ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ตลาดหุ้นจีนฟื้นขึ้นอย่างแข็งแกร่งทั้งที่ความกังวลในตลาดไม่ได้ลดลงมาก
เศรษฐกิจไม่ได้เติบโตเข้าเป้า ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไม่ได้ดีขึ้น ความเสี่ยงตลาดอสังหาไม่เปลี่ยน แต่ด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสำหรับหุ้นจีน คือการที่ China Securities Regulatory Commission (CSRC) ออกแถลงการณ์ ‘9 มาตรการปฏิรูปตลาดทุน’ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2024
การปฏิรูปเป็นแนวโน้มระยะยาวที่เคยเกิดขึ้นในปี 2004 ทำให้หุ้นจีนทะยานกว่า 340% 4 ปีให้หลัง ประกาศครั้งที่ 2 คือปี 2014 ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้น 150% ใน 399 วัน หลังการประกาศปฏิรูป
ล่าสุดในครั้งนี้ เป้าหมายหลักของการปฏิรูปคือการควบคุม ลดความเสี่ยง เสริมคุณภาพและพัฒนาการของตลาดทุน ผมรวบรวมและเทียบการเปลี่ยนแปลงรายข้อดังนี้
- ข้อกำหนดภาพรวม – เปลี่ยนจากการคุ้มครองนักลงทุน เป็นการยกระดับการกำกับดูแล และพัฒนาตลาดทุนให้มีคุณภาพสูง
- เข้มงวดในการตรวจสอบ IPO – ปรับปรุงกฎการจดทะเบียน เพิ่มความรับผิดชอบด้านการอนุมัติ IPO/ผู้ออก/ผู้ขาย/ธุรกรรมในตลาด จากก่อนหน้านี้ที่เน้นแบ่งตลาดหุ้นออกเป็นหลายระดับ
- เน้นกำกับดูแลด้านการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการ – ปรับปรุงกฎการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร เพิ่มการกำกับดูแลเงินสด ปันผล และส่งเสริมคุณภาพการสร้างมูลค่าการลงทุน
- กำกับดูแลการเพิกถอนหุ้น – ปฏิรูประบบ Delisting กระชับมาตรฐานบังคับเพิกถอนหลักทรัพย์ จากก่อนหน้านี้ที่เน้นพัฒนาระบบเสนอขายหุ้น และปลูกฝังแนวคิดด้านตลาดทุนตั้งแต่นอกตลาด
- ยกระดับการกำกับดูแลสถาบันการเงิน แทนที่การโปรโมตตลาด Future – ส่งเสริมการพัฒนา บล. และ บลจ. ให้มีคุณภาพสูง ปลูกฝังการเป็นธุรกิจที่เน้นลงทุน ไม่ใช่แค่เก็งกำไร
- ปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกรรม – ส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดทุน เสริมสร้างการกำกับดูแลการซื้อขาย/ธุรกรรม และการให้ความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวแทนการขยายตลาดทุนข้ามพรมแดน – ปลูกฝังแนวคิดการลงทุนระยะยาว และปรับสภาพแวดล้อมทางนโยบายให้เหมาะสมกับการลงทุนผ่านนักลงทุนสถาบัน
- ยกระดับการป้องกันและแก้ไขความเสี่ยงทางการเงิน – เน้นไปที่การปรับปรุงระดับของการจัดหาทุนในตลาดสำหรับ 5 เรื่องคือ เทคโนโลยี ธุรกิจสีเขียว การเพิ่มส่วนร่วม บำนาญ และดิจิทัล
- เชื่อมโยงท้องถิ่นพัฒนาคุณภาพตลาดทุน – โดยมีการประสานงานด้านกฎระเบียบระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เน้นไปที่การเผยแพร่ข้อมูลในตลาดทุน
โดยสรุป ถ้าทศวรรษแรกของตลาดคือการ ‘เปิดตลาด’ ทศวรรษที่สองคือการ ‘พัฒนา’ ทศวรรษข้างหน้าคือการ ‘ควบคุมคุณภาพ’
คำถามสำคัญในครั้งนี้อยู่ที่ว่า 9 มาตรการปฏิรูปตลาด เป็นโอกาสหรือความเสี่ยงมากกว่ากัน สำหรับผม มองการปฏิรูปครั้งนี้เป็น 3 เน้น และ 3 บวก
เน้นให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ บวกหุ้นปันผล
ทิศทางการปรับนโยบายส่วนหนึ่งมาจากการที่มีบริษัทเข้าจดทะเบียนมากกว่า 5,300 บริษัทในทั้งสามตลาดหลักรวมกัน ยิ่งปริมาณมากคุณภาพก็ยิ่งต่ำ เห็นได้จากอัตราการจ่ายเงินปันผลของ MSCI China ที่มีแค่ราว 30% ทั้งที่บริษัทมีเงินสด (Cash/Market Cap) เหลือมากถึง 20-30%
ผมเชื่อว่าการปรับนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจคล้ายกรณีการปฏิรูปตลาดทุน TSE Reform ในฝั่งญี่ปุ่น บริษัทที่มีเงินควรต้องยอมจ่ายปันผล หรือซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุน (Buybacks) การปฏิรูปจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตลาดหุ้นได้กว่า 20% ถ้าอัตราการจ่ายปันผลเท่ากับตลาดเอเชียอื่นๆ
เน้นลงทุนระยะยาว ไม่เน้นรวยลัด บวกหุ้นพื้นฐานขวัญใจกองทุน
ปัญหาหลักของหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ คือการมีนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศที่ต่ำราว 11% และ 4% ตามลำดับ เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี สองกลุ่มดังกล่าวมีขนาดรวมกันราว 60% จึงทำให้ตลาดมีความผันผวนสูง และมีแต่นักเก็งกำไร
เชื่อว่าถ้าการปฏิรูปเน้นไปที่การสร้างนักลงทุนสถาบันจะเป็นผลดีกับหุ้นพื้นฐานดีราคาไม่แพงในมุม Risk-Adjusted Expected Returns แค่นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสัดส่วนมูลค่าหุ้นกลับเข้าสู่ปกติ ตลาดก็บวกกลับได้อีก 10-20%
เน้นโปร่งใส ไม่เน้นหุ้นลับลวง บวกหุ้นใหญ่ให้ข้อมูลควรถ้วน
ด้วยมาตรการส่วนใหญ่ที่เน้นไปที่การควบคุม สร้างความโปร่งใส และลดความเสี่ยง เบื้องต้นจะเพิ่มต้นทุนการจัดการที่บริษัทจดทะเบียนต้องแบกรับ ในกรณีเลวร้าย บางบริษัทอาจมีความเสี่ยงที่ต้องเบนเข็มธุรกิจหลักที่ไม่มีแรงสนับสนุนจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี เทียบจากประสบการณ์ของตลาดเอเชียอื่น หุ้นขนาดใหญ่มักไม่ได้รับความเสี่ยงจากการบฏิรูปเชิงโครงสร้างนี้ ในทางกลับกัน การเพิ่มความโปร่งใสจะมีส่วนลดต้นทุนทางการเงินได้ราว 2-5%
9 ปฏิรูปของตลาดหุ้นจีนจะทำให้มุมมองของชาวโลกเปลี่ยนไปแน่ นักลงทุนไทยต้องรู้ให้ทันครับ
ดัชนีตลาดหุ้นจีน CSI 300 และ 9 มาตรการปฏิรูปตลาดในอดีต
อ้างอิง:
- Bloomberg, CSI