×

Trump 2.0 อาจไม่ใช่สถานการณ์เชิงบวกต่อราคาทองคำ

29.10.2024
  • LOADING...

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ พบว่า ความเป็นไปได้ในการคว้าชัยในการเลือกตั้งระหว่าง คามาลา แฮร์ริส แคนดิเดตพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตพรรครีพับลิกัน นั้นยังคงสูสี หรือมีความเป็นไปได้ในการคว้าชัยที่ไม่หนีห่างกันมากนัก 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Kalshi (25 ตุลาคม) บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้ความเป็นไปได้ราว 61.0% ที่ทรัมป์จะคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะได้รับคะแนนโหวตจาก 6 ใน 7 สวิงสเตท (Swing State) อนึ่ง สวิงสเตทคือรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงให้กับทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน อันได้แก่ แอริโซนา, จอร์เจีย, มิชิแกน, เนวาดา, นอร์ทแคโรไลนา, เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน 

 

ขณะที่จากการรวบรวมทุกโพลคะแนนนิยมทั่วสหรัฐฯ ของเว็บไซต์ 270toWin (25 ตุลาคม) พบว่า แฮร์ริสยังคงได้รับคะแนนนิยมเหนือกว่าทรัมป์ แต่เหนือกว่าเพียง 0.6% โดยจากเว็บไซต์นี้พบความเป็นไปได้ที่แฮร์ริสจะได้รับคะแนนจาก 3 ใน 7 สวิงสเตทนั่นคือ รัฐมิชิแกน เนวาดา และวิสคอนซิน แต่ความน่าสนใจอยู่ที่รัฐที่นับเป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์และรีพับลิกันอย่างฟลอริดาและเท็กซัส กลับพบคะแนนนิยมของทรัมป์ที่เหนือกว่าแฮร์ริสเพียง 6.6% และ 5.6% ตามลำดับ 

 

ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะเป็นการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกทั้งคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College: EC) และประธานาธิบดี ในส่วนของการเลือกประธานาธิบดีจะนำมานับรวมเป็นคะแนนนิยม (Popular Vote) ซึ่ง EC ของรัฐมีหน้าที่ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนนิยมจากคนส่วนใหญ่ของรัฐนั้นๆ 

 

เมื่อพิจารณาที่ 7 รัฐ Swing State พบว่า มีจำนวน EC รวม 93 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของ EC ทั้งหมด 538 ราย ขณะที่ฟลอริดาและเท็กซัสมีจำนวน EC รวมกันที่ 70 ราย หรือราว 1 ใน 8 ของจำนวน EC ทั้งหมด ดังนั้นหากทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีความจำเป็นที่จะต้องกวาดคะแนนจากสวิงสเตทให้ได้มากที่สุด พร้อมกับรักษาคะแนนโหวตจากรัฐฐานเสียงตน เพราะหากแฮร์ริสสามารถชิงคะแนนโหวตจากสวิงสเตทเพียง 2-3 แห่ง พร้อมคว้าคะแนนโหวตจากรัฐฐานเสียง 2 แห่งของทรัมป์มาได้ แฮร์ริสมีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้ 

 

จากข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนในระดับสูงของประเด็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้ทองคำได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น นับเป็นอีกปัจจัยที่ร่วมหนุนให้ราคาทองคำสามารถสร้างระดับสูงสุดตลอดกาลได้เมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าราคาทองคำจะต้องเผชิญกับแรงกดดัน จากทิศทางการปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ก็ตาม 

 

ขณะเดียวกันในช่วงระยะหลังมานี้ในช่วงระยะหลังมานี้นักลงทุนหันมาเก็งว่า ทรัมป์จะสามารถคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มมากขึ้น อันมีส่วนทำให้ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงซื้อเก็งกำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันราคาทองคำจะยังทรงตัวได้ในระดับสูง แต่กระนั้นหากทรัมป์สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกครั้ง หรือที่เรียกว่า Trump 2.0 มีแนวโน้มที่ราคาทองคำอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่อยู่ในระดับสูงยาวนาน เนื่องด้วยหากพิจารณาผลกระทบจากทิศทางนโยบายของทั้งทรัมป์และแฮร์ริสจะพบว่า ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์มีแนวโน้มส่งผลเชิงลบต่อราคาทองคำมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวทางนโยบายของแฮร์ริส 

 

ทั้งนี้ ด้วยการชูแนวคิดการนำสหรัฐอเมริกากลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง หรือ Make America Great Again (MAGA) สิ่งหนึ่งที่ทรัมป์มีแนวโน้มให้ความสำคัญคือ ความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ สอดคล้องกับเมื่อไม่นานมานี้ทรัมป์มีการประกาศกร้าวที่จะขึ้นคิดภาษีนำเข้าด้วยอัตรา 100.0% สำหรับประเทศที่เลิกใช้เงินดอลลาร์ ขณะที่ก่อนหน้านี้นโยบายการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์อยู่ที่ 10.0-20.0% สำหรับการนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศ และราว 60.0% หรือมากกว่า เฉพาะการนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านโยบายดังกล่าวมีจุดประสงค์ที่จะตอบโต้ความพยายามลดความสำคัญของเงินดอลลาร์ (De-dollarization) โดยเฉพาะจากกลุ่ม BRICS

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าหลายประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีมีแนวโน้มแก้ปัญหาด้วยการควบคุมระดับของค่าเงินประเทศตนเอง เพื่อรักษาระดับราคาขายสินค้าในสินค้าให้สูงไปจากเดิมไม่มากนัก แม้มีต้นทุนทางภาษีที่สูงขึ้น ซึ่งการตอบโต้เช่นนี้มีแนวโน้มสร้างแรงหนุนให้กับค่าเงินดอลลาร์เป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันทรัมป์มีแนวโน้มเข้มงวดกับการจับตาความเคลื่อนไหวของค่าเงินประเทศคู่ค้า ทำให้วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจทำได้เพียงระยะหนึ่ง 

 

ท้ายที่สุดการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์มีแนวโน้มทำให้ระดับสินค้าและบริการในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งนับเป็นการลดอำนาจซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ และบั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันของผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยจากการวิเคราะห์ของ American Action Forum ชี้ว่า กรณีที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากทุกประเทศด้วยอัตรา 10.0% มีแนวโน้มเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนสหรัฐฯ ที่ราว 2,350 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน ขณะที่เมื่อพิจารณากรณีที่สหรัฐฯ ตั้งภาษีจากจีนด้วยอัตรา 60.0% พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 3,900 ดอลลาร์ต่อครัวเรือน 

 

ระดับราคาการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวมีแนวโน้มดันระดับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ให้ค้างตัวในระดับสูง สร้างความเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Deutsche Bank คาดการณ์ว่านโยบายการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์มีแนวโน้มทำให้ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เร่งตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.20% ขณะที่ PCE พื้นฐาน หรือ Core PCE มีแนวโน้มเร่งตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.40% ซึ่งการเร่งตัวขึ้นของตัวเลขดังกล่าวมีศักยภาพในการชี้นำให้ Fed ตัดสินใจค้างอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ของหลายฝ่าย สถานการณ์เช่นนี้มีแนวโน้มหนุนการปรับตัวขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 

 

คาดการณ์ข้างต้นสอดคล้องกับผลสำรวจของ The Wall Street Journal ในช่วงต้นเดือนตุลาคม หรือหนึ่งเดือนก่อนถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า 68% ของนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าภายใต้การนำของทรัมป์ระดับราคาสินค้าและบริการจะเร่งตัวขึ้นรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับการนำของแฮร์ริส สอดคล้องกับคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ราว 61% ที่ชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยของ Fed มีแนวโน้มค้างตัวในระดับที่สูงกว่าภายใต้การนำของทรัมป์ 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สืบเนื่องกัน การตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์คาดว่าจะอยู่ในสมมติฐานที่สหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์จากการมีรายรับทางภาษีที่เพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การประเมินถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในสหรัฐฯ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง มีแนวโน้มที่เขาจะหาช่องทางในการปรับลดภาษีเพิ่มมากขึ้น และไม่มีเป้าหมายต่อการเก็บภาษีของผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น หากแฮร์ริสสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 

 

นักวิเคราะห์บางคนแสดงความกังวลว่าช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ จะยิ่งขยายตัวมากขึ้น โดยรายจ่ายยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีการตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการบางส่วนออกแล้วก็ตาม ทำให้ประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจยิ่งทวีความน่ากังวลขึ้นหากทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง 

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาจากแบบจำลองงบประมาณของเพนน์วอร์ตัน (Penn Wharton Budget Model) พบว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายของทรัมป์อาจเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่ 5.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ในระยะเวลาที่เท่ากัน แนวโน้มการดำเนินนโยบายของแฮร์ริสมีแนวโน้มเพิ่มการขาดดุลดังกล่าวที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกล่าวได้ว่าทรัมป์มีแนวโน้มเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ รุนแรงกว่าแฮร์ริสเกือบ 5 เท่า 

 

ด้วยแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การออกพันธบัตรมีแนวโน้มมากขึ้นไปด้วย นับเป็นอีกปัจจัยที่จะคอยหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงค้างตัวอยู่ในระดับสูงหรือไม่ได้ปรับตัวลงมาดังที่ถูกประเมินไว้ ค่าเงินดอลลาร์จึงมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้นับว่าไม่ใช่สถานการณ์เชิงบวกของราคาทองคำเท่าใดนัก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X