×

78 ปี ระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิ มรดกความเจ็บปวดที่ยังตกทอดถึงลูกหลาน

09.08.2023
  • LOADING...
ปรมาณู นางาซากิ

“ไม่ใช่แค่เหยื่อจากระเบิดปรมาณูโดยตรงที่ทรมาน แต่คนในครอบครัวก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน ส่วนลูกหลานของผู้ที่รอดชีวิตจากระเบิดครั้งนั้น แม้จะผ่านมา 2 หรือ 3 รุ่นแล้ว ก็ยังต้องทุกข์ใจกับปัญหาด้านสุขภาพ”

 

นี่คือสารจากลูกสาวของ ‘ฮิบากคุชะ’ (Hibakusha) ซึ่งเป็นคำศัพท์เฉพาะที่ญี่ปุ่นใช้เรียกผู้รับเคราะห์จากเหตุระเบิดปรมาณูถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิ ที่แม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแค่ไหน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างรอยเป็นแผลตกค้างอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ และยังคงเป็นอุทาหรณ์ให้คนรุ่นหลังเห็นถึงความเลวร้ายของสงคราม

 

ชื่อของเธอคือ นาโอโกะ ซาโตะ บุตรสาววัย 59 ปีของ ซานาเอะ อิเคดะ ผู้ล่วงลับ บิดาของเธอคือหนึ่งในเหยื่อที่รอดชีวิตจาก ‘ไอ้อ้วน’ หรือระเบิดปรมาณู Fat Man ที่ถูกปล่อยลงจากท้องฟ้า ก่อนที่จะถล่มเมืองนางาซากิของญี่ปุ่นจนราบเป็นหน้ากลองในชั่ววินาที เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 หรือก็คือวันนี้ แต่เป็นเมื่อ 78 ปีก่อนหน้า

 

ในฐานะฮิบาคุชะรุ่นที่ 2 ในวันนี้ซาโตะได้ใช้ชีวิตของเธออย่างมีความหมายด้วยการเรียกร้องสันติภาพให้กับโลก โดยนอกจากเธอจะเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการร่างคำประกาศสันติภาพของญี่ปุ่นแล้ว เธอยังทำงานในฐานะ ‘พยานของครอบครัว’ ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ของบิดา หนึ่งในผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

 

THE STANDARD ขอถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตจริงของเหยื่อระเบิดปรมาณูจากปากของลูกสาวที่ยังเดินหน้าบอกเล่าประสบการณ์ของผู้เป็นพ่อ จากบทความที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ Mainichi ของญี่ปุ่นวันนี้ ในโอกาสครบรอบ 78 ปี เหตุระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิ 

 

เธอหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปถึงวันที่ 9 สิงหาคม 1945 …

 

อิเคดะ (บิดาของซาโตะ) เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของครอบครัวซึ่งมีพี่น้อง 6 คนด้วยกัน ในเวลานั้นอิเคดะเป็นหนุ่มน้อยวัยเพียง 12 ปีที่กำลังเดินไปซื้อของกับคุณแม่ ก่อนที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันจะเกิดขึ้น เมื่อระเบิดพลูโตเนียมรหัส Fat Man ถูกปล่อยลงมาจากฟากฟ้าในเวลา 11.02 น. โดยจุดศูนย์กลางของระเบิดอยู่ห่างจากสองแม่ลูกแค่เพียงประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น

 

สิ้นสุดเสียงระเบิด อิเคดะรีบวิ่งกลับไปที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางระเบิดไปเพียงแค่ 800 เมตร ภาพที่เห็นตรงหน้าคือร่างไร้วิญญาณของซูซูโกะ น้องสาววัย 6 ขวบที่ถูกเผาไหม้เกรียมอยู่ข้างคูน้ำ ส่วนซาบูโระ น้องชายวัย 3 ขวบ ก็ทรมานจากบาดแผลหนัก ก่อนที่จะสิ้นลมหายใจในวันที่ 16 สิงหาคม 1945 หรือ 1 วันหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบาก เขาเป็นคนที่ลงมือขุดหลุมฝังศพของน้องชายแทนพ่อกับแม่ ส่วนพี่น้องอีก 3 คนก็ทยอยเสียชีวิตลงในอีกไม่กี่วันต่อมา

 

ในเวลาต่อจากนั้นอีก 1 ปี สึกิ ผู้เป็นแม่ ก็เริ่มป่วยติดเตียงในปี 1946 ส่วนฮโยโซ ผู้เป็นพ่อ ก็ตาบอดในปีเดียวกัน ทำให้เขาต้องลาออกจากงานที่เทศบาลจังหวัดนางาซากิ ภาระอันหนักอึ้งจึงตกมาอยู่ที่อิเคดะ ลูกชายคนเดียวที่ยังมีชีวิตรอด อิเคดะต้องออกจากโรงเรียนมัธยมและมาทำงานหาเลี้ยงพ่อแม่ที่ป่วยจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

 

แต่ภาระที่หนักอึ้งนั้นก็อยู่เพียงไม่นาน มิใช่เพราะเขาโชคดีแต่อย่างใด แต่นั่นเป็นเพราะผลพวงจากระเบิดทำให้พ่อและแม่ของเขาเสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร โดยสึกิเสียชีวิตลงในวัย 49 ปี หรือหลังจากเหตุระเบิดเพียงแค่ 10 ปี ส่วนฮโยโซเสียชีวิตในวัย 66 ปี หรือหลังจากสึกิเสียชีวิตแค่เพียงอีก 2 ปีต่อมา

 

แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่อิเคดะเองก็ได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดครั้งนั้น โดยเขาหูหนวกที่ข้างขวา และมีภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลางเมื่ออายุได้ 44 ปี หลังจากนั้นเขาก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและเนื้องอกในหลอดอาหาร แม้จะต้องเผชิญกับโรคร้ายแทรกซ้อนไม่จบสิ้น แต่อิเคดะก็ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งในช่วงปลายวัย 40 ปี ด้วยการเดินสายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภัยร้ายของระเบิดปรมาณูให้โลกได้รู้

 

“ผมเกลียดสงคราม ผมเกลียดระเบิดปรมาณู ผมเกลียดอาวุธนิวเคลียร์” นี่คือถ้อยคำที่เขากล่าวกับผู้ที่มาร่วมรับฟังการบรรยาย ซึ่งบางปีนั้นเขาได้เดินสายบรรยายมากกว่า 100 งานต่อปีเลยทีเดียว

 

เมื่อปี 2011 ขณะที่อิเคดะมีอายุเกือบ 80 ปี เขาเกิดหกล้มจนกระดูกหัก ทำให้ในเวลานั้นเขาให้ขอให้ซาโตะ ลูกสาวคนโตของตนเอง สานต่อเจตนารมณ์ในการบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ต่อไป ซึ่งซาโตะเองก็ได้ตกปากรับคำที่จะทำตามความปรารถนาของผู้เป็นพ่อ เพราะเธอเองก็มีลูกชายอายุเท่าๆ กับเมื่อครั้งที่พ่อของเธอเจอกับระเบิด

 

“หากสงครามปะทุขึ้น ลูกชายของเราอาจถูกส่งไปรบและอาจเสียชีวิต ฉันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้าบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามในอดีตให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อสร้างโลกที่ปราศจากสงครามต่อไป” ซาโตะกล่าว

 

ในปี 2014 ซาโตะได้ก้าวขึ้นมาเป็น ‘พยานของครอบครัวเหยื่อระเบิดปรมาณู’ อย่างเต็มตัว โดยได้รับการฝึกอบรมจากเทศบาลจังหวัดนางาซากิ เธอเดินตามรอยเท้าของบิดา ด้วยการเดินสายบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ตามโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ นอกจากนี้เธอยังดำรงตำแหน่งประธานขององค์กรฮิบาคุชะรุ่นที่ 2 ซึ่งเธอมีโอกาสได้เห็นความยากลำบากที่ลูกหลานของฮิบาคุชะต้องเผชิญ รวมถึงบุคคลหนึ่งที่เติบโตมาพร้อมกับน้องที่พิการแต่กำเนิด ซึ่งทำให้เขาอดถามตัวเองไม่ได้ว่า “เพราะพ่อแม่ของฉันได้รับรังสีจากระเบิดหรือเปล่า น้องของฉันจึงต้องพิการเช่นนี้”

 

วินาทีที่อาวุธนิวเคลียร์ถูกปล่อยลงมา ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่พื้นดินที่ราบเป็นหน้ากลองหรือคนที่ตายลงในทันที แต่มันยังมีความเสียหายที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งแผ่ขยายไปถึงครอบครัวและคนรุ่นลูกรุ่นหลาน และหลายคนบนโลกไม่เคยทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้

 

“ฉันหวังว่าความเชื่อของพ่อของฉันที่ว่า โลกของเราควรห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างเด็ดขาดจะแพร่กระจายไปยังผู้คนจำนวนมากขึ้น” ซาโตะกล่าว

 

ภาพ: Charles Levy / Keystone-France / Gamma-Keystone via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising