×

เรืองไกรร้องสอบ สส. พรรคประชาชน พ้นสมาชิกภาพ เหตุแถลงข่าวให้โยกย้ายบุคคลไม่ใช่หน้าที่ของ กมธ.

โดย THE STANDARD TEAM
27.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (27 ตุลาคม) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบสมาชิกภาพของ กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ สส. กทม. และ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มีเหตุต้องสิ้นสุดลงตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบ สส. อีก 4 คน ตามที่ปรากฏในภาพข่าวว่ามีส่วนร่วมกับกรณีดังกล่าวด้วยหรือไม่

 

เรืองไกรกล่าวว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำร้องมีดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรลงข่าวหัวข้อ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย สส. พรรคประชาชน มีข้อกังวลเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้จะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย ไว้ดังนี้

 

“วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 น. ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารรัฐสภา กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธาน กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค คนที่สอง พร้อมด้วย ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ กมธ., ที่ปรึกษา กมธ. และ สส. พรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องข้อกังวลการสอบสวนข้อเท็จจริงบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่เป็นข่าวโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 มีคำสั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ขณะนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

 

“ตนและ สส. พรรคประชาชนมีข้อกังวลที่จะฝากถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงคำสั่งดังกล่าวที่มีกรรมการบางรายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวโยงกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการเบี่ยงเบนประเด็น การไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือข้อมูลที่จะสืบสวนหาข้อเท็จจริงได้ และทราบข่าวว่าจะโอนเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พ้นผิดหรือไม่

 

“จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม และในวันนี้ช่วงบ่าย พรรคประชาชนจะเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527, พ.ร.บ.การขายตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพื่อหาแนวทางทำให้แชร์ลูกโซ่หมดไปจากสังคมไทย”

 

2. กรณีที่ กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ และ ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ พร้อม สส. อีก 4 ราย ซึ่งปรากฏตามภาพข่าวนั้น การแถลงข่าวส่วนหนึ่งระบุว่า “…จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…” นั้น อาจเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) ประกอบมาตรา 185 (1) (3) ตามมาได้

 

3. รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (7) มาตรา 185 (1) (3) บัญญัติว่า ‘มาตรา 101 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ (7) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 184 หรือมาตรา 185’ และมาตรา 185 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทำการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

 

  • การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

 

  • การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน หรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

 

เรืองไกรกล่าวต่อไปว่า เมื่อตรวจสอบหน้าที่และอำนาจของ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค จากเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุไว้ว่า กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภค

 

ดังนั้นการแถลงข่าวในส่วนที่ว่า “…จึงขอให้มีการโยกย้ายบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวออกจากคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม…” ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารรัฐสภา จึงอาจไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำใดในการแถลงข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงไม่ควรมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 124 กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising