ราคาหุ้น บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (7UP) ถูกแรงซื้อกระชากขึ้นมาอีกครั้งในช่วงการซื้อขายภาคบ่ายของวันนี้ (10 สิงหาคม) ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นร้อนแรงจนมาปิดตลาดที่ระดับ 1.30 บาท เพิ่มขึ้น +0.14 บาท หรือ +12.07% มูลค่าการซื้อขาย 2,103.19 ล้านบาท
โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา รชต พุ่มพันธุ์ม่วง กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 7UP ได้รายงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพิ่มเติมว่า ได้เข้าไปซื้อหุ้น 7UP เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 รวม 2.95 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 3.5 ล้านบาท
การซื้อครั้งนี้แบ่งเป็นการซื้อหุ้นสามัญรวม 1.95 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 1.48 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 2.88 ล้านบาท และหุ้นบุริมสิทธิอีก 1 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 0.61 บาท คิดเป็นมูลค่า 6.1 แสนบาท
สำหรับรายงานการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่รชตได้ขายหุ้น 7UP ออกมา 5.35 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าราว 9.05 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 โดยแบ่งเป็นการขายหุ้นสามัญรวม 4.65 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 1.83 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 8.51 ล้านบาท และขายหุ้นบุริมสิทธิรวม 7 แสนหุ้น ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 0.77 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 5.39 แสนบาท
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า กล่าวว่า หุ้น 7UP เคลื่อนไหวอย่างหวือหวาในวันนี้ ประเมินว่าเป็นการรีบาวด์ทางเทคนิคหลังจากก่อนหน้านี้ได้ปรับตัวลดลงทดสอบค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่ระดับ 0.94 บาท ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจในขณะนี้พบว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่สำคัญ
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าในระยะนี้มีหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวอย่างหวือหวาจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพคล่องในระบบ (m2) มีค่อนข้างสูง อยู่ที่ราว 23.1 ล้านล้านบาท โดยสภาพคล่องส่วนนี้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในฐานะนักลงทุนทั่วไป สะท้อนได้จากหุ้นที่เคลื่อนไหวอย่างผันผวนที่มักจะเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว
“จะเห็นได้ว่ามีหุ้นที่เคลื่อนไหวอย่างหวือหวาอยู่เยอะมากๆ ในช่วงนี้ ไม่ใช่แค่ 7UP หุ้นเดียวเท่านั้น ส่วนใหญ่หุ้นที่ราคาหวือหวาในช่วงนี้จะมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือเป็นหุ้นไซส์กลางหรือเล็ก และปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับสัดส่วนสภาพคล่อง (m2) ในระบบที่ 23.1 ล้านล้านบาท กับ Market Cap ตลาดหุ้นไทยที่ 18.1 ล้านล้านบาท จะคิดเป็นสัดส่วน 1.27 เท่า ซึ่งเริ่มใกล้กับค่าเฉลี่ยที่ 1.5 เท่า นั่นสะท้อนว่าสภาพคล่องในระบบเริ่มหนืด และอาจจะไม่ได้มีเงินลงทุนจากนักลงทุนทั่วไปเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยในจำนวนที่มากนัก
ดังนั้นนักลงทุนที่ลงทุนระยะสั้นหรือลงทุนรายวัน ต้องลงทุนอย่างระมัดระวังและประเมินหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานเพิ่มด้วย
นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า หุ้น 7UP ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวหวือหวาและปรับลดลงช่วงหนึ่งหลังจากถูกมาตรการกำกับซื้อขายระดับ 2 ซึ่งมีผลถึงวันที่ 24 สิงหาคม โดยหุ้น 7UP ได้รับแรงเก็งกำไรจากนักลงทุนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างกลุ่มพุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีการเปิดเผยการซื้อ-ขายหุ้นออกมา