×

8 เรื่องต้องรู้ เมื่อสมรสเท่าเทียมผ่านรัฐสภาไทย

18.06.2024
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ในเรื่องความหลากหลายทางเพศของไทย เพราะเป็นวันที่วุฒิสภามีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกกันลำลองว่า ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสภาชั้นแรก ได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา 

 

จากนี้ไปกระบวนการก็จะเดินต่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 145 กล่าวคือ รัฐสภาก็จะส่งร่างกฎหมายที่เสร็จเรียบร้อยนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี และเมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแล้วก็จะรอไว้ 5 วัน เผื่อจะมีประเด็นหยิบยกไปศาลรัฐธรรมนูญ หากมีการตีประเด็นว่า การร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาตัวบทหรือกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และถ้าไม่มีการชงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีก็จะมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อที่ทรงลงพระปรมาภิไธย ทั้งนี้ เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วถึงใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81

 

เพื่อประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจและเตรียมต้อนรับกฎหมายฉบับนี้ จึงขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ ดังนี้

 

1. หมั้นและสมรสได้โดยไม่จำกัดเพศ

 

แต่เดิมการหมั้นและการสมรสต้องเป็นการกระทำระหว่างชายโดยกำเนิดและหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องหมั้น แต่เดิมอนุญาตให้ชายโดยกำเนิดเป็นฝ่ายเข้าไปหมั้นหญิงโดยกำเนิด หญิงจึงเป็นฝ่ายรับหมั้น บัดนี้กฎหมายจะอนุญาตให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็สามารถหมั้นและสมรสได้ เป็นการปลดล็อกเงื่อนไขเรื่องเพศในการหมั้นและการสมรส 

 

นอกจากนั้นในมุมมองเรื่องหมั้น ที่แต่เดิมให้ชายโดยกำเนิดเท่านั้นที่จะเป็นผู้รุกเริ่มนำของหมั้นไปหมั้นหญิง ก็กลับกลายเป็นว่าใครใคร่หมั้นก็หมั้น ไม่มีข้อที่จะต้องบังคับกะเกณฑ์ว่าเพศชายต้องเป็นฝ่ายรุกเริ่ม ซึ่งหมายความว่า กฎหมายให้อิสระในการกำหนดชีวิตเป็นสถาบันครอบครัวของบุคคลโดยไม่คำนึงเพศ แม้กระทั่งเรื่องฝ่ายเริ่มต้นเข้าหาอีกฝ่ายเพื่อการมอบของหมั้น ก็ไม่มีการกำหนดเจาะจงเพศอีกต่อไป

 

2. ปรับคำในกฎหมายครอบครัวให้ครอบคลุมโดยไม่จำกัดเพศ

 

ตามที่กฎหมายเดิมใช้คำว่า ‘ชาย’, ‘หญิง’ ซึ่งเป็นการใช้คำที่ระบุถึงเพศกำเนิด นอกจากนั้นยังมีการใช้คำว่า ‘สามี’, ‘ภริยา’ และ ‘สามีและภริยา’ ซึ่งก็เป็นการกำหนดสถานะในกฎหมายครอบครัวที่ขึ้นอยู่กับเพศกำเนิด ดังนั้นเมื่อหลักการต้องการสลายประเด็นเรื่องเงื่อนไขทางเพศกำเนิดให้หมดไป จึงนำไปสู่การปรับใช้คำว่า ‘บุคคล’, ‘ผู้หมั้น’, ‘ผู้รับหมั้น’ และ ‘คู่สมรส’ เข้าไปแทนที่ เพื่อให้ครอบคลุมบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรส โดยไม่ตีกรอบว่าต้องเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้มาตราต่างๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องถูกปรับไปทั้งสิ้น 60 กว่ามาตรา 

 

3. ขยายเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่าไปถึงกรณีมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเพศใด

 

เดิมเรื่องเหตุเรียกค่าทดแทนและเหตุหย่า กฎหมายกำหนดเฉพาะกรณีที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่หมั้นหรือคู่สมรสของตน ในลักษณะจำกัดกรอบว่าเกิดจากกิจกรรมทางเพศที่เรียกว่า ‘การร่วมประเวณี’ หรือความสัมพันธ์ ‘ทำนองชู้สาว’ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการครอบคลุม จึงขยายถ้อยคำไปให้รวมถึงกิจกรรมทางเพศที่ไม่จำกัดเฉพาะแต่เรื่องการร่วมประเวณี ที่อาจถูกตีความว่าเป็นการร่วมเพศกันระหว่างชายและหญิงกันโดยมีการสอดใส่เท่านั้น หากแต่เพิ่มเติมถ้อยคำเพื่อให้รวมถึงกิจกรรมทางเพศที่มุ่งสนองความใคร่ไม่ว่ากระทำกับบุคคลเพศใดด้วย และคำที่ใช้ว่า ‘ทำนองชู้สาว’ ก็ตัดคำว่า ‘สาว’ ออก เป็นคำว่า ‘ทำนองชู้’ เพื่อตัดประเด็นคู่ความสัมพันธ์ในทางเพศ

 

4. เพิ่มเหตุหย่าให้ชัดเจนสำหรับเรื่องกิจกรรมทางเพศระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน

 

เหตุหย่าประการหนึ่งที่ให้สิทธิแก่คู่สมรสที่จะใช้สิทธิหย่าหรือไม่ก็ได้ นั่นคือ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่อีกฝ่าย ‘ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล’ ดังนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้เปิดโอกาสให้เพศใดก็สามารถสมรสได้ จึงเพิ่มเติมถ้อยคำให้เป็นเงื่อนไขที่ชัดเจนขึ้นคือ ‘ไม่อาจกระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของอีกฝ่ายได้ตลอดกาล’ เป็นเหตุฟ้องหย่าเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันการตีความคำว่า ‘ไม่อาจร่วมประเวณี’ ที่อาจถูกตีความว่าเป็นเรื่องกิจกรรมทางเพศระหว่างชายและหญิงที่มีการสอดใส่เท่านั้น

 

5. คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

 

การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันเป็นสิทธิที่ได้มาโดยอัตโนมัติอยู่แล้วมาแต่เดิมสำหรับบุคคลที่เป็นคู่สมรสกัน ดังนั้นเมื่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นคู่สมรสกันตามกฎหมายได้แล้ว บทบัญญัติในส่วนการรับบุตรบุญธรรมจึงเปิดช่องให้เข้ามามีสิทธินี้โดยไม่ต้องสงสัย กล่าวได้ว่า ต่อไปนี้คู่สมรสในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นเพศใด ย่อมใช้สิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้อย่างเสมอภาค

 

6. อายุขั้นต่ำในการหมั้นและสมรสขยับเป็น 18 ปี

 

แต่เดิมกฎหมายครอบครัวกำหนดให้บุคคลจะหมั้นและสมรสได้ต่อเมื่อมีอายุ 17 ปีขึ้นไป แต่กฎหมายฉบับนี้ถือโอกาสขยับปรับเปลี่ยนอายุเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเยาวชน เรื่องนี้แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยตรง แต่ก็ต้องควรบันทึกไว้ว่า ประเด็นการคุ้มครองเยาวชนนี้ก็แซมร่วมขบวนเข้ามาด้วย

 

7. รอมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันนับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษา

 

กฎหมายนี้ไม่ได้มีผลทันทีเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบในวันนี้ หากแต่ยังมีกระบวนการที่ต้องดำเนินการต่อดังที่ได้กล่าวข้างต้น โดยในที่สุดหากประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันใด ก็ต้องนับต่อไปอีก 120 วันที่พ้นจากวันที่ประกาศ ซึ่งหมายความว่า จะมีผลในอีกประมาณ 4 เดือน ซึ่งในระหว่าง 4 เดือนนี้ก็จะเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานต่างๆ ต้องซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมกันสำหรับการจดทะเบียนสมรสในมิติใหม่ รวมถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการใช้และการตีความกฎหมายที่จะพลิกโฉมไปจากเดิม

 

8. ให้หน่วยงานของรัฐเตรียมสังคายนากฎหมายทั้งระบบต่อไป

 

มาตราสุดท้ายของกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานของรัฐต้องทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับสามี ภริยา สามีและภริยา หรือคู่สมรส ที่กระจัดกระจายตามกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสที่เกิดขึ้นจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ ซึ่งหมายความว่า การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ไม่ทำให้จบลงแค่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่กำลังส่งผลต่อไปในอนาคตให้เกิดการพิจารณาสะสางกฎหมายอื่นๆ โดยมีการกำหนดให้ต้องเร่งทำภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ ซึ่งผลของการทบทวนจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อที่คณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ จะได้ดำเนินการและคิดหาทางแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

บทสรุป

 

เป็นนิมิตหมายอันดีที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อมองไปยังโลกแล้วก็ถือว่าไทยมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองในมิติเอเชีย ไทยถือเป็นลำดับที่ 3 ต่อจากไต้หวันและเนปาล ที่มีการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องราวที่ดีที่เกิดขึ้นตรงกับ Pride Month และน่าจะเป็นบันไดสู่การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในมิติอื่นต่อไปในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X