในภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มได้
ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตกและถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด
พร้อมทั้งกำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด