วันนี้ (21 มิถุนายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน สถานการณ์วิกฤตพลังงานที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบหนักหน่วงในหลายมิติ ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบางประเทศก็งดส่งออกโภคภัณฑ์ที่จำเป็น ทำให้ห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนทั่วโลก ซึ่งมีผลผูกพันทั้งสิ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 8 ในรอบหลายสิบปี โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้สินค้าราคาแพง ซึ่งคาดว่าอาจใช้เวลานานในการฟื้นตัว
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า ตนและรัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และกังวลใจไม่น้อยกว่าคนอื่น จึงได้มีการประชุมหารือมาตรการรับมือตลอดเวลา วันนี้ ครม. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน ทั้งขยายมาตรการเก่าที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ออกไปอีก 3 เดือน และออกมาตรการใหม่
ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือช่วยกันประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐ, เอกชน, ภาคอุตสาหกรรม, ขนส่ง และภาคประชาชนให้มากที่สุด โดยให้แต่ละหน่วยงานออกนโยบายที่เหมาะสมตามศักยภาพของหน่วยงาน ปิดไฟ-เปิดไฟ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ ส่งเสริมให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ใช้การประชุมออนไลน์ โดยในส่วนของภาครัฐกำหนดให้ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็นตัวชี้วัดของหน่วยงาน
ทั้งนี้ การประชุม ครม. วันนี้เห็นชอบ 8 มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน รวม 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เจอผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ซึ่งมีทั้งมาตรการใหม่และมาตรการเดิมที่จะหมดอายุ ประกอบด้วย
- ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
- ผู้ขับขี่แท็กซี่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ซื้อได้ในราคา 13.62 บาท
- กำหนดกรอบการขายปลีกก๊าซหุงต้มที่ 408 บาทต่อถัง
- ให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท สำหรับหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็น 100 บาทต่อเดือน
- ช่วยเหลือค่าน้ำมันผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 250 บาทต่อเดือน
- อุดหนุนราคาดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนของราคาที่เกิน 35 บาทต่อลิตร และขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร
- ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซิน
- มาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยว ให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน มาลดหย่อนภาษีได้ 1.5-2 เท่า ยาวถึงสิ้นปี
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินสถานการณ์ เรื่องนี้คงไม่สิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งจะให้มีการประชุมร่วมกันหารือในเรื่องการเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ตามสมมติฐาน หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปเป็นระยะเวลาเท่านี้ เราควรจะทำอะไรได้บ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะมีปัญหาที่จะพอกพูนไปเรื่อยๆ ในเรื่องการดูแลการสมทบต่างๆ และจะมีปัญหาด้านงบประมาณการเงินการคลังต่อไปในอนาคต เราต้องเตรียมแผนความพร้อมไปเรื่อยๆ ทั้งมิติด้านพลังงาน อาหาร ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น เราต้องวางแผนระยะยาว ตนได้แนะแนวทางนี้มาตลอดอย่างต่อเนื่อง
“รัฐบาลยืนยันว่าจะพยายามหาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ บนพื้นฐานของวินัยการเงินการคลังที่มีความสมดุล และจะต้องไม่ก่อภาระในอนาคตจนมากเกินไป จึงขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วย หลายอย่างเราก็ลดภาษีลง ทำให้รายได้เราลดลง ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้อย่างคุ้มค่าและประหยัดด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน” พล.อ. ประยุทธ์กล่าวในที่สุด