ขณะที่ MILLI กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella กลายเป็น Talk of the Town สำหรับชาวเน็ตไทย แฟนเพลง K-Pop อีกมากมายก็มีความสุขกับการได้เห็น 2NE1 รียูเนียนอีกครั้ง รวมถึง NIKI, BIBI, Jackson Wang และอีกมากมาย (ส่วนผู้เขียนยิ้มไปกับการได้เห็น Utada Hikaru ขึ้นเวที)
ภาพเหล่านี้คือปรากฏการณ์ของเหล่าศิลปินเอเชียที่ได้ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Coachella ซึ่งแม้โชว์จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของงานเทศกาล แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในโชว์ที่ประสบความสำเร็จ ได้รับเสียงชื่นชมและการพูดถึงอย่างมากบนโลกอินเทอร์เน็ต (มากแค่ไหนก็คิดดูว่า The Guardian ยังต้องทำข่าวข้าวเหนียวมะม่วงของ MILLI)
เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการเปิดประตูให้แก่ศิลปินเอเชียเหล่านี้โดย ‘88rising’ ค่ายเพลงในสหรัฐอเมริกาที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของการเปิดประตูเชื่อมโลกสองใบระหว่างวัฒนธรรมดนตรีตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน
แต่พวกเขาไม่ได้ทำแค่นั้นและก็ไม่ได้เป็นแค่นั้นด้วย 88rising มีความเป็นมาอย่างไร และมี Key Success ในการทำธุรกิจของพวกเขาอย่างไร ลองมาไขประตูไปด้วยกันทีละบานกับกุญแจทั้ง 8 ดอกนี้
Jackson Wang กับการแสดงบนเวที Coachella ระหว่างเทศกาลดนตรีและศิลปะ Coachella Valley 2022 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2022 ในเมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย (ภาพ: Kevin Mazur / Getty Images)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- MILLI ขึ้นเวที Coachella ตะโกน “กูไม่ได้ขี่ช้างโว้ย” กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์ สร้างปรากฏการณ์ระดับโลก
- MILLI Effect: มิลลิกิน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ บนเวที Coachella แค่ 1 คำ ทำยอดสั่งซื้อบนเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า!
- The Guardian ตีข่าวยอดขาย ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ในไทยพุ่ง หลัง ‘มิลลิ’ กินโชว์บนเวที Coachella ด้านรัฐมองเป็น Soft Power สร้างชื่อให้
- ทำความรู้จัก 88rising ค่ายเพลงเอเชียที่พา MILLI ขึ้นไปโชว์ความปังใน Coachella 2022
1: ตั้งใจดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ย้อนหลังกลับไปในปี 2015 ฌอน มิยะชิโระ (Sean Miyashiro) และ เจสัน หม่า (Jason Ma) ตัดสินใจควักเงินส่วนตัวเพื่อก่อตั้งบริษัท 88rising (ชื่อดั้งเดิม CXSHXNLY หรือ CashOnly) โดยมีจุดมุ่งหมายด้วยการเป็น ‘VICE สำหรับวัฒนธรรมเอเชีย’
VICE ของมิยะชิโระก็คือ VICE เดียวกับที่เป็นขวัญใจของใครหลายๆ คนในฐานะของสื่อดิจิทัลสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนหรือกระบอกเสียงสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นสื่อตัวเล็กๆ เหมือนกัน แต่ด้วยความตั้งใจจริงในการเป็นกระจกสะท้อนสังคมที่ดีด้วยการ ‘พูดความจริง’ ทำให้ชนะใจผู้คนได้
ที่สำคัญคือพวกเขาไม่ได้แค่ทำคอนเทนต์เก่งอย่างเดียว แต่ยังหาเงินเก่งด้วยการตลาดที่ยอดเยี่ยม
ส่วนทำไมแรงบันดาลใจของเขาถึงเป็น VICE? นั่นเพราะมิยะชิโระเคยเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง THUMP สื่อดนตรีในเครือของ VICE นั่นเอง
การทำงานที่ THUMP สอนอะไรมิยะชิโระหลายอย่าง และทำให้เขารู้สึกว่ามันมีสิ่งที่เขาน่าจะทำได้และเขาอยากจะทำมันให้สำเร็จให้ได้ด้วย จึงเป็นที่มาของการเริ่มต้นกิจการของตัวเองในนาม 88rising (ส่วน THUMP ถูกบริษัทแม่ยุติกิจการในเดือนกรกฎาคม 2017) โดยสำนักงานแรกของเขาตั้งอยู่บนโรงรถ
“ในมุมการทำธุรกิจ VICE ทำงานกันเหมือนเครื่องจักร ผมทำงานจนสายตัวแทบขาดและทำงานไม่มีวันหยุดแม้ในวันสุดสัปดาห์ มันสอนผมอย่างดีให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าจรรยาบรรณในการทำงาน และเป็นสิ่งที่ผมนำมาถ่ายทอดสู่ 88rising”
สำหรับชื่อ 88rising นั้นมีที่มาจากเลข 88 ซึ่งสำหรับชาวจีนคือตัวเลขมงคลที่แปลว่า ‘ความสุขสองเท่า’ นอกจากนี้ในสำนักงานใหญ่ของพวกเขา โลโก้บริษัทตรงคำว่า Rising ยังใช้ตัวอักษรจีน ‘ซ่างเซิ่ง’ ที่แปลว่า ‘ขึ้น’ (ส่วนการสื่อสารสากลใช้เป็น 88⬆)
2: อ่านเกมขาด ตลาดเป็นของเรา
ถึงจะตั้งชื่อบริษัทตามตัวเลขมงคลของจีน แต่มิยะชิโระไม่ใช่ลูกหลานแดนมังกรแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เขาคือลูกครึ่งเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นที่เกิดและเติบโตบนแผ่นดินอเมริกา
แต่เพราะสายเลือดของคนเอเชียที่ทำให้มิยะชิโระ ‘สัมผัส’ ได้ถึงอะไรบางอย่างที่สำคัญ
การเติบโตในอเมริกาทำให้เขาได้รู้และเห็นกระแสความนิยมของวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปที่กลายเป็นความ ‘คูล’ ของเด็กวัยรุ่นอเมริกัน และด้วยความที่มีสายเลือดเอเชียในตัว ทำให้เขาหันกลับไปมองฝั่งตะวันออกและค้นพบว่าดนตรีฮิปฮอปก็เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเอเชียด้วยเช่นกัน
ปัญหาในช่วงก่อนหน้านี้คือ ในขณะที่ดนตรีฮิปฮอปจากตะวันตกไม่ใช่ทุกคนที่จะเจาะเข้ากลางใจของตลาดเพลงตะวันออกได้ โดยเฉพาะในประเทศจีน ในขณะเดียวกัน ศิลปินจากตะวันออกนั้นแทบไม่มีโอกาสได้แม้แต่จะ ‘แนะนำตัว’ ให้แฟนเพลงชาวตะวันตกได้รู้จักเลย จะมีข้อยกเว้นเพียงศิลปิน K-Pop เบอร์ใหญ่จริงๆ อย่าง BLACKPINK หรือ BTS ที่ต้องอาศัยพลังมหาศาลในการทำการตลาด
มันจะดีแค่ไหนหากจะมีใครสักคนที่ ‘เชื่อม’ สองโลกนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ถึงกับเป็นไอเดียใหม่
แต่ความแตกต่างระหว่าง 88rising กับที่อื่นคือ พวกเขาทำได้และทำได้ดีมากๆ ด้วย
ฌอน มิยะชิโระ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง 88rising กับการแสดงบนเวที Falls Festival เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2019 ในเมืองฟรีแมนเทิล ประเทศออสเตรเลีย (ภาพ: Matt Jelonek / WireImage)
3: ก่อนจะขายความจริง ขายฝันให้เป็นก่อน
ย้อนกลับไปในตอนที่มิยะชิโระออกจาก THUMP มีอยู่วันหนึ่งที่ โจนาธาน พัค (Jonathan Park) ศิลปินที่เขาเริ่มต้นดูแลได้เปิดคลิปวิดีโอเพลง It G Ma ของ Keith Ape ศิลปินชาวเกาหลีใต้ให้ฟัง และมันสะกิดอะไรบางอย่างในใจของเขาทันที
มิยะชิโระและพัค FaceTime หาศิลปินเกาหลีทันทีเพื่อชวนมาแสดงดนตรีที่สหรัฐอเมริกา จากนั้นเขาก็ร่างสัญญามูลค่าไม่ถึง 1 หมื่นดอลลาร์ ในการขอให้ Waka Flocka, A$AP Ferg และ Father มาร่วมกันบันทึกเสียงในเพลงรีมิกซ์ It G Ma ร่วมกับ Keith Ape และพัค
ในเวลาเดียวกันเขาก็ชวนเพื่อนไปร้านปิ้งย่างเกาหลีในลอสแอนเจลิส ก่อนจะเล่าให้ฟังว่าเขาอยากจะสร้างบริษัทที่ทำบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญขึ้นมา นั่นทำให้เพื่อนแนะนำมิยะชิโระรู้จักกับ อัลเลน เดอเบวัวส์ (Allen DeBevoise) จากบริษัท Third Wave Partners
มิยะชิโระใช้เวลาราว 20 นาที เล่าสิ่งที่เขาคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมเอเชียนที่อาจจะตอบโจทย์ต่อตลาดผู้ฟังที่ถูกทิ้งขว้างมานาน ไปจนถึงตลาดกระแสหลักให้เดอเบวัวส์ฟัง และทำให้ Third Wave Partners ตกลงลงทุนกับเขาด้วยทันทีและเป็นผู้สนับสนุนเจ้าแรก
“ผมได้ยินวิสัยทัศน์ของเขาและผมก็รู้สึกว่ามันใช่ ผมซื้อไอเดียเขาทันที น่าจะใน 20 นาทีได้” เดอเบวัวส์กล่าว
ขณะที่ ดอนนี กวาก (Donnie Kwak) บรรณาธิการเว็บไซต์ 88rising คนแรก พูดถึงมิยะชิโระว่า “หนึ่งในคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดของฌอนก็คือการขายฝัน” และนั่นทำให้ไม่ว่าเขาคุยกับใครก็จบง่ายไปหมด
แต่การขายฝันไม่ใช่คุณสมบัติแค่อย่างเดียว เพราะมิยะชิโระและทีมงานของพวกเขายังมีสายตาที่เฉียบขาดประดุจพญาเหยี่ยวด้วย
4: สายตาพญาเหยี่ยว
เรื่องราวการค้นพบศิลปินของมิยะชิโระที่ได้ร่วมงานกันในเวลาต่อมา แต่ละคนนั้นล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น
นอกจาก Keith Ape ที่เป็นศิลปินเบอร์แรกของพวกเขาแล้ว ยังมี Rich Chigga หรือชื่อจริง ไบรอัน อิมานูเอล (Brian Imanuel) ศิลปินแรปชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งโด่งดังจากผลงานเพลง Dat Stick ที่กลายเป็นเพลงฮิตชั่วข้ามคืน โดยที่หนึ่งในแฟนเพลงของเขาก็คือมิยะชิโระและพัค ที่มองเห็นศักยภาพในตัวศิลปินวัยรุ่นตั้งแต่ยังเป็นเด็กอายุแค่ 16 ปี
หลังจากนั้นตามมาด้วย Joji, NIKI และ Higher Brothers รวมถึง Ghostface Killah, 21 Savage, XXXTentacion, Trippie Redd, Ski Mask the Slump God, Kris Wu, Yaeji ที่ค่ายได้ร่วมงานด้วย
ศิลปินเหล่านี้นอกจากจะมีความสามารถที่โดดเด่นแล้วจะต้องมีคุณสมบัติอีกอย่างคือ ‘ต้องเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์’ ไม่ว่าจะเป็นคอมเมนต์บน YouTube หรือ # บนโซเชียลมีเดียอย่าง Twitter หรือการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างดุเด็ดเผ็ดมันบน Reddit หรือแม้แต่การเป็น ‘มีม’
ถ้ามีคนพูดถึงศิลปินเหล่านี้ 88rising พร้อมจะจับตามองทันที และพร้อมจะดึงตัวมาร่วมงานด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่นการชวนมาทำผลงานเพลงด้วย, การ Featuring หรือแม้แต่การเชิญมาร่วมงานบนเวทีที่พวกเขาเปิดโอกาสให้อย่างงาน Coachella เทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคนี้
โดยหนึ่งในศิลปินที่เข้าตาคือ MILLI (มินนี่-ดนุภา คณาธีรกุล) แรปเปอร์สาวข้าวเหนียวมะม่วงนั่นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้เธอ (และ YOUNGOHM) เคยร่วมงานกับ 88rising ถึง 2 ครั้งในงานเทศกาลดนตรีออนไลน์ Double Happiness: Global Digital Festival และในการหยิบเพลง The Weekend ของ BIBI ศิลปินหญิงชาวเกาหลีใต้ของ 88rising มารีมิกซ์
ทำความรู้จัก 88rising ค่ายเพลงเอเชียที่พา MILLI ขึ้นไปโชว์ความปังใน Coachella 2022 (ภาพ: THE STANDARD POP)
จากโชว์ที่ร้อนแรงและกระแสที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะท่อนแรปที่ดุดันหรือการหม่ำข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที เชื่อได้ว่ากระแสจะทำให้เธอมีโอกาสร่วมงานกับ 88rising มากขึ้นในอนาคต
5: เพลงที่ดีไม่ได้มีแค่เมโลดีกับเนื้อร้อง
ด้วยความที่มิยะชิโระทำงานกับ THUMP มาก่อน ทำให้เขาและทีมงานมีความเชื่อใน Storytelling และ Branding
‘พลังของการเล่าเรื่อง’ นั้นจะทำให้บทเพลงและศิลปินนั้นมีสิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่ง ขณะที่แบรนด์จะทำให้เกิดความภักดีในแบรนด์ ซึ่งสำหรับ 88rising แล้ว สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมาก
“สมัยอยู่ THUMP เรามีการพูดคุยกันบ่อยมากๆ เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ที่มีความหมาย” มิยะชิโระกล่าว ก่อนเล่าถึงวิธีการทำงานของพวกเขาที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่ต่างอะไรจากการเล่าเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเล่าจาก 1-2-3 แต่อาจจะเล่า 2-3-1 หรือ 2-1-3 ก็ยังได้
“มีหลายครั้งที่เราไม่ได้แต่งเพลงหรือเขียนเนื้อร้องให้เสร็จก่อน แต่เราเริ่มจากการคิดมิวสิกวิดีโอก่อน เราทำแค่ดนตรีคร่าวๆ ไว้ แล้วก็คิดถึงภาพในมิวสิกวิดีโอก่อน”
แต่ที่แน่ๆ คือพวกเขาไม่ทิ้งหัวใจสำคัญของการทำงานศิลปะ นั่นคือการที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามพวกเขาจะพยายามสร้าง ‘งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่’ เสมอ
“เรามีโอกาสดีที่จะสร้างบางสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์และน่าอัศจรรย์ ดังนั้นคนที่ทำงานให้ผมก็ควรจะทุ่มเทสุดตัวเหมือนกัน เราไม่ได้ทำได้อย่างสุดยอดแค่เรื่องของโปรดักชัน แต่เรายังปฏิบัติได้อย่างดีมากๆ ด้วย และมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้ได้”
6: YouTube แผงเทปที่ใหญ่ที่สุดของโลก
สำหรับคนยุคเก่าหากคิดอยากจะหาเพลงฟังแล้วสิ่งที่ต้องทำคือการเดินไปตลาดเพื่อไปตามหาแผงเทป ซึ่งหากจะอธิบายให้เด็กรุ่นใหม่เห็นภาพชัดขึ้นคือร้านขายเทปคาสเซตต์ที่จะมีอัลบั้มของศิลปินต่างๆ วางกันเป็นระเบียบบ้างไม่เป็นระเบียบบ้าง (แล้วแต่ความขยันของเจ้าของร้าน)
ความสุขของคนยุคนั้นคือการได้เดินไปส่องๆ เลือกๆ หาอัลบั้มที่ถูกใจนั่นเอง ถ้ามีก็ดีไป ถ้าหมดก็ต้องเดินมาดูใหม่ในวันหลัง
แต่สำหรับยุคนี้ 88rising รู้ว่าพวกเขาไม่สามารถพึ่งพายอดขายจากสิ่งที่จับต้องได้อย่างอัลบั้มอีกแล้ว แผงเทปของยุคนี้คือ YouTube ที่เข้าถึงทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา และที่สำคัญคือไร้พรมแดน
และถึง YouTube จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการทำเงินรายได้ที่อาจจะไม่ได้มากมายอะไรนัก โดยเฉพาะในช่วงแรก แต่ด้วยช่องทางนี้คือ ‘โอกาส’ ที่จะทำให้ผลงาน (หรือคอนเทนต์) ที่พวกเขาทำกระจายอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
88rising รู้ทันทีว่านั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ
เรียกได้ว่าเซอร์ไพรส์ทั้งสาวก K-Pop และชาวโลก สำหรับการรียูเนียนในรอบ 7 ปี ของวง 2NE1 พร้อมเขย่าเวที Coachella ด้วยเพลง I AM THE BEST (내가 제일 잘 나가) (ภาพ: Kevin Mazur / Getty Images)
7: Disney ที่ไม่ต้องมี Mickey Mouse
ถึงจะมีไอเดียสวยหรู แต่ในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท มิยะชิโระและทีมงานชุดแรกของพวกเขาก็เจอปัญหาคลาสสิกเหมือนกันเมื่อถึงเวลาปฏิบัติที่พวกเขาไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตดี
จะเป็นโปรดักชันเฮาส์ทำมิวสิกวิดีโออย่างเดียว? หรือจะทำคอนเทนต์สนับสนุนศิลปิน? แล้วคอนเทนต์จะทำแบบไหน จะเป็นสารคดีหรือเป็นคอนเทนต์สั้น หรือพวกเขาจะคอยดูแลแค่ศิลปินคอยหาตลาดให้เฉยๆ ดี
ในความสับสน สิ่งที่มิยะชิโระชัดเจนในความรู้สึกคือเขาอยากสร้าง 88rising ให้เป็นเหมือนดิสนีย์ (Disney) ในการเป็นบริษัทที่มีสื่อทุกแขนงเท่าที่จะจินตนาการได้ มีตั้งแต่สวนสนุก ร้านค้า ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์
ที่สำคัญคือพวกเขาคิดแบบ Disney คือการจุดประกายให้เกิดจินตนาการมากกว่าการปกปิดอะไรบางอย่าง
ดังนั้นในคำแนะนำตัวเกี่ยวกับ 88rising ใน Linkedin พวกเขาบอกเล่าเรื่องของตัวเองว่า “88rising คือบริษัทสื่อที่ก่อตั้งในปี 2015 โดยเป็นบริษัทการจัดการแบบ Hybrid Management, เป็นค่ายเพลง, ทำโปรดักชันวิดีโอ และเป็นบริษัทด้านการตลาด”
รายได้ของบริษัทจึงไม่ได้มาจากยอดจำหน่ายเพลงอย่างเดียวเหมือนค่ายเพลงในอดีต แต่อยู่บนพื้นฐานของบริษัทผลิตภาพยนตร์ นอกจากนี้พวกเขายังสามารถทำการตลาดได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกได้ว่าถ้า ‘ลูกค้า’ อยากจะให้พวกเขาผลิตอะไรขึ้นมาก็สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
ปัจจุบันนอกจาก 88rising แล้ว พวกเขายังแตกไลน์ทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีด้วย เช่น ซีรีส์อาหาร Eighty ATE และ Seoulfood รวมถึงก่อตั้งบริษัททำหนังและซีรีส์จริงๆ จังๆ อย่าง 88 Stories และ 88 Worlds ที่จะสามารถต่อยอดการทำงานกับศิลปินที่พวกเขาดูแลอยู่ด้วย
ส่วนเพลง? ปัจจุบันพวกเขาไม่ได้หยุดแค่ฮิปฮอปหรือแรป และก็ไม่ได้พอใจแค่การหากินกับศิลปินเอเชีย แต่พวกเขาเปิดกว้างทุกอย่าง เพราะรู้ว่ายุคนี้เราทุกคนคือ Global Citizen อินเทอร์เน็ตทำให้ไม่มีอะไรกั้นขวางการเดินทางของวัฒนธรรมได้แล้ว
สิ่งที่พวกเขาทำให้ดีที่สุดก็คือการหาทุกอย่างให้แก่ทุกคนที่ต้องการด้วยความเต็มใจ
8: มั่นคงอย่าหลงทาง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของ 88rising เด่นดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในงาน Coachella ครั้งล่าสุด โชว์ของพวกเขาที่นำศิลปินเอเชียมากมายขึ้นเวทีก็สร้างความประทับใจได้อย่างมาก โดยเฉพาะการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของ ‘2NE1’ เกิร์ลกรุ๊ปที่ได้รับการพูดถึงแม้แต่ใน billboard.com
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพวกเขาจะโตแค่ไหน ทีม 88rising ไปจนถึงศิลปินทุกคนรู้ดีว่าพวกเขาจำเป็นจะต้องเป็น Underdog เสมอ เพราะในวงการดนตรีนั้นไม่มีใครที่พิเศษ การตีความเกี่ยวกับการได้อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีว่าเป็นคนพิเศษคือการตีความที่ผิดพลาด
ในวงการนี้เป็นเรื่องง่ายที่จะหลงไปกับความสำเร็จว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป แต่ความจริงคือต่อให้ประสบความสำเร็จในวันนี้ก็ย่อมมีวันที่จะเจอช่วงเวลาที่ตกต่ำแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องมีความมั่นคงในตัวเอง ไม่ประมาท
เพราะเหตุนี้ทำให้พวกเขายืนหยัดในวงการได้แม้ในวันที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหนก็ตาม 88rising ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง นอกจากสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กแล้วยังขยายไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งใกล้หัวใจเอเชีย และล่าสุดคือการเปิดสำนักงานที่ลอสแอนเจลิส ที่ถือว่าอยู่ใกล้หัวใจของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกา
และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขากำลังก้าวเข้าไปอยู่ในหัวใจของนักฟังเพลงทั่วโลก รวมถึงแฟนเพลงชาวไทยที่รู้จักพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ จากปรากฏการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- https://www.forbes.com/sites/cheriehu/2018/02/26/how-88rising-wants-to-become-disney-for-the-next-wave-of-global-internet-culture/
- https://www.nytimes.com/2020/09/04/business/sean-miyashiro-88rising.html
- https://www.newyorker.com/magazine/2018/03/26/how-88rising-is-making-a-place-for-asians-in-hip-hop
- https://www.papermag.com/88rising-asian-representation-2638625195.html
- https://www.fastcompany.com/90491415/how-music-label-88rising-brought-asian-rap-culture-to-the-united-states
- https://riffmagazine.com/features/how-san-joses-sean-miyashiro-built-88rising/
- https://www.nme.com/en_asia/features/88rising-head-in-the-clouds-shang-chi-legend-of-the-ten-rings-sean-miyashiro-3068769
- https://www.linkedin.com/company/88rising/
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP