หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่รายงานผลประกอบการของปี 2564 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ขาดเพียงธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ยังไม่ได้ประกาศผลประกอบการออกมา ขณะที่อีก 9 ธนาคารที่เหลือรายงานกำไรออกมารวมกัน 1.61 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.6% จากปีก่อน และมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 7.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7%
กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า โดยภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ถือว่าดี เนื่องจากสินเชื่อที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ลูกหนี้ที่ต้องให้การช่วยเหลือเริ่มทรงตัวหรือลดลงได้บ้าง โดยลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการช่วยเหลือก็สามารถกลับมาผ่อนชำระได้ เพราะฉะนั้นพอร์ตสินเชื่อโดยรวมจึงดูดีขึ้น
ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ การบริหารสินทรัพย์ ค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ และประกัน ก็สามารถฟื้นตัวได้ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่ยังกดดันผลประกอบการคือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การลงทุนพัฒนาด้านดิจิทัล โบนัส และค่าพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายระยะสั้น
“ส่วนที่โดดเด่นที่สุดคือ NPL ซึ่งปรับลดลงแทบทุกแบงก์ สวนทางจากมุมมองก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะยังปรับขึ้นในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยการลดลงของ NPL ของทั้งกลุ่มน่าจะประมาณ 0.2-0.3% จากไตรมาส 3 ปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 4%”
แนวโน้มหลังจากนี้ ในส่วนของรายได้จะเริ่มเติบโตมากขึ้น โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3-5% ซึ่งเป็นรายได้สินเชื่อที่ฟื้นตัวได้จริง ขณะที่ NIM ก็น่าจะดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของสินเชื่อบุคคล
“ในเบื้องต้นประเมินว่ากำไรกลุ่มแบงก์น่าจะโตได้ 10% ในปีนี้ ไม่รวมกำไรพิเศษ ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งสำรองที่ลดลงด้วย แม้จะยังไม่ได้โตระเบิด แต่ก็เป็นกำไรที่เกิดจากการฟื้นตัวอย่างแท้จริง”
ส่วนความเสี่ยงต่อประมาณการคือการลงทุนในด้านดิจิทัล ทั้งจ้างพนักงานเพิ่ม และการตั้งหน่วยงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งมักจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อสร้างควาามสามารถในการแข่งขันในอนาคต
ทั้งนี้ มองว่าหุ้นอย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) น่าจะเป็นหุ้นที่โดดเด่นของกลุ่มแบงก์ในปีนี้ เนื่องจากมีฐานลูกค้ารายย่อยสูง ซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรสูงขึ้น
ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี การตั้งสำรองลดลง ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมกลับมาขยายตัว ส่วน Coverage Ratio ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับ NPL ที่ปรับลดลง
หากมองที่แบงก์ใหญ่จะมีเพียง SCB ที่ตั้งสำรองมากขึ้นจากไตรมาส 3 สวนทางกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ TTB
“ปีนี้มองว่ากลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะไทยคงไม่กลับไปล็อกดาวน์อีกแล้ว แม้จะมีการออกมาตรการควบคุมโควิดบ้าง ขณะที่มาตรการ Test & Go ที่จะเริ่มนำกลับมาใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อได้”
ขณะที่การตั้งสำรองฯ มีแนวโน้มจะลดลง หลังจากตั้งสำรองฯ สูงมาต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วจะช่วยให้กำไรของกลุ่มดีขึ้น ขณะที่ GDP ปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% ต่างจากปีก่อนที่โตเพียงเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วสินเชื่อมักจะเติบโตได้ 1.5-2 เท่าของ GDP
“ส่วนตัวมองว่าหุ้นอย่าง KBANK และ SCB ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยจะมีความโดดเด่นในปีนี้ ซึ่งทั้งสองแบงก์ลงุทนมาต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่า หากดูจาก Operating Expenses ของปีก่อน จะเห็นว่ารายจ่ายของ SCB และ KBANK ไม่ได้ขึ้นมากนัก เทียบกับ BBL ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP