×

‘ประเทศไทยจะได้มงอีกไหม?’ 83 ปีกับวิวัฒนาการวงการนางงามไทย

โดย Homesickalienn
23.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เป็นเวลากว่า 83 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการจัดการประกวด ‘นางสาวสยาม’ ขึ้นใน พ.ศ. 2477 ซึ่งปีนั้นเองที่คำว่า ‘นางงาม’ ถูกบรรจุเข้าไปในความทรงจำของชาวไทย โดยมีสาวสวยตัวแทนจากจังหวัดพระนครนามว่า กันยา เทียนสว่าง เป็นผู้ครองตำแหน่งเกียรติยศนี้เป็นคนแรกของประเทศสยาม
  • อาภัสรา หงสกุล ได้ถูกประกาศชื่อให้เป็นนางงามจักรวาลในปี 1965 ซึ่งนับเป็นหญิงสาวจากทวีปเอเชียคนที่ 2 ที่สามารถพิชิตตำแหน่งเกียรติยศนี้ได้
  • พ.ศ. 2531 เป็นปีที่ตัวแทนจากประเทศไทยประสบความสำเร็จบนเวทีประชันความงามระดับสากลอีกครั้ง เมื่อ ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก เดินทางไปคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของประเทศไทยได้ที่ประเทศไต้หวัน นอกจากนั้น รองนางสาวไทยอันดับหนึ่งอย่าง ปรียานุช ปานประดับ ยังสามารถคว้าตำแหน่งมิสเอเชียแปซิฟิกได้ในปีเดียวกัน

 



“การทำตัวเด่นดังมันไม่ง่ายเลย ไข่มุกคิดแต่ว่าเราเป็นตัวแทนคนไทย ต้องให้สื่อต่างประเทศได้เห็นสายสะพายที่เขียนว่าไทยแลนด์ให้ได้ และถือว่าเราทำเต็มที่ทุกรอบ” – ไข่มุก-ชุติมา ดุรงค์เดช มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2009

 



หนึ่งในความฝันของเด็กสาวทั่วโลกคือการได้ก้าวขึ้นสู่บันไดแห่งดวงดาว สุกสกาวพร้อมมงกุฎบนศีรษะในฐานะ ‘นางงาม’ ผู้ซึ่งงามพร้อมทั้งกายและใจ ทั้งในสายตาของผู้คนทั่วไปและคณะกรรมการผู้ตัดสิน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ พวกเธอต้องฝ่าฟันการแข่งขันกับผู้เข้าประกวดมากมาย ยังไม่นับรวมการฝึกฝน บ่มเพาะความพร้อมทั้งทางร่างกายและสติปัญญา  


โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเวทีประกวดระดับนานาชาติ ซึ่งสาวงามตัวแทนแต่ละชาติต้องแบกรับความคาดหวังที่มาพร้อมสายสะพายคาดชื่อประเทศของตนเองด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำความภาคภูมิใจกลับมาสู่แผ่นดินแม่ ไม่ใช่แค่เพียงไปหาประสบการณ์แห่งชีวิต เรื่องราวต่อจากนี้คือโมเมนต์ที่เต็มไปด้วยความชื่นชมยินดีและความผิดหวังตลอดเส้นทางแห่งเกียรติยศในฐานะ ‘นางงาม’ ตัวแทนจากประเทศไทย ประเทศเล็กๆ แห่งทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน




 

The History ประวัติศาสตร์แห่งความงาม

เป็นเวลากว่า 83 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการจัดการประกวด ‘นางสาวสยาม’ ขึ้นใน พ.ศ. 2477 ซึ่งปีนั้นเองที่คำว่า ‘นางงาม’ ถูกบรรจุเข้าไปในความทรงจำของชาวไทย ในฐานะผู้หญิงซึ่งถูกเลือกแล้วว่ามีความเพียบพร้อม งดงามทั้งกิริยามารยาทและกายภาพอันสะดุดตา โดยมีสาวสวยตัวแทนจากจังหวัดพระนครนามว่า กันยา เทียนสว่าง เป็นผู้ครองตำแหน่งเกียรติยศนี้เป็นคนแรกของประเทศสยาม


อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการเปลี่ยนชื่อการประกวดเป็น ‘นางสาวไทย’ ใน พ.ศ. 2482 ประเทศไทยต้องรอจนถึง พ.ศ. 2496 สำหรับการได้รับโอกาสเข้าร่วมประกวดนางงามระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งสุภาพสตรีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในปีนั้น ได้แก่ อมรา อัศวนนท์ ผู้ซึ่งถึงแม้จะมีตำแหน่งเป็นเพียงรองนางสาวไทยในปีนั้น แต่ด้วยความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่โดดเด่นกว่าหญิงไทยอื่นใดในการประกวด บวกกับความพร้อมทางด้านทุนทรัพย์ส่วนตัว เธอจึงเป็นตัวแทนของประเทศไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 1954 ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่มีอายุเพียง 16 ปี และถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้รับรางวัลใดๆ กลับมา แต่เธอก็ได้นำพาสายสะพายประเทศไทยไปสร้างความสนใจให้กับชาวต่างประเทศได้ไม่น้อย




 

 

มงใหญ่มงแรก



ในที่สุดแฟนนางงามชาวไทยก็ได้เฮกันอย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อ อาภัสรา หงสกุล นักเรียนสาวไทยจากโรงเรียนคอนแวนต์ในเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2507 ได้ถูกประกาศชื่อให้เป็นนางงามจักรวาลประจำปี 1965 นับเป็นหญิงสาวจากทวีปเอเชียคนที่ 2 ที่สามารถพิชิตตำแหน่งเกียรติยศนี้ได้ โดยคนแรกคือ อากิโกะ โคจิมะ นางงามจักรวาลประจำปี 1959 จากประเทศญี่ปุ่น 




นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคทองของวงการนางงามไทยในเวทีนางงามจักรวาลช่วงแรก ซึ่งหากอธิบายด้วยศัพท์นางงามก็คงจะเรียกว่าเป็น ‘ประเทศสายสะพายแข็ง’ ด้วยสถิติการเข้ารอบติดต่อกัน 2 ปี และยังสามารถคว้าตำแหน่งรองนางงามจักรวาลอันดับที่ 2 มาครองได้ โดยสาวงามท่านนั้นมีนามว่า จีรนันทน์ เศวตนันทน์ นางสาวไทยประจำปี พ.ศ. 2508


มีข่าวลือกันว่าจีรนันท์อาจจะถูกวางตัวให้เป็นผู้ชนะมงใหญ่ (ตำแหน่งนางงามจักรวาล) เสียด้วยซ้ำ หากปีก่อนหน้าผู้ชนะไม่ใช่อาภัสราจากประเทศไทย เนื่องจากในยุคนั้น องค์กรมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe Organization) ยังไม่มีนโยบายให้ประเทศเดียวกันได้เป็นผู้ชนะมงกุฎนางงามจักรวาล 2 ปีติดต่อกัน และหากจีรนันทน์ได้รับตำแหน่งรองอันดับหนึ่ง เธอก็มีสิทธิ์จะถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นนางงามจักรวาล หากสาวงามผู้คว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลไม่สามารถรับผิดชอบภาระหน้าที่ของเธอได้ ลงท้ายจีรนันทน์จึงได้รับตำแหน่งรองนางงามจักรวาลอันดับ 2 ไปโดยดุษณี




พ.ศ. 2510 เป็นอีกหนึ่งปีที่ตัวแทนสาวไทยสามารถฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาลได้ โดย อภันตรี ประยุทธเสนีย์ เป็นอีกหนึ่งตัวแทนสาวไทยที่มีความฉะฉานทางด้านภาษาอังกฤษ ได้เข้าไปยืนเป็นหนึ่งใน 15 สาวงามผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย พ่วงด้วยตำแหน่งชุดว่ายน้ำยอดเยี่ยม และยังเป็นปีแรกที่รองนางสาวไทยได้รับตำแหน่งรองอันดับ 4 มิสอินเตอร์เนชันแนล หรือนางงามนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น (รุ่งทิพย์ ภิญโญ) และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้สิทธิ์ในการส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวดมิสเวิลด์ หรือนางงามโลก (พินนะรัฐ ทนันไชย) โดยสามารถเข้ารอบ 15 คนสุดท้ายได้เช่นกัน นับเป็นหนึ่งในปีที่ตัวแทนสาวไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดบนเวทีการประกวดขาอ่อนระดับนานาชาติ

 

มีรุ่ง ย่อมมีจุดพัก

กาลต่อมา เวทีนางสาวไทย รวมไปถึงการส่งตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมประกวดในระดับนานาชาตินั้นถูกงดเว้นเป็นเวลาถึง 10 ปี นับตั้งแต่เหตุวิกฤตทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนกระทั่งสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมป์ ได้เข้ามาฟื้นฟูการประกวดนางสาวไทยใน พ.ศ. 2527 โดยมี สาวิณี ปะการะนัง เป็นผู้ครองมงกุฎ และได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 1984 ที่เมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอสามารถทะลุเข้าถึงรอบ 10 คนสุดท้ายได้ด้วยคะแนนซึ่งมาเป็นลำดับที่ 6 

หลังจากนั้น 4 ปีต่อมา สาวิณีได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยอีกครั้งเพื่อเข้าประกวดมิสซิสเวิลด์ (การประกวดนางงามซึ่งผ่านการสมรสแล้ว) ประจำปี 1988 ซึ่งเธอสามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมและตำแหน่งรองอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ

 

 




มิสไทยแลนด์เวิลด์ กับการเข้าร่วมประกวดมิสเวิลด์ของประเทศไทย



พ.ศ. 2528 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ริเริ่มการประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ขึ้นภายใต้สโลแกน ‘งามอย่างมีคุณค่า’ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนสาวไทยไปประกวดนางงามโลก หรือมิสเวิลด์ หลังจากที่ประเทศไทยไม่ได้มีการจัดประกวดเพื่อหาตัวแทนไปเวทีนานาชาติเวทีนี้อย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้เป็นเพียงการแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมเพื่อไปประกวดเท่านั้น




เวทีมิสเวิลด์เป็นหนึ่งในเวทีระดับนานาชาติที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีผู้ชนะมาจนถึงทุกวันนี้ ถามว่ามีสาวงามหลายคนที่เคยได้เข้าไปยืนในจุดซึ่งเกือบจะสามารถคว้าตำแหน่งอันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ ซึ่งเราจะพูดถึงในโอกาสต่อไป




มงจักรวาลที่สองที่รอคอย


พ.ศ. 2531 กลายเป็นปีที่ตัวแทนจากประเทศไทยประสบความสำเร็จสูงที่สุดบนเวทีระดับนานาชาติด้วยการเดินทางไปคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลคนที่ 2 ของประเทศไทย โดย ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก หรือ ‘ปุ๋ย’ พ่วงด้วยตำแหน่งชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมจากการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 1988 ที่ประเทศไต้หวัน


นอกจากนั้น รองอันดับหนึ่งนางสาวไทยในปีเดียวกันอย่าง ปรียานุช ปานประดับ ยังสามารถสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนนางงามด้วยการข้ามน้ำข้ามทะเลไปคว้าตำแหน่งมิสเอเชียแปซิฟิกประจำปีเดียวกันมาครองได้สำเร็จเป็นคนที่ 2 ของประเทศไทย พ่วงด้วยรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยม รางวัลขวัญใจช่างภาพ และรางวัลนางงามบุคลิกดี (สาวงามคนแรกที่ไปคว้ามงกุฎในการประกวดเดียวกันนี้มาได้ ได้แก่ ศิรินภา สว่างล้ำ ในขณะที่ชื่อการประกวดยังเป็นมิสเอเชีย ในปี 1978) 




การคว้าตำแหน่งนางงามจักรวาลของภรณ์ทิพย์นั้นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘ปุ๋ยฟีเวอร์’ โดยเธอสามารถยึดพื้นที่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อรายใหญ่แทบจะทุกแขนงในประเทศไทย ณ ขณะนั้นเป็นเวลาหลายวัน และส่งอิทธิพลต่อวงการบันเทิง วงการนักข่าว หรือแม้แต่วงการแฟชั่นเป็นเวลานานอีกหลายปี จนถึงขั้นมีคนกล่าวว่า หากมีเด็กสาวที่มีชื่อเล่นว่า ‘ปุ๋ย’ เราสามารถอนุมานได้เลยว่าเด็กคนนั้นจะต้องเกิดภายในช่วง พ.ศ. 2531-2534 เป็นแน่แท้

 

https://www.youtube.com/watch?v=3nuJg6kN5gU&feature=youtu.be

 

ยุคมืดของประเทศไทยบนเวทีนางงามจักรวาล 



นับตั้งแต่ประเทศไทยได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลใน พ.ศ. 2531 สายสะพายไทยแลนด์ก็กลับเข้าสู่ความเงียบสงัดมาอย่างยาวนาน


แต่ในทางกลับกัน สายสะพายไทยเป็นที่น่าจับตาพอสมควรบนเวทีการประกวดนางงามโลก ด้วยบุคลิกของผู้ชนะมิสไทยแลนด์เวิลด์ซึ่งมีความเป็นนานาชาติและทันสมัยในตัวค่อนข้างมากกว่านางสาวไทย ทำให้ตัวแทนสาวไทยที่พกพาความมั่นใจทั้งทางด้านบุคลิกและภาษาอังกฤษ ทั้งยังสามารถทำผลงานได้ดีบนเวทีนี้ โดย ปทุมรัตน์ วรมาลี มิสไทยแลนด์เวิลด์ประจำปี พ.ศ. 2532 สามารถฝ่าด่านเข้ารอบลึกถึง 5 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดนางงามโลกประจำปี 1989 ที่ประเทศฮ่องกง โดยทำคะแนนมาเป็นอันดับ 4 (หรือรองอันดับที่ 3 หากมีการมอบตำแหน่ง) ควบด้วยรางวัลราชินีความงามแห่งทวีปเอเชีย


เช่นเดียวกับ เมทินี กิ่งโพยม หรือ ‘ลูกเกด’ มิสไทยแลนด์เวิลด์ประจำปี พ.ศ. 2535 ซึ่งได้เข้าร่วมประกวดนางงามโลกประจำปี 1992 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ และสามารถคว้าตำแหน่งราชินีความงามแห่งทวีปเอเชียมาได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปได้ก็ตาม รวมถึง ธัญญา สื่อสันติสุข ซึ่งสามารถเข้าถึงรอบ 5 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามโลกประจำปี 1997 ที่ประเทศเซเชลส์ ด้วยความมั่นใจอันเต็มเปี่ยมและบุคลิกภาพอันดีเยี่ยมทั้งในรอบตอบคำถาม สุนทรพจน์ และการเดินชุดราตรี จนถึงขั้นที่เธอต้องให้สัมภาษณ์ว่า เธอพร้อมจะกลับมาเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อไปประกวดนางงามจักรวาลอีกหนึ่งเวทีเสียด้วยซ้ำ 




สำหรับแฟนนางงามชาวไทย ช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2535-2545 ถือเป็นช่วงเวลาที่เงียบเหงาที่สุดในการเชียร์สายสะพายไทยแลนด์บนเวทีระดับนานาชาติ นางงามไทยถูกมองว่าขาดความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะความสามารถด้านใช้ภาษาสื่อสารในการแข่งขัน และขาดความพร้อม การสนับสนุนที่ดีจากสปอนเซอร์ภายในประเทศ ทั้งเรื่องของชุดราตรีที่ใช้เข้าแข่งขัน รวมถึงการฝึกฝนในด้านต่างๆ เช่น การเดินบนเวที รวมถึงการตีโจทย์ไม่แตกในแต่ละบริบทของเวทีการประกวดระดับนานาชาติ 

อย่างไรก็ตาม มีตัวแทนจากประเทศไทยบางส่วนที่ยังสามารถนำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวไทยได้ เช่น วรรัตน์ สุวรรณรัตน์ รองนางสาวไทยอันดับ 1 ประจำปี พ.ศ. 2540 ที่สามารถเดินทางไปคว้ามงกุฎในการประกวดมิสเอเชียแปซิฟิกประจำปี 1997 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึง วรรณษา ทองวิเศษ รองมิสไทยแลนด์เวิลด์อันดับ 2 ประจำปี พ.ศ. 2540 ก็ได้ไปคว้าตำแหน่งรองอันดับ 1 ในการประกวดมิสไชนิสอินเตอร์เนชันแนลประจำปี 1998 หลังจาก พรนภา เทพทินกร สามารถคว้าตำแหน่งสูงสุดในการประกวดเดียวกันได้ในปี 1994

 

 




ตื่นตัวอีกครั้ง

เป็นเวลากว่า 18 ปีที่ชื่อของประเทศไทยไม่ถูกเรียกเข้ารอบสุดท้ายบนเวทีนางงามจักรวาล จนกระทั่งการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2006 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไอยวริญท์ โอสถานนท์ (ชื่อเดิมคือ อรวรินธ์ โอสถานนท์) สามารถผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายไปได้ในที่สุด และในปีถัดมา ในการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2007 ที่ประเทศเม็กซิโก ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม ผู้ที่มาพร้อมส่วนสูง 179 เซนติเมตร ได้ถูกประกาศให้เป็นผู้เข้ารอบ 15 คนสุดท้าย หลังจากที่เธอถูกมองว่าเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่เริ่มต้นการประกวด ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักสำหรับตัวแทนสาวไทยในเวทีระดับนานาชาติ  

นางงามไทยในยุคโซเชียลมีเดีย



ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีทำให้แฟนนางงามนั้นก้าวเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือตัวแทนประเทศไทยสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อประกวดในระดับนานาชาติ ณ ปัจจุบัน หญิงสาวผู้คาดสายสะพายไทยแลนด์ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่ต้องผ่านหูผ่านตาแฟนนางงาม ซึ่งนั่นหมายถึงว่าพวกเธอต้องได้รับทราบคำติชม คำแนะนำ รวมถึงเคล็ดลับต่างๆ เพื่อใช้ในการประกวดในระดับนานาชาติ และสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มในการส่งผลดีต่อตัวนางงามเองมากกว่าผลเสีย เพราะนอกจากตัวนางงามจะได้มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองตลอดเวลาเพื่อชนะใจคนดูแล้ว ความช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายก็ยังจะถูกส่งมอบต่อมาสู่ตัวนางงามได้ในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน ทั้งในด้านของการโหวตเพื่อเข้ารอบ และการสร้างกระแสให้ตัวแทนของประเทศตนเองในระหว่างการประกวดระดับนานาชาติ

 

 




มงจักรวาลที่ 3 ความฝันที่ใกล้เพียงเอื้อม



ในขณะที่การคว้าตำแหน่งนางงามโลก (มิสเวิลด์) อาจจะยังดูเป็นสิ่งที่แฟนชาวไทยได้แต่มองตาละห้อย ไม่ว่าเนื่องด้วยเหตุผลใดๆ แต่สำหรับเวทีนางงามนานาชาติ (มิสอินเตอร์เนชันแนล) และนางงามปฐพี (มิสเอิร์ธ) หรือการประกวดอื่นๆ เช่น มิสซูปราเนชันแนล หรือมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นเวทีที่เจ้าของลิขสิทธิ์คือคนไทยเอง และมิสอินเตอร์คอนทิเนนตัล ตัวแทนสาวงามจากประเทศไทยยังถือว่าทำผลงานได้ดีในระดับที่น่าพอใจอยู่


แต่หนึ่งในการประกวดที่แฟนๆ ชาวไทยให้การติดตามมากที่สุดในแง่ของความนิยม การให้ความร่วมมือในการเสนอข่าวของสื่อ และความกระตือรือร้นของภาครัฐรวมทั้งเอกชนในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อเตรียมความพร้อมแก่ตัวแทนสาวงามก็คงจะหนีไม่พ้นนางงามจักรวาล หรือมิสยูนิเวิร์ส โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-3 ปีมานี้ที่ตัวแทนสาวไทยทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจาก อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ สาวน้อยจากจังหวัดลำปาง ผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ประจำปี พ.ศ. 2558 และสามารถพุ่งทะลุเข้าสู่รอบ 10 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาลได้เป็นครั้งแรกในนามประเทศไทยในรอบ 28 ปี รวมทั้งสามารถเป็นผู้ชนะในการประกวดรางวัลชุดแต่งกายประจำชาติบนเวทีเดียวกันได้อีกด้วย และเพียงอีกหนึ่งปีถัดมา ชลิตา ส่วนเสน่ห์ สาวน้อยผู้ไม่เคยผ่านเวทีการประกวดใดๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กลายเป็นสตรีไทยคนแรกในรอบ 29 ปีที่สามารถผ่านเข้ารอบ 6 คนสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาลได้ นับตั้งแต่ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ครองตำแหน่งนางงามจักรวาลเมื่อปี พ.ศ. 2531 



 

เช้าวันที่ 27 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ (คืนวันที่ 26 พฤศจิกายน ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา) มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ประจำปี พ.ศ. 2560 จะคาดสายสะพายไทยแลนด์ก้าวขึ้นสู่เวทีประกวดรอบสุดท้ายในการประกวดนางงามจักรวาล ครั้งที่ 66 ณ เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการถูกจับตามองจากสื่อต่างๆ รวมถึงกูรูนางงามทั่วโลก ในฐานะผู้เข้าประกวดที่มีแนวโน้มจะเป็นตัวเก็งเต็งหามประจำปีนี้ โดยแฟนๆ ชาวไทยทุกคนสามารถร่วมส่งแรงเชียร์แรงใจและโหวตเพื่อให้ตัวแทนของประเทศไทยมีสิทธิ์เข้ารอบสุดท้ายอย่างอัตโนมัติได้ทาง www.missuniverse.com โดยสามารถโหวตได้วันละ 10 ครั้งต่อ 1 บัญชีผู้ใช้ หรือทางทวิตเตอร์ โดยการติดแฮชแท็ก #MissUniverse #Thailand (โดยตัวอักษร M U T เป็นตัวพิมพ์ใหญ่) เพื่อสร้างความมั่นใจว่าตัวแทนสาวไทยนาม ‘มารีญา’ จะนำพาชื่อเสียงและความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวไทย ซึ่งในทุกวันนี้ จากการทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการประกวด มารีญาก็สามารถชนะใจแฟนนางงามไทยไปได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยทัศนคติที่ดี ความเป็นธรรมชาติ ความงามที่ออกมาจากภายใน และความสวยสดใสดุจเจ้าหญิงซึ่งผู้คนสามารถมองเห็นได้จากภายนอก ถึงแม้อาจจะมีบางเสียงบอกว่าเธอมีใบหน้าที่มีความเป็นชาวต่างชาติมากเกินไป แต่หากมองลึกลงไป ‘ความเป็นไทย’ ซึ่งถูกปลูกฝังอยู่ข้างในตัวเธอเองต่างหากคือสิ่งบ่งชี้ว่านี่คือหนึ่งตัวแทนประเทศไทยที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เราจะสามารถเฟ้นหาไปแข่งขันกับนางงามคนอื่นในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ



 

 

Cover Photo: T-Pageant

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X