×

เปิดแผนฝ่าวิกฤตฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพฯ ถอดบทเรียนจากสถิติ 1 ปีมีผู้ป่วยเพราะฝุ่นพิษมากกว่า 2,000 ราย

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2024
  • LOADING...
PM2.5

ในปีงบประมาณ 2567 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สรุปรายงานยอดผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในคลินิกมลพิษทางอากาศของโรงพยาบาลในสังกัด รวมแล้วมีจำนวน 2,784 ราย โดยเขตที่มีผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 คือ เขตบางขุนเทียน 270 ราย และเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์มีผู้ขอเข้ารับการรักษาถึง 689 ราย

 

THE STANDARD ชวนศึกษามาตรการของกรุงเทพมหานครที่เตรียมไว้รับมือกับฝุ่น PM2.5 ในระลอกใหม่ที่กำลังจะมาถึงไม่นานจากนี้

 

ฤดูหนาว ประตูต้อนรับฤดูฝุ่น

 

หลังผ่านพ้นฤดูฝนก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว นอกจากความเย็นที่ตัวของเราเริ่มสัมผัสได้ สิ่งหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ทันทีคือท้องฟ้าในระยะสายตา และทัศนียภาพของอาคารตึกสูงที่มองได้ไม่ชัดเจนในบางวัน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเรากำลังเข้าฤดูฝุ่น

 

กรมควบคุมมลพิษอธิบายถึงสาเหตุที่ฤดูหนาวมาพร้อมกับฤดูฝุ่น ว่าเป็นเพราะช่วงหน้าหนาวมีความกดอากาศสูงโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน พื้นดินเกิดการคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินเย็นตามไปด้วย ส่งผลให้อากาศที่เคยร้อนลอยขึ้นไปคั่นอยู่ระหว่างอากาศเย็น

 

หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ทำให้อากาศไม่สามารถลอยตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ ลักษณะคล้ายโดมครอบไว้ จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในบรรยากาศ ประกอบกับการไหลเวียนและการถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูง

 

ซึ่งฝุ่น PM2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron ที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กจิ๋วขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หลายสถาบันวิจัยวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ทั้งจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะและการเผาวัสดุต่างๆ แต่ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงพลังงานพบว่า สาเหตุของ PM2.5 ในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่ง

 

โดยช่วงการเกิด PM2.5 ในประเทศไทย มีดังนี้

 

  • ภาคกลาง-กรุงเทพฯ-ปริมณฑล: เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเดือนมกราคม-มีนาคม
  • ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: เดือนมกราคม-พฤษภาคม
  • ภาคใต้: เดือนกรกฎาคม-กันยายน

 

2,784 ราย ยอดผู้ป่วยในปีงบประมาณที่ผ่านมา

 

สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการในคลินิกมลพิษทางอากาศ ประจำปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – เดือนกันยายน 2567)

 

ปี 2566

 

  • เดือนตุลาคม 106 ราย
  • เดือนพฤศจิกายน 151 ราย
  • เดือนธันวาคม 25 ราย

 

ปี 2567

 

  • เดือนมกราคม 334 ราย
  • เดือนกุมภาพันธ์ 689 ราย
  • เดือนมีนาคม 289 ราย
  • เดือนเมษายน 321 ราย
  • เดือนพฤษภาคม 221 ราย
  • เดือนมิถุนายน 128 ราย
  • เดือนกรกฎาคม 170 ราย
  • เดือนสิงหาคม 196 ราย
  • เดือนกันยายน 154 ราย

 

รวมทั้งสิ้น 2,784 ราย

 

เมื่อแบ่งตามเขต 10 อันดับที่มีผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์มากที่สุด มีดังนี้

 

  1. เขตบางขุนเทียน 270 ราย
  2. เขตลาดกระบัง 257 ราย
  3. เขตหนองแขม 233 ราย
  4. เขตหนองจอก 227 ราย
  5. เขตบางนา 161 ราย
  6. เขตบางคอแหลม 116 ราย
  7. เขตบางแค 90 ราย
  8. เขตจอมทอง 70 ราย
  9. เขตยานนาวา 69 ราย
  10. เขตคลองสาน 53 ราย

 

นโยบายเรือธงเพื่อลดฝุ่นช่วงปลายปี 2567 – ต้นปี 2568

 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา กทม. จัดการประชุมและแถลงข่าวเพื่อสื่อสารมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 โดยมุ่งเน้นไปที่ ‘มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ Bangkok Low Emission Zone’

 

ซึ่งกรุงเทพมหานครเตรียมออกประกาศ เรื่อง ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ว่าฯ จะใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

 

ประกาศนี้จะใช้รองรับสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อมีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูงเกินมาตรฐาน คือมากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเข้าเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ (ระดับสีแดง) คือค่าฝุ่น 75.1 มคก./ลบ.ม.

 

มีเป้าหมายมุ่งไปที่รถบรรทุกดีเซล 106,578 คัน (ยกเว้น EV, NGV, Euro5 และ Euro6) ห้ามเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษ และลดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

 

การจะใช้ประกาศดังกล่าว สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ คือ

 

  1. ในวันดังกล่าวค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต

 

  1. การพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน
    • ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต
    • อัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที
    • ทิศทางมาจากทิศตะวันออก

 

ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขทั้งหมด กทม. จึงจะออกประกาศเรื่องห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก โดยจะประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดไปของประกาศ

 

เช่น กทม. ออกประกาศในวันจันทร์ เวลา 06.00 น. รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้ตั้งแต่วันอังคาร เวลา 06.00 น. จนถึงวันพฤหัสบดี เวลา 06.00 น. ทั้งนี้ หากค่าฝุ่นละอองเพิ่มอย่างต่อเนื่อง กทม. จะพิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม

 

สำหรับพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้จำนวน 9 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต, เขตพญาไท, เขตพระนคร, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตสัมพันธวงศ์, เขตคลองสาน, เขตสาทร, เขตปทุมวัน, เขตบางรัก และแนวถนนต่างๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง), เขตจตุจักร (จตุจักร / ลาดยาว / จันทรเกษม / จอมพล), เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง / สามเสนนอก / บางกะปิ), เขตดินแดง (ดินแดง / รัชดาภิเษก), เขตราชเทวี (มักกะสัน), เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ), เขตคลองเตย (คลองเตย), เขตยานนาวา (ช่องนนทรี / บางโพงพาง), เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม / บางโคล่), เขตธนบุรี (ดาวคะนอง / สำเหร่ / บุคคโล / ตลาดพลู), เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ), เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์ / อรุณอมรินทร์ / บางขุนศรี / บ้านช่างหล่อ / ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด / บางบำหรุ / บางอ้อ / บางยี่ขัน)

 

เดินหน้าสิ่งที่เคยทำ ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เพื่อรับมือฝุ่น

 

  • โครงการ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’

 

ซึ่งเป็นโครงการที่ กทม. ตั้งเป้าหมายให้รถยนต์สาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคลต้องผ่านการตรวจสภาพ เปลี่ยนไส้กรองอากาศและน้ำมันเครื่องเพื่อลดการปล่อยมลพิษ โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้าร่วมคือโปรโมชันตรวจสภาพรถที่พิเศษกว่าปกติ และสิทธิพิเศษจากห้างร้านที่มอบให้รถยนต์ที่ผ่านการตรวจจนได้สติกเกอร์ ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’

 

จากข้อมูลปี 2567 ช่วงวันที่ 18 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 กทม. วางเป้าหมายว่าจะต้องมี ‘รถคันนี้ลดฝุ่น’ ไว้ที่ 300,000 คัน ณ ขณะนั้นมีรถเข้าร่วมโครงการคิดเป็นร้อยละ 88 สามารถลด PM2.5 จากภาคการจราจรร้อยละ 13.26 ซึ่งในปี 2568 กทม. ตั้งเป้าให้เดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568 มีรถยนต์เข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้ได้ถึง 500,000 คัน

 

  • ห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร

 

โดยสำนักการศึกษา วางแผนจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Air Shelter) ตามแนวทาง ‘คู่มือแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พ.ศ. 2563’ ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำหรับกลุ่มเด็กอนุบาลอายุประมาณ 4-6 ปี (อนุบาล 1 – อนุบาล 2)

 

มีแนวทางการดำเนินการคือ การปรับปรุงห้องระบบเปิดให้เป็นระบบปิดด้วยการกรุช่องด้วยอะคริลิกใสและยาแนวซิลิโคน พร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบแขวนระบบอินเวอร์เตอร์ พร้อมพัดลมระบายอากาศ

 

ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 กลุ่มเขต ได้แก่

 

  • กลุ่มกรุงเทพฯ กลาง จำนวน 49 ห้อง
  • กลุ่มกรุงเทพฯ เหนือ จำนวน 126 ห้อง
  • กลุ่มกรุงเทพฯ ใต้ จำนวน 29 ห้อง
  • กลุ่มกรุงเทพฯ ตะวันออก จำนวน 437 ห้อง
  • กลุ่มกรุงธนเหนือ จำนวน 140 ห้อง
  • กลุ่มกรุงธนใต้ จำนวน 214 ห้อง

 

สถานะตอนนี้ของโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2567 มีการประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ TOR

 

นอกเหนือจากห้องเรียนปลอดฝุ่น กทม. กำหนดให้โรงเรียนในสังกัดติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศทางเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK อย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมการแสดงธงคุณภาพอากาศ ดังนี้

 

  1. ค่า PM2.5 ระหว่าง 0-15.0 มคก./ลบ.ม. ติดธงสีฟ้า หมายถึง คุณภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ตามปกติ

 

  1. ค่า PM2.5 ระหว่าง 15.1-25.0 มคก./ลบ.ม. ติดธงสีเขียว หมายถึง คุณภาพอากาศดี ทำกิจกรรมได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก

 

  1. ค่า PM2.5 ระหว่าง 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. ติดธงสีเหลือง หมายถึง คุณภาพอากาศปานกลาง ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร และลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก

 

  1. ค่า PM2.5 ระหว่าง 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม. ติดธงสีส้ม หมายถึง คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร และลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก

 

หากสถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อนักเรียน ให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ดังนี้

 

  • ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน
  • ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

 

  1. ค่า PM2.5 มากกว่า 75.1 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป ติดธงสีแดง หมายถึง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งสวมอุปกรณ์ป้องกัน PM2.5 ทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีโรคประจำตัวให้อยู่ในห้องที่ปลอดภัย

 

หากสถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ดังนี้

 

  • ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ครั้งละไม่เกิน 15 วัน เมื่อฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าสูงเกิน 2-5 เขต
  • ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อำนาจไม่จำกัดระยะเวลา เมื่อฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าสูงเกินมากกว่า 5 เขต

 

หากมีการหยุดเรียนให้ทางโรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชย หรือจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ทดแทน นอกจากนั้นยังให้โรงเรียนมีพื้นที่ Safe Zone สำหรับนักเรียนกลุ่มเปราะบาง และให้สื่อสารกับนักเรียนและผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นละออง PM2.5 ในชีวิตประจำวัน

 

แผนบริหารจัดการฝุ่น ‘ระยะวิกฤต’

 

ซึ่งเป็นแผนจัดการฝุ่นที่มีค่าฝุ่นตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. มีรายละเอียด ดังนี้

 

ค่าฝุ่น 37.6-75 มคก./ลบ.ม.

 

  • กทม. ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ
  • แจ้งเตือนประชาชนถึงระดับค่าฝุ่น 3 ครั้ง/วัน
  • ตรวจควันดำ บริเวณท่าเรือคลองเตยและนิคมอุตสาหกรรม 3 วัน/สัปดาห์
  • สั่งห้ามจอดรถสายหลักและสายรอง
  • ขอความร่วมมืองดจุดธูปเทียนตามวัดและศาลเจ้า
  • สั่งห้ามเผาในที่โล่ง

 

ค่าฝุ่น 75.1 มคก./ลบ.ม.

เพิ่มมาตรการจากค่าฝุ่น 37.6-75 มคก./ลบ.ม.

 

  • ประกาศพื้นที่ควบคุม
  • หยุดการก่อสร้าง
  • งดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย
  • ให้บริษัท สำนักงาน และห้างร้านในเครือข่าย 100 แห่ง Work from Home
  • ทำฝนหลวง

 

อ้างอิง:

  • กรุงเทพมหานคร
  • กรมควบคุมมลพิษ
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising