วันนี้ (18 มกราคม) เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า วุฒิสภามีการศึกษาและจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญในมาตรา 158 ซึ่งเดิมกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี ให้สามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่จำกัด
เสรีกล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ได้หยิบหยกประเด็นนี้มาพูด ซึ่งเสรีระบุว่า ณัฐวุฒิเข้าใจว่าเป็นการศึกษาเพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญ และเป็นประโยชน์กับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็เลยเป็นที่สนใจ ข้อเท็จจริงเป็นการศึกษา ดูข้อดี-ข้อเสีย ส่วนจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างทำได้ยากและจะต้องผ่านประชามติ
“ในมุมมองส่วนตัว ผมคิดว่าจะอยู่ 8 ปีได้หรือไม่นั่นคือต้องผ่านการเลือกตั้ง 2 สมัย ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกพรรคไหนให้ได้เสียงข้างมากในสภา แล้วเสียงก็มาจากประชาชน และปัจจุบันนี้เราต้องตัดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งออก ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ ฉะนั้นระยะเวลา 8 ปีในปัจจุบัน ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปใส่” เสรีกล่าว
เสรียังได้กล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบหน้า ซึ่ง ส.ว. ยังมีสิทธิในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า แม้ ส.ว. จะยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ต้องได้เสียงมาเกินกึ่งหนึ่งก่อน เพราะไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ส.ว. เพียงอย่างเดียว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเสียงมาเกินกึ่งหนึ่งหรือถล่มทลาย ส.ว. พร้อมจะสนับสนุนหรือไม่ เสรีกล่าวว่า ก็ต้องมาดูกันว่าพรรคที่ ส.ว. จะสนับสนุนนั้นต้องไม่สร้างปัญหาให้กับประเทศ ถ้าพรรคที่ได้คะแนนมาก แต่มีส่วนที่อาจเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันฯ ตนไม่เลือกแน่นอนแม้จะได้เสียงข้างมาก เพราะเป็นภัยและไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ตนต้องเอาประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
“จริงๆ ไม่รู้หรอกว่าฝั่งประยุทธ์หรือประวิตรมากกว่ากัน แต่สุดท้าย ส.ว. ก็คงแตกออกไปไม่มากหรอก ถ้าต้องตัดสินใจคงไปในทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่” เสรีกล่าว
ส่วนกรณีที่ถามว่า ตนเองจะเลือกใครนั้น คงเลือกได้ทั้งสองคนทั้ง พล.อ. ประวิตร และ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ต้องดูเหตุผลและตัดสินใจหลังการเลือกตั้งเสร็จแล้วว่าพรรคไหนได้คะแนนเท่าไร และมีคู่แข่งที่น่าสนใจหรือไม่