×

มองข้ามช็อตเลือกตั้งสหรัฐฯ ปั้นพอร์ตเติบโตยั่งยืน

30.10.2024
  • LOADING...

ใกล้เข้ามาแล้ว! ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 กับการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ที่จะรู้ผลการเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้

 

ศึกเลือกตั้งที่ห้ำหั่นกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ชวนให้นักลงทุนหลายคนต้องลุ้นตามกันว่าใครจะชนะในเกม ‘การเลือกตั้ง’ ครั้งนี้!

 

คำถามยอดฮิตที่ตามมาในช่วงนี้คือ หากพรรคหนึ่งพรรคใดได้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร? อุตสาหกรรมไหนจะได้ประโยชน์? และจะจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี 

 

มาฟังคำตอบกันครับ ผมจะพาคุณไปเจาะลึกสถิติตลาดหุ้นก่อนและหลังการเลือกตั้งในอดีต และวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดหุ้นในอนาคต พร้อมเผยเคล็ดลับการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนทุกระดับ

 

เปิดสถิติ 100 ปีหุ้นสหรัฐฯ หลังเลือกตั้ง…ไปต่อไหวแค่ไหน! 

 

โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว

 

ศึกการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในรอบนี้นับเป็นการแข่งขันที่มีความคู่คี่สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริการะหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับ คามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ภายหลังการถอนตัวของ โจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่มีปัญหาด้านอายุและสุขภาพ

 

ในช่วงหลังๆ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะมีประเด็นปัญหาใหญ่ที่ชาวอเมริกันให้ความสำคัญและความสนใจ เป็นปัญหาภายในประเทศที่สำคัญๆ ประกอบด้วยภาษี, การว่างงาน, อาวุธปืน, การทำแท้ง, ผู้อพยพ และการประกันสุขภาพ 

 

ส่วนหนึ่งของประเด็นเหล่านี้ก็จะเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีความขัดแย้งกันอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่ปี 2010 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นประเด็นที่นำมาสู่วาระนโยบายใหญ่ของทั้งสองพรรค เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี 

 

ทั้งสองพรรคจะชูนโยบายแตกต่างกัน เพราะเน้นตอบโจทย์ไปคนละกลุ่มเป้าหมาย โดยพรรครีพับลิกันจะเน้นไปทางฝั่งนายทุน แนวนโยบายจะออกมารูปแบบกระตุ้นการลดภาษีนิติบุคคลและสนับสนุนการลงทุนภาคธุรกิจใหญ่ๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมัน และอุตสาหกรรมพลังงาน

 

ถ้าเป็นพรรคเดโมแครตจะออกนโยบายที่ตอบโจทย์กลุ่มประชาชนทั่วไปหรือกลุ่มรากหญ้า คนทำงานมนุษย์เงินเดือน จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ, ชูการใช้จ่าย, การขึ้นค่าแรง และประกันสุขภาพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

 

เพราะฉะนั้นนโยบายของสองพรรคนี้จึงมีความแตกต่างกัน 

 

ทำไมนักลงทุนทั่วโลกถึงให้น้ำหนักปัจจัยการเลือกตั้งสหรัฐฯ ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นน่ะหรือครับ ผมขอตอบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นแบบนี้ครับ 

 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจสูงสุดของโลก การได้ผู้นำคนใหม่ก็อาจมีผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ใช่กระทบแค่คนอเมริกัน แต่อาจกระทบไปถึงคนทั้งโลก เพราะฉะนั้นไม่ว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม ย่อมจะต้องไปกระทบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสินทรัพย์ของประเทศที่เราเข้าไปลงทุนด้วย 

 

คุณเชื่อไหมครับว่าจริงๆ แล้วปัจจัยการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นมากกว่าครับ นั่นก็เพราะว่านโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้นการเก็งกำไรระยะสั้นอาจมีผลกระทบครับ 

 

แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว มุมมองของนักลงทุนสาย VI ระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ลงทุนมาตลอดชีวิตเคยกล่าวไว้ว่า “I don’t try and guess when to get in and out of the market.” ความหมายของปู่บัฟเฟตต์คือ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะออกมาเป็นอย่างไรหรือพรรคไหนจะได้ปู่บัฟเฟตต์ไม่ได้สนใจมากนัก แต่จะยังซื้อหุ้นที่อยากซื้อ แม้จะเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งก็ยังคงซื้อ หรือจบการเลือกตั้งไปแล้วก็ยังซื้อหุ้นอยู่ดี เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วถึงอย่างไรเศรษฐกิจอเมริกาก็ต้องเติบโตต่อไปในระยะยาว แม้ว่าอาจจะมีบางปีที่เศรษฐกิจถดถอยลงบ้างก็ตาม

 

ถ้าเราไปดูสถิติในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอเมริกาในปีที่มีการเลือกตั้งเป็นอย่างไรกันแน่

 

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีผู้นำประเทศจำนวนมาก เพราะทุก 4 ปีจะมีการเลือกตั้ง จนถึงปี 2016 เป็นปีสุดท้ายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกันในสมัยนั้น (ไม่นับรวม โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ยังไม่หมดวาระ) สหรัฐฯ มีการเลือกตั้งแล้วกว่า 20 ครั้ง พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1928-​2016 ดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนโดยรวมเฉลี่ยปีละ 11.28% จากการเลือกตั้งทั้งหมด 23 ครั้งนับตั้งแต่ S&P 500 เริ่มก่อตั้ง โดยผลตอบแทนเป็นบวก 19 ครั้ง คิดเป็น 83% ของทั้งหมด ซึ่งก็ค่อนข้างจะล้อไปกับที่เคยบอกว่า ในช่วงเวลาทุกๆ 10 ปีจะมี 7-8 ปีที่ตลาดปรับขึ้น และปรับลงประมาณ 2-3 ปี เพราะฉะนั้นไม่ว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้งก็ไม่ค่อยส่งผลมากนัก โดยเฉพาะในปีที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ส่วนมากตลาดหุ้นจะเป็นบวกมากกว่าครับ

 

ขณะที่ข้อมูลสถิติในปีที่มีการเลือกตั้ง หากเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 15.30% ส่วนประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.60% ต่อปี 

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ออกมาแตกต่างกันมาก เนื่องมาจากปี 2008 เป็นช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในอเมริกา ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ทำให้ติดลบมากที่สุดประมาณ 33% ซึ่งวิกฤตดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช บริหารประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อ บารัก โอบามา เข้ามานั่งประธานาธิบดีรับช่วงต่อในสมัยนั้น จึงเรียกว่าเข้ามารับเผือกร้อนนี้ ทำให้ภาพรวมผลตอบแทนของตลาดหุ้นในช่วงที่พรรคเดโมแครตถูกฉุดลงต่ำ แต่หากดูภาพรวมในปีที่ตลาดหุ้นติดลบ ผลตอบแทนจะติดลบเฉลี่ยเพียงไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ และหากตัดช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ออกไปแล้วก็พบว่าผลตอบแทนของทั้งสองพรรคจะไม่ต่างกันมากขนาดนั้นครับ 

 

แต่สุดท้ายแล้วแม้ในปี 2008 หลังการเลือกตั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะติดลบหนัก แต่ก็สามารถพลิกฟื้นคืนกลับมาเป็นบวกแรงได้ในปี 2009 เนื่องจากสหรัฐฯ​ มีการรีเซ็ตเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ จนสามารถทำให้ GDP เติบโตต่อไปในระยะยาว 

 

หรือแม้แต่ในช่วงปี 2001 ที่เกิดวิกฤตดอทคอมขึ้นในสหรัฐฯ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ติดลบ 9.1% ซึ่งเป็นช่วงสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และมีการใช้นโยบายผ่อนคลายปริมาณทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่ามาตรการ QE ซึ่งช่วงนั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระเบิด ก็จะมี 2 วิกฤตนี้ที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พัง นี่คือสถานการณ์ในช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างมากกว่า ไม่ใช่เชิงนโยบายทางการเมือง 

 

ผมย้อนไปดูผลตอบแทนหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา หลังการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคไหนจะชนะ ผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 ส่วนใหญ่จะเป็นบวกเสมอ ยกเว้นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ปี 2001 และ 2008 

 

เพราะฉะนั้นโดยภาพรวมของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผมมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ลงของตลาดหุ้นในระยะยาว แต่จะมีผลต่อตลาดในระยะสั้น เพราะอาจขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละพรรคด้วย 

 

สำหรับการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในครั้งนี้เราเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นบวกค่อนข้างมากตั้งแต่ปี 2023 และปีนี้หลายคนก็คิดว่าหุ้นสหรัฐฯ อาจลดลง แต่ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังให้ผลตอบแทน +10-20% ผมคาดว่าหลังการเลือกตั้งในช่วงอีก 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ก็น่าจะปิดบวกได้ตามสถิติจริงๆ ถ้าเราลงทุนตลาดหุ้นอิงตามสถิติ ในช่วง 5 ปีน่าจะเห็นผลตอบแทนที่เป็นบวกครับ 

 

นักวิเคราะห์มองว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะเลือกตั้งในรอบนี้ ประเด็นที่จะเป็นบวกกับตลาดหุ้นมากก็คือนโยบายหลักๆ จะเน้นไปที่ภาคธุรกิจ จะส่งผลบวกต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนหรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งคาดว่าจะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และสุดท้ายเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของอเมริกาในระยะยาวเป็นบวกด้วย

 

ผมอยากย้ำว่า ถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาวก็ไม่ต้องไปกังวลว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงในช่วงระยะสั้น แต่สิ่งที่ควรจะดูมากกว่าคือ จากสถิติที่ผ่านมาข้างต้น หุ้นสหรัฐฯ ขึ้นมากกว่าลงในปีหลังการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นถ้าเราลงทุนต่อ หรือ Stay Invest โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อยู่ เรื่องการซื้อหุ้นก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ไม่ได้สำคัญมากไปกว่าการให้น้ำหนักปัจจัยพื้นฐานในระยะยาว 

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ในเวลานี้คือแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นำร่องลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ลงมาอยู่ที่ 4.75-5.25% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และคาดการณ์จะปรับลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในปี 2025 ลดลงมาอยู่ระดับกว่า 3% เพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวแบบ Soft Landing รวมทั้งยังเป็นบวกต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจที่ลดลงจากเดิม ซึ่งน่าจะส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน 

 

แต่ก็มีประเด็นที่นักวิเคราะห์กังวลว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งและดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้ออาจขยับกลับมาสูงได้ ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ในระยะข้างหน้า เพราะฉะนั้นแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยลดลงของ Fed จึงยังต้องจับตาใกล้ชิด ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ เติบโต 2.7% ในปีนี้ และ 1.5% ในปี 2025

 

หุ้นจีนเสี่ยงแค่ไหนหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ

 

ทุกวันนี้ผมจำคำของปู่บัฟเฟตต์กล่าวไว้ได้เสมอ ‘Never bet against America.’

 

เวลาที่เห็นข่าวการเคลื่อนไหวของพอร์ตลงทุนจากบริษัท Berkshire Hathaway ของปู่บัฟเฟตต์ว่า ช่วงหลายปีมานี้ได้เข้าลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเพิ่ม ออกพันธบัตรสกุลเงินเยน หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่มีการขายหุ้นอเมริกาหลายตัวออกไป เป็นเรื่องปกติของผู้จัดการกองทุนที่จะต้องบริหารจัดการพอร์ต หรือ Reallocation หากเห็นว่ามีกำไรหรือราคาสูงเกินไปแล้ว หรืออาจมีความเสี่ยงสูงได้หากถือต่อไป จึงควรย้ายเงินไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่ยังให้ผลตอบแทนดีเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงในช่วงเวลานั้นๆ 

 

อย่างไรก็ตาม หากคุณไปดูพอร์ตลงทุนโดยรวมของบริษัทดังกล่าว เงินลงทุนหลักๆ ยังอยู่ในสินทรัพย์อเมริกาที่เป็นประเทศบ้านเกิดของปู่บัฟเฟตต์และเป็นประเทศที่ลงทุนมาตลอดชีวิตอยู่แล้ว ด้วยความเชื่อมั่นต่อการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ปู่บัฟเฟตต์ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของโลก 

 

สิ่งที่สำคัญคือ ปู่บัฟเฟตต์ไม่ได้จับจังหวะการลงทุนเหมือนนักลงทุนที่เน้นเข้าๆ ออกๆ หวังเก็งกำไร รวมทั้งพยายามที่จะไม่คาดเดาตลาดจากปัจจัยระยะสั้นว่าใครจะชนะการเลือกตั้งหรือใครจะไปใครจะมาด้วย เพราะเป็นเรื่องระยะสั้น แต่ยึดหลักการที่เน้นลงทุนหุ้นในระยะยาว นับตั้งแต่ปี 1942 ปู่บัฟเฟตต์มีหุ้นอยู่ในพอร์ตตลอดและไม่เคยขายล้างพอร์ตหุ้นเลยครับ ยิ่งถ้าได้ลงทุนในธุรกิจที่ดี อยู่ในเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว จะมองว่าเราลงทุนได้เสมอ และเมื่อลงทุนไปแล้วก็ควรลงทุนต่อ หรือ Stay Invest ดีที่สุด และนี่คือสิ่งที่ทำให้ปู่บัฟเฟตต์สามารถสร้างความมั่งคั่งอย่างต่อเนื่องทุกวันนี้

 

ยังคงมีคำถามอีกว่า ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ รอบนี้จะกระทบประเทศจีนอย่างไร จะเกิดเป็นวิกฤตรุนแรงขึ้นมาได้อีกใช่ไหม

 

ส่วนตัวผมมองว่าปัจจุบันสหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคามอยู่แล้ว เพราะจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าจีนจะขึ้นมาเบียดแซงสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้เกิดขึ้นมาในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาแล้ว และไม่ว่าประธานาธิบดีจากพรรคไหนจะขึ้นมา ก็มีนโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษีหรือสิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งประธานาธิบดีทุกคนก็สานต่อนโยบายนี้เสมอ เพื่อป้องกันประเทศถูกคุกคามจากจีน เพราะฉะนั้นเรื่องของการตั้งกำแพงภาษีหรือการกีดกันทางการค้าน่าจะเห็นไปต่ออย่างแน่นอน

 

แต่ก็มีข้อสังเกตจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ออกมาบอกว่า จากสถิติหลายๆ เหตุการณ์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ มักจะทำสิ่งที่ตลาดไม่คาดคิดเสมอ ซึ่งถ้าเขาชนะเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ สิ่งที่ทุกคนกลัวกันมากและคาดกันว่าสหรัฐฯ จะไปกีดกันทางการค้ากับจีนมากยิ่งขึ้นกว่านี้ ก็อาจเห็นเซอร์ไพรส์ขึ้นมาก็ได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อาจไปจับมือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่มีใครคาดเดาได้ล่วงหน้าครับ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยๆ ผมเห็นตลาดหุ้นจีนได้รับรู้ หรือ Price In ไปล่วงหน้าแล้วหลังจากตลาดหุ้นจีนร่วงลงไปมากในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งวิตกกันมากว่าจีนจะถูกปล่อยโดดเด่น หรือ Isolate จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก 

 

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลจีนไม่ได้นิ่งเฉย พร้อมตั้งรับเช่นกัน เช่น ประเด็นร้อนเรื่องชิป รัฐบาลจีนส่งสัญญาณให้นักธุรกิจจีนเลิกใช้ชิปจาก NVIDIA ของสหรัฐฯ และต่างประเทศเช่นกัน พร้อมกับหันมาใช้การผลิตชิปของจีนแทน รวมถึงปลุกกระแสชาตินิยม ส่งผลให้ยอดขาย iPhone ของสหรัฐฯ ตกลงมาแรงเช่นกัน ขณะที่ยอดขาย HUAWEI กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าชาวจีนหันมารักบ้านเกิด ใช้สินค้าแบรนด์ในประเทศมากกว่า โดยรัฐบาลปักธงการสร้างเศรษฐกิจจากภายในประเทศให้เติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฝั่งชาติตะวันตกมากเกินไป แม้อาจเกิดวิกฤตกีดกันทางการค้าขึ้นมาในระยะข้างหน้าได้ แต่อาจกระทบไม่หนักมาก 

 

ประกอบกับเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 1.8 ล้านล้านหยวน และปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ พร้อมใส่ยาแรงแก้วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ จนสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ พร้อมกับพลิกตลาดหุ้นจีนเข้าสู่ภาวะตลาดกระทิงในเดือนตุลาคม ดัชนี CSI 300 ดีดเด้งขึ้นมากกว่า 20% ในด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนยังคงเป้าหมาย GDP เติบโต 5% แม้ว่านักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าอาจจะต่ำกว่า 5% หลังจากที่ GDP ไตรมาส 3 อยู่ที่ 4.6%

 

ผมฉายภาพรวมของ 2 ตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากทั้งคู่ต่างก็เป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ทั้งสองตลาดนี้มีโอกาสและความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ‘ตลาดหุ้น’ ก็ขึ้น-ลงเหมือนเป็นรถไฟเหาะ แน่นอนว่าตลาดหุ้นคู่กับความผันผวนมาโดยตลอด เดี๋ยวข่าวโน้นมาทีข่าวนี้มาที เล่นกับอารมณ์ ชวนให้ ‘นักลงทุน’ แอบหวั่นไหวอยู่บ่อยๆ

 

ในการลงทุนผมย้ำกับลูกค้าเสมอว่า คุณจะต้องมีความรู้และความเข้าใจปัจจัยรอบด้านที่มีผลกระทบต่อพอร์ตลงทุน และอีกสิ่งสำคัญของ ‘การลงทุน’ คือการกระจายความเสี่ยงในประเภทของสินทรัพย์ที่หลากหลาย จะช่วยให้พอร์ตของคุณ ‘มั่นคง’ มากขึ้น ผันผวนน้อยลง รวมถึงการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar-Cost Averaging: DCA) ที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องคอย ‘คาดเดา’ หรือพยายามที่จะจับจังหวะอย่างที่ปู่บัฟเฟตต์สอนไว้ครับ

 

การ DCA อาจจะดูน่าเบื่อนะครับ แต่ช่วยลดปัญหาการจับจังหวะการลงทุนที่จะทำให้คุณเสียเวลาชีวิตและการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย และช่วยกระจายความเสี่ยงด้านราคา เพราะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอหรือทยอยลงทุนเป็นงวดๆ เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ยังช่วยตัดอารมณ์ ลดอคติ และไม่ต้องจับจังหวะในการลงทุน ที่สำคัญการ DCA ทำให้คุณสะสมเงินต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสริมพลังให้ผลตอบแทนทบต้นเรื่อยๆ แสดงประสิทธิภาพของการ ‘ปั้นพอร์ตโต’ ได้อย่างเต็มที่ 

 

แต่การ DCA นั้นก็ไม่ใช่ว่าจะหลับหูหลับตา DCA แบบไหนก็ได้นะครับ ไม่ว่าคุณจะกำลังนึกถึงการลงทุนประเภทไหน จะต้องไม่ลืมคำนึงถึงระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับไหว ถ้าเมื่อไรที่คุณรู้สึกว่าลงทุนแล้วเครียด นอนไม่หลับ แสดงว่าคุณกำลังลงทุนในสินทรัพย์ที่คุณไม่มีความรู้หรือสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินตัว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีแน่นอน

 

เพราะฉะนั้นตัวคุณจะต้องรู้จักลงทุนถัวเฉลี่ยในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม อนาคตมีแนวโน้มเติบโตตามหลักการลงทุนแบบ VI และกระจายความเสี่ยงด้านราคาด้วย DCA อย่างมีวินัย ปล่อยให้เงินทำงานไปจะถึงเส้นชัยได้เร็วกว่า 

 

สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ก็ตาม ผมแค่หวังว่าคุณจะสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ นอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่ม และพอร์ตเติบโตอย่างยั่งยืนครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising