กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินติญ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, ตาก, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, พิจิตร, นครสวรรค์, ตราด, แพร่, เพชรบูรณ์, พิษณุโลก, ประจวบคีรีขันธ์, ระนอง, พังงา, เพชรบุรี, ลำปาง, น่าน, อุตรดิตถ์, อำนาจเจริญ, พะเยา, เชียงราย, กาฬสินธุ์, นครพนม, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, บึงกาฬ, สกลนคร, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, หนองคาย และสุราษฎร์ธานี รวม 96 อำเภอ 343 ตำบล 2,098 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 43,970 ครัวเรือน 123,515 คน
ล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายแล้วใน 21 จังหวัด เหลืออีก 9 จังหวัดคือ นครพนม, อุบลราชธานี, บึงกาฬ, สกลนคร, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ยโสธร, เพชรบุรี และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 36 อำเภอ 179 ตำบล 1,281 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,333 ครัวเรือน 57,811 คน
ซึ่งขณะนี้จังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว 13 จังหวัด 25 อำเภอ 77 ตำบล 493 หมู่บ้าน ได้แก่ กาญจนบุรี, กาฬสินธุ์, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, บึงกาฬ, พะเยา, เพชรบุรี, แพร่, ยโสธร, สกลนคร, อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์
ด้านสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รายงานการจำลองสภาพอากาศ พบว่า ประเทศไทยอาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย, พะเยา, น่าน, แม่ฮ่องสอน, ตาก, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, อุดรธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี, ตราด, ระนอง, พังงา, กระบี่ รวมทั้งชุมพร, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับวิกฤตปัจจุบัน ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำกักเก็บ 103.82% เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำกักเก็บ 102.65% เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 87.13% และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำกักเก็บ 85.07% ขณะที่ภาพรวมของปริมาณน้ำกักเก็บทั่วประเทศอยู่ที่ 70% มีน้ำไหลลงเขื่อนมากกว่าค่าเฉลี่ย และยังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
ส่วนศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สทนช. ระบุว่า ปัจจุบันเขื่อนแก่งกระจานมีน้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 60 เซนติเมตร โดยระดับน้ำท้ายเขื่อนที่สถานี B.3A อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระดับน้ำ 3.66 เมตร ระดับตลิ่งอยู่ที่ 4.40 เมตร ถือว่ายังต่ำกว่าตลิ่ง 0.76 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 183.70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำล้นทางระบายน้ำที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมพื้นที่ริม 2 ฝั่งลำน้ำบริเวณอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม แล้วจะไหลลงทะเลต่อไป
ทั้งนี้ยังคงเร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน ทำให้ระดับน้ำที่อำเภอเมืองเพชรบุรีมีระดับขึ้นช้าลงและต่ำกว่าตลิ่ง 55 เซนติเมตร ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง
ด้านเขื่อนน้ำอูนมีน้ำไหลเข้า 4.84 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเพิ่มการระบายน้ำออกเป็น 4.15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน สภาพท้ายน้ำยังปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีน้ำล้นตลิ่ง โดยควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเพิ่มการระบายน้ำด้วยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า