×

มองย้อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 9 ปี ศึกชิงเมืองกรุงภายใต้การเมือง 2 พรรคใหญ่ ฝ่ายค้าน vs. รัฐบาล

28.03.2022
  • LOADING...
มองย้อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 9 ปี ศึกชิงเมืองกรุงภายใต้การเมือง 2 พรรคใหญ่ ฝ่ายค้าน vs. รัฐบาล

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ปี 2547 จำนวนผู้มาใช้สิทธิคือ 2,472,486 คน คิดเป็นร้อยละ 62.5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 3,955,855 คน

 

ครั้งนั้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครหน้าใหม่ เบอร์ 1 จากพรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยด้วย 911,441 คะแนน ชนะอันดับ 2 คือ ปวีณา หงสกุล เบอร์ 7 คู่แข่งสำคัญที่ถูกมองว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝั่งรัฐบาลไทยรักไทยเวลานั้น ได้ 619,039 คะแนน และอันดับ 3 คือ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงถึง 334,168 คะแนน ในสนามนี้ยังมีผู้สมัครที่ได้เสียงเกิน 100,000 คะแนน อีก 3 คน คือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง, ร.ต.อ. นิติภูมิ นวรัตน์ และ พิจิตต รัตตกุล 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

หลังจบการเลือกตั้งครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจในเรื่อง ผู้ว่าฯ คนใหม่ของชาวกรุงเทพฯ ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2547 


ต่อคำถามเรื่อง เหตุผลในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. นั้น กลุ่มเป้าหมายที่เลือก อภิรักษ์ โกษะโยธิน ร้อยละ 27.2 ตอบว่าเลือกเพราะชื่นชอบในนโยบายและทีมงาน ร้อยละ 17.8 ชอบที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง ขณะที่ร้อยละ 6.6 ตอบว่าเลือกเพราะชอบพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 4.2 ตอบว่าต้องการให้มาถ่วงดุลอำนาจรัฐบาล

 

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่เลือก ปวีณา หงสกุล มีเหตุผลหลักๆ คือ ชื่นชอบผลงานในอดีตที่ทำงานเพื่อส่วนรวม (ร้อยละ 35.6)  รองลงมาคือ ต้องการให้โอกาสผู้หญิงได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. (ร้อยละ 23.1) 

 

ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ยังได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวิจัยครั้งนี้คือ สาเหตุที่ ปวีณา หงสกุล ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. นั้น กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 46.5 เชื่อว่าเป็นผลมาจากข่าวที่ว่ามีพรรคไทยรักไทยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

 

อย่างไรก็ดี ชัยชนะอย่างเป็นทางการของการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่ปี 2518 นั้นไม่ใช่การชนะในทุกเขตเลือกตั้ง แม้ว่าเขตชั้นในอย่างพระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, ปทุมวัน, สัมพันธวงศ์, บางรัก, ยานนาวา, สาทร และบางคอแหลม จะชนะขาดลอย แต่ยังมีมากกว่าสิบเขตที่ไม่ได้ทิ้งห่างอันดับสองมากนักอย่างบางกะปิ, ลาดพร้าว, วังทองหลาง, บึงกุ่ม, สวนหลวง, วัฒนา, ดินแดง, จตุจักร, จอมทอง, คลองสาน, ธนบุรี, บางกอกน้อย, บางแค และทวีวัฒนา

 

ในขณะที่มีถึง 5 เขตที่ปวีณาชนะขาดลอย ได้แก่ บางเขน, ดอนเมือง, หนองจอก, สายไหม และลาดกระบัง ซึ่งปัจจุบันก็ยังดูเป็นเขตหลักของเจ้าแม่เมืองหลวง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่ด้วย 

 

แต่การเลือกตั้งสมัยต่อมา ในปี 2551 อภิรักษ์ โกษะโยธิน นอกจากจะรักษาเก้าอี้เจ้าพ่อเมืองกรุงไว้ได้ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน จากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 54.18 % ทิ้งห่าง ประภัสร์ จงสงวน จากพรรคพลังประชาชน (ก่อนจะถูกยุบพรรค และปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย) ที่ได้ 543,488 คะแนน และ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้ 340,616 คะแนน ซึ่งในเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อยู่ถึง 34 คน จาก 57 คน ส่วนพรรคไทยรักไทยมี 19 คน และมีสมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร (ส.ข.) พรรคประชาธิปัตย์ 204 คน พรรคไทยรักไทย 138 คน จากทั้งหมด 357 คน 

 

ในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 นี้ แคนดิเดตจากประชาธิปัตย์ยังได้คะแนนชนะเป็นอันดับ 1 ในทุกเขตเลือกตั้ง เกือบทุกเขตทิ้งห่างขาดลอย มีเขตที่ชนะไม่ขาดลอยเพียง 3 เขต ได้แก่ สายไหม ดอนเมือง ที่ห่างกันประมาณ 3,000 คะแนน และดุสิตที่ห่างกันประมาณ 1,600 คะแนน

 

ในปี 2552 มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง เมื่อ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ลาออก หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดในคดีจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ซึ่งประชาธิปัตย์ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มาลงเลือกตั้งรักษาเก้าอี้ให้พรรคไว้ได้ แต่ในคราวนี้ประชาธิปัตย์ก็ถูกเจาะพื้นที่ได้ถึง 4 เขต ได้แก่ ดุสิต, ดอนเมือง, สายไหม และลาดกระบัง

 

แต่ในศึกสำคัญที่ชนกันระหว่างสองพรรคอย่างชัดเจนที่สุดคือ การเลือกตั้งในปี 2556 ที่พรรคเพื่อไทยส่ง พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ แม้จะพ่ายแพ้ แต่เพื่อไทยก็เอาชนะได้ถึง 11 เขต โดยในเวลานั้นพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ข. ถึง 210 ที่นั่ง จากทั้งหมด 256 ที่นั่ง และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีก 23 คน จาก 33 เขต ใน กทม. 

 

ที่สำคัญการเลือกตั้งเชิงสัญญะครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธินับว่ามากที่สุดคือ ร้อยละ 63.98 ซึ่งต้องไม่ลืมว่าอัตราผู้มาใช้สิทธิที่เกิน 60% นั้นมีแค่ 2 ครั้งเท่านั้น โดยครั้งแรกคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2547 ส่วนครั้งอื่นๆ ที่เกินร้อยละ 50 ก็มีเพียง 2 ครั้ง และเกินร้อยละ 40 อีก 1 ครั้ง ที่เหลือก็ต่ำกว่าร้อยละ 40 ทั้งสิ้น 

 

แม้ชัยชนะครั้งนี้ยังเป็นของประชาธิปัตย์ แต่ก็เรียกได้ว่าชนะแบบหืดขึ้นคอ ด้วยคะแนนระหว่าง 1,256,349 ต่อ 1,077,899 ประชาธิปัตย์ถูกเพื่อไทยเจาะพื้นที่เพิ่มจากการเลือกตั้งปี 2552 ถึง 7 เขต โดยมีถึง 5 เขตที่เพื่อไทยชนะขาดลอย ได้แก่ ดุสิต, บางเขน, ดอนเมือง, สายไหม และลาดกระบัง 

 

ส่วนอีก 6 เขตที่ยังไม่ห่างมาก ได้แก่ หลักสี่, บางซื่อ, คลองสามวา, คันนายาว, หนองจอก และหนองแขม และยังมีอยู่ 3 เขตที่หายใจรดต้นคอคือ ภาษีเจริญ, ราษฎร์บูรณะ และตลิ่งชัน ที่ก็ห่างกันไม่ถึงพันคะแนนด้วย ซึ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่การเลือกเพื่อหาคนเข้ามาทำงาน ทีมรองผู้ว่าฯ จึงไม่ได้ถูกนำเสนอเท่าที่ควรอีกเช่นเคย 

 

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเกิดขึ้นในปี 2565 ยังไม่มีแคนดิเดตรายไหนเปิดตัวทีมรองผู้ว่าฯ โดยมีเปิดให้เห็นกันบ้างแล้วถึงทีมงานและเครือข่ายสนับสนุน

 

ต้องติดตามกันต่อไปว่าเสียงส่วนใหญ่ของคนกรุงครั้งนี้จะเลือกผู้ว่าฯ อยู่บนฐานคิดแบบไหน และผู้สมัครอิสระหรือสังกัดพรรคจะคว้าชัยในสนามเลือกตั้งรอบนี้

 

เกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ Facebook: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X