สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันอังคาร (29 ตุลาคม) โดยอ้างจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า รัฐบาล จีน กำลังพิจารณา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อนุมัติเงินกู้เพิ่มเติมมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีข้างหน้า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ไขความเสี่ยงด้านหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น
แผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้อาจได้รับการอนุมัติในการประชุมของสภานิติบัญญัติระดับสูงของจีนที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4-8 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่าแผน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังกล่าวจะประกอบด้วย
- เงินกู้ 6 ล้านล้านหยวนที่จะระดมในระยะเวลา 3 ปี รวมถึงปี 2024 เพื่อช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกงบดุล
- พันธบัตรมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน เพื่อจัดหาเงินทุนให้กับรัฐบาลระดับภูมิภาคในการซื้อที่ดินและทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
รายงานระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจเพิ่มขึ้นหาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เนื่องจากคาดว่าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจจีนเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น
การประชุมสภานิติบัญญัติระดับสูงของจีนกำลังจะเกิดขึ้นในขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจจีนในครั้งนี้จะเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทรงพลังที่สุดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่
นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า การประชุมครั้งนี้จะยืนยันถึงแผนการรีไฟแนนซ์หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นและการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ธนาคาร นักลงทุนต่างจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ในรูปแบบของการกู้ยืมและการใช้จ่ายของภาครัฐที่มากขึ้น แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันว่ามาตรการดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในปีนี้หรือไม่
รายงานของสำนักข่าว Reuters ระบุว่า เงิน 6 ล้านล้านหยวนที่จะนำมาใช้สำหรับแก้ปัญหาหนี้ในท้องถิ่นนั้น ส่วนหนึ่งจะระดมได้จากการขายพันธบัตรรัฐบาลพิเศษ (Sovereign Bonds)ในขณะที่เงิน 4 ล้านล้านหยวนสำหรับอสังหาริมทรัพย์จะได้รับเงินทุนจากพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษ นอกจากนี้ จีนยังกำลังพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 1 ล้านล้านหยวน ซึ่งรวมถึงความพยายามในการกระตุ้นการบริโภคด้วย
นอกจากนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สหภาพยุโรปอนุมัติการเพิ่มภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนอย่างเป็นทางการสูงถึง 35.3% นอกเหนือจากภาษีนำเข้ารถยนต์มาตรฐาน 10% ของสหภาพยุโรป
จีนมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3 ล้านคันต่อปี ซึ่งมากกว่าตลาดสหภาพยุโรปถึง 2 เท่า ปักกิ่งมองว่าภาษีนำเข้าของสหภาพยุโรปเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าและสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและจีน รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ และในปีนี้ปักกิ่งเปิดการสอบสวนการนำเข้าบรั่นดี ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อหมูของสหภาพยุโรป ซึ่งดูเหมือนจะเป็นมาตรการตอบโต้
ท่าทีของสหภาพยุโรปที่มีต่อปักกิ่งแข็งกร้าวขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยสหภาพยุโรปมองว่าจีนเป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพในบางด้าน แต่ยังเป็นคู่แข่งในบางด้านด้วยเช่นกัน มาตรการภาษีนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คนงานในอุตสาหกรรมของเยอรมนีหลายพันคน รวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์ต่างนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่สูงขึ้น โดย Volkswagen อาจประกาศปิดโรงงานบางแห่งในประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 87 ปีของบริษัท
อ้างอิง: