×

กรมอุตุฯ คาด ไทยเข้าสู่ฤดูหนาว 29 ต.ค. นี้ ก่อนสิ้นสุดช่วงปลาย ก.พ. 68 กทม. อุณหภูมิต่ำสุด 16-18 องศาเซลเซียส

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2024
  • LOADING...

วานนี้ (25 ตุลาคม) ดร.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ตามเกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย

 

  1. อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบนอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป คือมีอุณหภูมิต่ำสุดน้อยกว่า 23 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่อง

 

  1. ลมระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100-3,500 เมตร เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไปเป็นลมฝ่ายตะวันตก

 

  1. ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฤดูหนาวของประเทศไทยในปีนี้จะเริ่มขึ้นตามเกณฑ์ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และจะสิ้นสุดฤดูในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจากสถิติถือว่าเริ่มต้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์

 

ดร.สุกันยาณี กล่าวต่อว่า ในปีนี้โดยรวมแล้วอากาศจะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 20-21 องศาเซลเซียส (ปีที่ผ่านมา 21.6 องศาเซลเซียส) กรุงเทพมหานครอุณหภูมิต่ำที่สุดจะอยู่ในช่วง 16-18 องศาเซลเซียส และปริมณฑลประมาณ 14-16 องศาเซลเซียส

 

สำหรับช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนธันวาคม 2567 ถึงปลายเดือนมกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6-8 องศาเซลเซียส ส่วนมากบริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

 

ส่วนภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วง ส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป คลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ และในบางช่วงมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรือพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรงและอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 3-5 เมตร จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดไว้ด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising