One Bangkok โครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทที่ TCC Group เปิดตัวในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ (25 ตุลาคม) ที่ผ่านมา จะเป็นบททดสอบสำคัญในการส่งต่อธุรกิจจาก เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้ก่อตั้ง TCC Group สู่ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูล
Nikkei Asia ระบุว่า One Bangkok เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ใหญ่ที่สุดของภาคเอกชนในประเทศไทย ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม โดยมีร้านค้าประมาณ 900 ร้าน และร้านอาหารกว่า 250 ร้าน พร้อมโรงแรมหรูระดับโลกอย่าง Ritz-Carlton จาก Marriott และ Andaz จาก Hyatt Hotels
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดมาสเตอร์แพลนโครงการวัน แบงค็อก บนพื้นที่ 104 ไร่ใจกลางเมือง ด้วยเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท
- ‘วัน แบงค็อก’ ตั้ง ‘6 ผู้รับเหมา’ พัฒนาพื้นที่ 1.3 ล้านตารางเมตร สร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบสู่แลนด์มาร์กระดับโลก
- ทำความรู้จัก One Bangkok ให้มากขึ้นผ่านการพูดคุยกับ ‘ปณต สิริวัฒนภักดี’ ถึงการสร้างโครงการที่อยากขับเคลื่อนกรุงเทพฯ (Evolving Bangkok) สู่มหานครแนวหน้าระดับโลก
โครงการนี้จะเปิดให้บริการเป็นระยะๆ จนถึงปี 2026 โดยอาคารสำนักงานได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน LEED และคาดว่าจะดึงดูดบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะ “ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของกรุงเทพฯ” ปณต สิริวัฒนภักดี ซึ่งรับผิดชอบโครงการดังกล่าวและเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญระบุ
TCC Group เริ่มต้นจากธุรกิจค้าส่งวัตถุดิบสำหรับโรงเบียร์ที่เจ้าสัวเจริญก่อตั้งขึ้นในปี 1960 ซึ่งตอนนั้นอายุ 17 ปี ก่อนจะขยายธุรกิจไปสู่การผลิตวิสกี้และเบียร์ จน Thai Beverage ผู้ผลิตเบียร์ช้างกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด
จากนั้น TCC Group ขยายธุรกิจผ่านการเข้าซื้อกิจการหลายครั้ง เช่น การซื้อ Fraser and Neave บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ในปี 2013 ทำให้กลุ่มบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็วและมีธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ไปจนถึงบริการทางการเงิน โดยมีรายได้จากหน่วยธุรกิจหลักมากกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.39 แสนล้านบาท
เจ้าสัวเจริญส่งต่อการบริหารธุรกิจเครื่องดื่มให้กับ ฐาปน สิริวัฒนภักดี บุตรชายคนโต ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่งต่อให้กับปณต บุตรชายคนที่ 2 และธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรมมอบไว้ในมือ วัลลภา ไตรโสรัส บุตรสาวคนที่ 2
อย่างไรก็ตาม Yuto Ikeuchi ที่ปรึกษาจาก MU Research and Consulting (Thailand) มองว่า การแยกบริหารธุรกิจอย่างอิสระนี้ทำให้ “เกิดจุดอ่อนด้านการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจ”
เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่ปัจจุบันบริหารโดยทายาทรุ่นที่ 3 และประสบความสำเร็จในการสร้างพลังร่วมระหว่างธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์การเกษตรไปจนถึงธุรกิจค้าปลีกอย่าง 7-Eleven การสร้างพลังร่วมจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตของ TCC Group ในอนาคต
One Bangkok เป็นโครงการที่นำโดยปณต ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Frasers Property โดยเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการเจรจากับผู้เช่าทั้งหมด และได้รับการสนับสนุนจากฐาปน ประธานกรรมการ TCC Assets (Thailand) ซึ่งถือหุ้นใน One Bangkok
ทั้งฐาปนและปณตต่างก็มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศจากการศึกษาในต่างประเทศเช่นเดียวกับซีอีโอของเครือเจริญโภคภัณฑ์และ Central Group ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ผู้นำรุ่นที่ 3
“ฐาปนมีชื่อเสียงในด้านความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ปณตเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำที่รับฟังคนรอบข้าง” ผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับทั้ง 2 คนกล่าว “คำถามคือ ทั้ง 2 คนนี้และคนอื่นๆ จะสามารถสร้างความร่วมมือในกลุ่มได้หรือไม่”
อ้างอิง: