หากจะพูดถึงนักเขียนมังงะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน การขาดชื่อของ ทัตสึกิ ฟูจิโมโตะ ไปก็คงจะเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ เพราะนอกจากผลงานที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ตัวตนของนักเขียนผู้นี้เรียกได้ว่าน่าค้นหาไม่แพ้กับงานเขียนของเขาเลย และ Look Back ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความเก่งกาจนั้นเป็นอย่างดี เพราะคนดูหรือคนอ่านคงจะพออนุมานได้ว่าชีวิตและเรื่องราวส่วนหนึ่ง (หรือส่วนใหญ่) ของตัวละครน่าจะมีที่มาจากประสบการณ์ของฟูจิโมโตะเอง ซึ่งชื่อของพวกเขาก็ยิ่งตอกย้ำถึงแนวคิดนี้ เมื่อมันประกอบรวมกันได้เป็นชื่อที่มีความคล้ายคลึงกับนามปากกาของเขาจริงๆ
และอีกอย่างที่หลายคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วตั้งแต่ที่มังงะเรื่องนี้ออกตีพิมพ์คือ เนื้อหาของมันมีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ลอบวางเพลิงสตูดิโออนิเมะชื่อดังอย่าง Kyoto Animation ที่โศกนาฏกรรมนั้นไม่ได้มีแค่ผู้เสียชีวิต แต่คนร้ายยังให้การอีกว่าที่เขาลงมือก่อเหตุเป็นเพราะผลงานของตัวเองถูกขโมยไป และด้วยความที่หยิบยกเอาเหตุการณ์ในอดีตมาอ้างอิง ทำให้สำนักพิมพ์ Shueisha ต้องแก้ไขเรื่องราวบางส่วนของมังงะก่อนที่จะเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
อย่างไรก็ดี Look Back กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในหมู่นักอ่าน-คนทำงานศิลปะ และหนึ่งในคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ อินิโอะ อาซาโนะ (Solanin, Goodnight Punpun และ A Girl on the Shore) ที่เจ้าตัวเคยโพสต์เอาไว้ว่า ‘นี่เป็นผลงานที่น่าอัศจรรย์มาก’ แง่หนึ่งการที่เรื่องสั้นจำนวน 143 หน้านี้ถูกทำเป็นภาพยนตร์ เลยเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลงานอันสะท้อนความเป็นมนุษย์และอ่านเข้าใจง่ายที่สุดของฟูจิโมโตะจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของสื่อเพียงไม่กี่ประเภทที่สามารถโอบอุ้มเงื่อนไขของการเล่าเรื่องบนหน้ากระดาษที่มีแค่ตัวหนังสือและภาพนิ่งได้
Look Back ติดตามชีวิตการเป็นนักวาดมังงะของเด็กประถมคู่หนึ่งตั้งแต่วัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ฟูจิโนะ คือนักเรียนที่หลายคนต่างชื่นชมว่าเธอมีพรสวรรค์ในการแต่งการ์ตูน 4 ช่องลงหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน ส่วน เคียวโมโตะ เป็นนักเรียนที่เอาแต่เก็บตัวอยู่ในบ้านและไม่เคยมาโรงเรียนเลย ทว่าสิ่งที่ฝ่ายหลังทำได้ดีกว่าคือการวาดฉากที่ต้องอาศัยการฝึกฝนนานนับปี และการที่ฟูจิโนะได้เห็นภาพเหล่านั้นทำให้เธออยากที่จะพัฒนาฝีมือของตัวเอง แต่ก็พบกับความจริงที่ว่าต่อให้พยายามมากเท่าไร ความสามารถของเธอก็ดูจะไม่ใกล้เคียงกับเคียวโมโตะเลย และคำพูดคำจาของเพื่อนในห้องก็เริ่มเปลี่ยนเป็นคำพูดที่เสียดแทงเธอไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ฟูจิโนะที่รู้แบบนั้นจึงเลือกหันหลังให้กับการวาดรูปและออกไปใช้ชีวิตเยี่ยงเด็กธรรมดาทั่วไป จนกระทั่งวันที่เธอต้องเอาใบจบไปให้กับเคียวโมโตะที่บ้านตามคำขอของครู และที่แห่งนั้นก็ทำให้ทั้งสองได้พบกันเป็นครั้งแรก เพราะสิ่งเดียวที่เคยเชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกันก็คือการวาดการ์ตูน 4 ช่องลงบนหนังสือพิมพ์ของโรงเรียน และสำหรับเด็กสาวที่เอาแต่ซุกตัวอยู่ในห้องอย่างเคียวโมโตะ การที่ฟูจิโนะ ผู้เปรียบเสมือนไอดอลของตัวเองมาหาถึงที่บ้าน ทำให้เธอยอมเปิดประตู (ที่ด้านหนึ่งอาจเป็นหัวใจของเธอเอง) ให้กับคนแปลกหน้าเป็นครั้งแรก
และฉากที่พวกเขายืนคุยกันก็เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่แทบไม่ต่างอะไรกับการเป็นกระดูกสันหลังของกันและกัน ก่อนที่ในเวลาต่อมาฟูจิโนะจะกลับมาวาดรูปอันเป็นสิ่งที่เธอเคยล้มเลิกไปแล้วอีกครั้ง พร้อมกับความสัมพันธ์ของพวกเขาที่ค่อยๆ เริ่มงอกงามขึ้นในฐานะนักแต่งเรื่องและนักวาดฉากหลังที่ทำงานร่วมกัน
จุดแข็งของ Look Back เลยไม่ใช่การพูดถึงเรื่องอื่นใดไกล หากแต่เป็นเรื่องที่สุดแสนสามัญของมนุษย์อย่าง ‘ความฝัน’ ที่ในทางหนึ่งการต่อสู้ของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนตามช่วงวัย เริ่มจากการต่อสู้กับคำครหาและความเจ็บปวดแบบเด็กๆ ไปจนถึงการรบรากับความฝันของตัวเองที่เริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ช้าก็เร็วความทะเยอทะยานและเห็นแก่ตัวอาจทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาต้องจบลง ทั้งที่จริงๆ แล้วปลายทางนั้นจะเป็นแบบเดียวกันก็ตาม
ข้อน่าสังเกตคือการจากลาเป็นเหมือนจุดตัดที่ฟูจิโมโตะใช้ในการเล่าความสัมพันธ์ของตัวละครในแต่ละช่วงวัยอยู่เสมอ มันอาจเป็นการจากลาเพียงชั่วข้ามวัน ข้ามคืน หรือตลอดไป แต่ชีวิตของคนเราก็เป็นแบบนั้น เคียวโมโตะและฟูจิโนะต่างมีเส้นทางข้างหน้าในแบบของตัวเอง ความฝันที่ครั้งหนึ่งเคยวาดเอาไว้อาจไม่ได้เดินบนวิถีทางเดียวอีกต่อไป และคุณค่าที่แท้จริงของ Look Back ก็ตามชื่อเรื่อง นั่นคือการพาเราย้อนกลับไปสำรวจช่วงเวลาที่เคยมีร่วมกันมา ทั้งในฐานะของคนที่ยังอยู่และคนที่จากไปแล้ว
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ สำหรับคนเรียนศิลปะหรือคนที่ทำงานด้านนี้ เนื้อหาของมันค่อนข้างจะทิ่มแทงพวกเขาเข้าอย่างจัง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมาว่า “เราวาดไปเพื่ออะไร?” และ “คุณค่าของมันอยู่ตรงไหน?” เพราะคำถามแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนที่ทำงานเป็นนักเขียนหรือนักวาดการ์ตูน แต่หมายรวมไปถึงคนทำงานศิลปะทุกแขนงที่มักจะต้องประสบพบเจอกับคำถามในทำนองนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่จากคนอื่นก็จากตัวเอง เนื่องจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะนั้นเต็มไปด้วยความกระท่อนกระแท่น พร้อมเผาผลาญร่างกาย และถูกด่าสาปส่งจากคนแปลกหน้าที่บางทีอาจจะไม่ได้แคร์ความรู้สึกของคนทำเท่าไรนัก
แต่ก็นั่นแหละ คำตอบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนของคำถามนี้คงไม่มีอยู่จริง และคำตอบของบางคนอาจเป็นแค่คำพูดที่ดูไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรอย่าง ‘การรักที่จะทำมัน’ แม้ในใจจะรู้อยู่เต็มอกว่าไม่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ก็ตาม
ส่วนตัวละครภายในเรื่อง การวาดมังงะคือจุดเริ่มต้นและเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของพวกเขา แต่ขณะเดียวกันก็พรากสิ่งสำคัญบางอย่างไปด้วย ที่แน่ๆ ในช่วงท้ายของเรื่องหลายคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็น What if ที่ทรงพลังอย่างเหลือล้น เมื่อวิญญาณที่แตกดับถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งด้วยกลไกของจินตนาการ ที่ด้านหนึ่งไม่ได้สะท้อนให้เห็นแค่ความงดงามและการดำรงอยู่ในผลงานของอีกฝ่าย แต่สะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า หากเราไม่เลือกเส้นทางในแบบที่เป็นอยู่ ผลลัพธ์ของมันจะแตกต่างออกไปจากเดิมไหม
และสิ่งที่ทำให้ซีเควนซ์นี้มีเสน่ห์มากคือการเข้าถึงผู้คนโดยทลายกรอบของความเป็นคนในแวดวงศิลปะออกไปจนเกือบหมด หลงเหลือเพียงจิตวิญญาณ ความมีหัวใจ และน้ำเสียงของมนุษย์ ที่เชื่อว่าเพื่อนที่จากไปแล้วจะมีความสุขกว่าถ้าไม่ได้เจอกันในตอนนั้น ภาพของชีวิตที่หลั่งไหลเข้ามาในอีกรูปแบบเลยเป็นสิ่งที่เชื้อเชิญให้คนดูทาบทับความทรงจำของตัวเองร่วมกับตัวละคร และเหนือสิ่งอื่นใด เราอาจตระหนักได้ว่าห้วงเวลาเหล่านั้นมีคุณค่ามากแค่ไหนก่อนที่จะสูญเสียมันไปตลอดกาล
อย่างไรก็ตาม ด้วยความยาวไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้หากใครจะรู้สึกเสียดายที่มันสั้นเกินไปหน่อย ซึ่งผู้กำกับอย่าง คิโยทากะ โอชิยามะ เองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ดึงเวลาของภาพยนตร์ไปได้มากสุดแค่หนึ่งชั่วโมง จนทำให้ทีมงานไม่สามารถส่งผลงานเข้าประกวดหรือออกฉายตามเทศกาลต่างๆ ได้ (ความยาวตามมาตรฐานปกติคือ 70 นาที)
แต่ถึงอย่างนั้น ความ Cinematic ของภาพยนตร์ก็อาจทำให้ปัจจัยด้านเวลาไม่ใช่เรื่องที่สลักสำคัญเสียทีเดียว เมื่อผู้ชมถูกดึงเข้าสู่โลกของตัวละครที่ทั้งสุขและทุกข์อย่างรวดเร็วจนยากที่จะมองข้ามว่านี่เป็นความสำเร็จที่สมควรได้รับคำชื่นชมจริงๆ
อีกอย่างที่น่าจะสะดุดตาหลายคนก็คือ Art Direction ของภาพยนตร์ที่มีความแตกต่างไปจากภาพยนตร์แอนิเมชันทั่วไป โดยเฉพาะลายเส้นที่ดูมีความเป็นภาพร่างอยู่ตลอดเวลา อันที่จริงนี่เป็นสิ่งที่โดดเด่นมากอย่างหนึ่งในงานเขียนของฟูจิโมโตะก็ว่าได้ เนื่องจากภาพวาดของเขาส่วนใหญ่มีความหยาบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
และวิธีการที่ผู้กำกับใช้ในการสร้างเอกลักษณ์นี้ขึ้นมาถือว่าน่าสนใจ เพราะตามปกติหลังจากที่ Key Animator วาดภาพการเคลื่อนไหวของตัวละครเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องส่งภาพนั้นให้กับ Inbetweener คอยทำหน้าที่คลีนเส้นและดูแลความเรียบร้อยต่อ ทว่าในขั้นตอนของการผลิต พวกเขากลับเลือกที่จะไม่ลบเส้นที่เป็นภาพร่างออกและนำเอาไปลงสี เพื่อใช้ในการสร้างภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับงานที่ถูกวาดด้วยมือแทน
โดยปริยาย สไตล์ภาพที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเลยไม่ได้มีความละเอียดเหมือนกับที่ผ่านมา และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้กลวิธีในการนำเสนอของภาพยนตร์มีความโดดเด่นมาก ซึ่งโอชิยามะเรียกเทคนิคที่ตัวเองใช้ว่า ‘เก็งกะ (Genga)’ และเขายังบอกอีกว่า ด้วยวิธีการนี้ ความรู้สึกของ Key Animator ทุกคนจะสะท้อนไปถึงตัวผู้ชมด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Sound Design ของ ฮารูกะ นากามูระ ซึ่งเปรียบได้กับการงมเข็มในมหาสมุทรจนเจอ ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ถูกทำออกมาเพื่อสอดรับกับบริบทของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่อบอุ่นหรือแสนเศร้า ทั้งหมดถูกนำมาจัดวางเข้ากับ Montage ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตได้อย่างน่าทึ่งและบริสุทธิ์ พูดง่ายๆ มันปลดล็อกทุกความเป็นไปไม่ได้ของมังงะอย่างหมดจด
แง่หนึ่งเสียงเลยไม่ต่างกับท่วงทำนองของภาษาภาพที่สื่อความรู้สึกของฟูจิโนะและเคียวโมโตะไปยังผู้ชมโดยตรง ซึ่งมันยิ่งตอกย้ำว่าบางครั้งบทสนทนาก็ไม่ได้อยู่แถวหน้าของเรื่องเสมอไป และนั่นคือสิ่งที่ทำให้อารมณ์ของภาพยนตร์ยังคงซึมลึกอยู่ในหัวใจแม้จะเดินออกจากโรงไปแล้วก็ตาม
ถึงที่สุด คำจำกัดความที่เหมาะสมของ Look Back คงหนีไม่พ้นวลีสุดฮิตของคนเรียนศิลปะอย่าง Ars longa, vita brevis (ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น) เพราะสำหรับคนทำงานศิลปะ ชีวิตของพวกเขาก็คงเป็นแบบนั้น ที่สำคัญ มันไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ทำงานแค่เวลาที่คนดูตั้งคำถามหรือมองหาแรงบันดาลใจ แต่ทำงานอย่างสุดซึ้งเมื่อยามคิดถึงช่วงเวลาที่เคยผ่านพ้นมาในชีวิตของตัวเอง ช่วงเวลาที่ครั้งหนึ่งเราอาจเคยหลงลืมไปแล้ว
Look Back เข้าฉายแล้ววันนี้ ในโรงภาพยนตร์
รับชมตัวอย่าง Look Back ได้ที่