วันนี้ (6 มกราคม) สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขปัญหาการรุกตัวน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและมาตรการรองรับว่า จากการคาดการณ์พบว่า ช่วงประมาณวันที่ 8-15 มกราคมนี้ ลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำโดยตรง
ดังนั้น มาตรการเร่งด่วนนอกจากการระบายน้ำจาก 2 เขื่อนหลักตอนบน ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อผลักดันน้ำเค็มแล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มีอยู่จำกัด จึงต้องมีการปรับแผนลำเลียงน้ำจากฝั่งตะวันตก ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำฯ มากกว่า ระบายผ่านแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันของการประปานครหลวง (กปน.) กรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งนอกจากจะช่วยในการรักษาคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย
ปัจจุบันได้มีการดึงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่าน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย
- คลองท่าสาร-บางปลา
- คลองจรเข้สามพัน โดยขณะนี้มีการปรับอัตราการระบายเพิ่มขึ้น จาก 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อนน้ำไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนเข้าสู่คลองพระยาบันลือและไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้กรมชลประทานกำลังพิจารณาเพิ่มปริมาณน้ำในคลองพระยาบันลือให้มากขึ้น
- คลองประปา ปัจจุบัน กปน. ปรับการระบายเพิ่มขึ้นเป็น 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ยังไม่เพียงพอ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก 10 ลูกบาศก์เมตรต่อสินาที ทั้งนี้ ในส่วนของคลองประปาด้านหลังที่เชื่อมกับคลองบางกอกน้อย อาจจะต้องมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำหรือใช้ระบบสูบน้ำเข้าช่วย
นอกจากนี้กรมชลประทานโดยการสนับสนุนจาก กทม. และกองทัพเรือ อาจต้องมีการวางกระสอบทรายปิดกั้น เพื่อช่วยให้น้ำลำเลียงเข้าสู่คลองบางกอกน้อยให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวได้ร่วมกันเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการดำเนินการได้เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ และจะต่อเนื่องไปในอีก 3-4 วันข้างหน้านี้
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการวิเคราะห์ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว และยืนยันว่า น้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองยังคงอยู่ในปริมาณที่กำหนดไว้คือ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้ใช้ไปแล้วกว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้งในการประเมินล่าสุดยังพบว่า สามารถผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งลุ่มน้ำแม่กลองได้มีการสำรองน้ำไว้เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ น้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและฤดูฝนที่จะมาถึง ปริมาณน้ำที่ผันมานี้จึงนับว่า เป็นน้ำส่วนที่มากเกินความต้องการ สามารถผันมาช่วยเหลือแม่น้ำเจ้าพระยาได้ โดยมั่นใจได้ว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของชาวแม่กลองอย่างแน่นอน
นอกจากนี้กรมชลประทานจะพยายามปล่อยน้ำที่กักเก็บไว้ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้ทันต่อช่วงวันที่ 8-15 มกราคมนี้ เป็นการควบคุมไม่ให้ลิ่มความเค็มไม่ให้ขึ้นสูง จนกระทบต่อความกร่อยของน้ำประปา แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอาจส่งผลกระทบถึงคุณภาพน้ำอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี การประปานครหลวงจะรับหน้าที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะนำไปใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อให้การใช้น้ำประปาไม่เกิดปัญหาต่อสุขภาพของประชาชน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล