สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา PRIDI #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย ‘ความคิดสันติภาพของ ปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
ในวาระ 77 ปี วันสันติภาพไทย โดย ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยฯ ให้การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ อีกทั้งยังเป็นวันรำลึกถึงคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของไทย
วิทยากรประกอบด้วย
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- รัศม์ ชาลีจันทร์
- อนุสรณ์ ธรรมใจ
- พงศกร รอดชมภู
ดำเนินรายการโดย เคท ครั้งพิบูลย์
ไทยตอบแทนบุญคุณปรีดี โดยให้ท่านอสัญกรรมในต่างประเทศ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันประกาศเอกราชของชาติไทย แต่ทำไมคนไทยสมัยนี้ไม่เข้าใจ แม้แต่งานที่จัดที่ธรรมศาสตร์วันนี้ก็ไม่มีตัวแทนของรัฐบาลมา เพราะรัฐบาลเป็นรัฐบาลกึ่งดิบกึ่งดี เป็นรัฐบาลที่ไม่เห็นความสำคัญของสันติภาพ ไม่เห็นความสำคัญของเอกราช ขณะที่เอกราชนั้นเป็นหัวใจของประเทศชาติ และเอกราชนั้นนำมาซึ่งสันติภาพเพื่อความผาสุกของราษฎร
วันสันติภาพนี้ เป็นโบแดงชิ้นสุดท้ายที่อาจารย์ปรีดีได้ฝากไว้ให้พวกเรา โบแดงชิ้นแรกของอาจารย์ปรีดี คือวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนจากกษัตริย์เหนือกฎหมาย เป็นกษัตริย์หลุดจากอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ราษฎรยังไม่ได้เป็นใหญ่ จนกระทั่งวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เป็นวันแรกที่มีธรรมนูญการปกครองบ้านเมือง และธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ เป็นธรรมนูญการปกครองที่ดีที่สุดเท่าที่เราเคยมี สั้นที่สุด ได้สาระที่สุด เป็นธรรมนูญที่กำหนดชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม เดิมทีเดียวอำนาจสูงสุดเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าชีวิต พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย แต่ธรรมนูญฉบับนี้บอกว่า พระเจ้าแผ่นดินและราษฎรมีฐานะเท่าเทียมกันในทางกฎหมายทุกอย่าง ทุกประการ
งานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์ปรีดี ซึ่งไม่ได้รับความสำเร็จคือ การเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ โดยอาจารย์ปรีดีเห็นว่าคนเราเท่าเทียมทางกฎหมายอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย แม้จะไม่เท่าเทียมทั้งหมด แต่จะต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ต้องเป็นรัฐสวัสดิการ อาจารย์ปรีดีถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อาจารย์ปรีดีก็ไม่ได้ท้อแท้
วันที่ 27 มิถุนายน 2477 อาจารย์ปรีดีก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้คนยากคนจนได้เข้าเรียน ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นเปิดโอกาสให้คนมาเรียนเพื่อไปเป็นขุนนาง เป็นใหญ่เป็นโต แต่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียน เพื่อสำนึกถึงธรรมะ นำธรรมะมาเป็นศาสตราที่แหลมคม มารับใช้บ้านเมือง
อาจารย์ปรีดีมีเพื่อน มีกัลยาณมิตร มีผู้ร่วมงานจากแวดวงต่างๆ และวันสันติภาพไทย มาจากขบวนการเสรีไทย ซึ่งอาจารย์ปรีดีริเริ่ม และมีผู้คนร่วมมือกันทั้งประเทศ โดยที่คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเขาอยู่ในขบวนการเสรีไทย แต่คนเหล่านั้นต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ เพื่อเอาชนะญี่ปุ่นซึ่งยึดครองประเทศ เป็นความภาคภูมิใจที่คนรวมตัวกันได้ทั้งหมด
เมื่ออาจารย์ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านแลเห็นแล้วว่าสงครามจะมาจากยุโรป ท่านผลิตภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ก่อนสงคราม เพื่อเตือนสติคนว่าสันติภาพดีกว่าสงคราม และสงครามนั้นทำเพราะผู้ปกครองบ้านเมืองมีความเห็นแก่ตัว ราษฎรไม่เกี่ยวข้องแต่ต้องเดือดร้อน
วันสันติภาพไทยเกี่ยวโยงไปทั้งหมด เพื่อความเป็นความตาย เพื่ออิสรภาพ เสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีอาจารย์ปรีดีเป็นคนสำคัญในขบวนการนี้
แต่แล้วประเทศชาติแห่งนี้ก็ตอบแทนบุญคุณอาจารย์ปรีดี โดยที่ท่านต้องไปอยู่ประเทศจีนถึง 21 ปี ไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสอีก 16 ปี และต้องไปตายที่ประเทศนั้น นายกรัฐมนตรีไทยในเวลานั้น ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานองคมนตรีและเป็นรัฐบุรุษ พูดคำเดียวว่า เสียใจ ขณะที่รัฐสภาซึ่งอาจารย์ปรีดีเป็นส่วนสำคัญในการก่อตั้งมา ไม่ได้แสดงความไว้อาลัยแม้สัก 1 นาที นี่แหละประเทศสยาม ซึ่งกลายเป็นไทยแลนด์
สุลักษณ์กล่าวด้วยว่า ชนชั้นปกครองพร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ฝ่ายความเท็จไม่อยู่ฝ่ายความจริง ขอให้ท่านทั้งหลายพินิจพิจารณาดูว่า การที่เราจะเดินไปข้างหน้า เราต้องรู้จักอดีต และอดีตนั้นต้องเข้าหาความจริง และความจริงนั้นต้องเข้าใจว่า วันสันติภาพนั้นเป็นวันที่สำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์
รัฐบาลไทยทิ้งห่างหลักการของปรีดี ไปอุ้มรัฐบาลทหารเมียนมา ยืนตรงข้ามประชาคมโลก
รัศม์ ชาลีจันทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 77 ปีที่อาจารย์ปรีดีประกาศวันสันติภาพไทย โดยเนื้อแท้แล้วการประกาศวันสันติภาพเมื่อ 77 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องด้านการต่างประเทศ เพราะตอนนั้นประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้ทำเมื่อ 77 ปีที่แล้วส่งผลอย่างมาก ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
แม้ว่าจะมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาคอยช่วย แต่สิ่งที่ท่านทำถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ช่วยให้เรารอดพ้นในสภาวะที่เราจะกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งจะมีภาระค่าปฏิกรรมสงครามตามมาอีกมากมาย ถือเป็นความสามารถของอาจารย์ปรีดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
การวางตัวเป็นกลาง การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในเวทีประชาคมโลก และการพยายามสร้างการรวมกลุ่มในภูมิภาคอาเซียน
อาจารย์ปรีดีเป็นเสมือนผู้วางรากฐานนโยบายต่างประเทศของไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ในช่วงนั้นประเทศไทยเพิ่งหลุดพ้นจากลัทธิอาณานิคม ซึ่งลัทธิอาณานิคมมีส่วนที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็ย่างเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า ยุคสงครามเย็น
ยุคสงครามเย็น ประเทศไทยทิ้งห่างจากหลักการของอาจารย์ปรีดีไปมาก เราไม่ได้วางตัวเป็นกลาง เราไปเข้าข้างสหรัฐอเมริกาเต็มที่ แล้วให้สหรัฐอเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นฐานที่จะเข้าไปรุกรานโจมตี เอาเครื่องบินไปถล่มเพื่อนบ้าน ในช่วงนั้นรัฐบาลของไทยที่อนุญาตให้จัดตั้งฐานทัพต่างๆ ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริง เป็นยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่ โดยพฤตินัยแล้วอาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาไปโดยปริยาย เพราะโดยหลักแล้ว การให้ชาติอื่นมาตั้งฐานทัพในประเทศ แล้วให้ฐานทัพนั้นไปโจมตีประเทศอื่นได้ ไม่ถือว่าเป็นประเทศที่มีเอกราชโดยสมบูรณ์ การตั้งฐานทัพนั้นพอได้ แต่การตั้งฐานทัพแล้วไปโจมตีคนอื่น โจมตีประเทศรอบบ้าน เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง ประเทศที่มีเอกราชแท้จริงจะไม่ทำ
รัศม์กล่าวว่า แนวโน้มของโลกจะเห็นว่า ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่านิยมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในโลกถดถอยลงอย่างมากแทบทุกพื้นที่ในโลก แม้แต่สหรัฐอเมริกาประเทศผู้นำประชาธิปไตยเองก็ยังถดถอยได้ ในยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ค่านิยมทางด้านประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในอเมริกาก็ถดถอย
รอบบ้านเราเองในอาเซียน แทบไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยเหลืออยู่ ทุกวันนี้ที่พอเชิดหน้าชูตาได้ก็คืออินโดนีเซีย รองลงมาคือมาเลเซีย สิงคโปร์ก็เป็นอย่างที่เขาเป็น แต่ที่เหลือแทบไม่มีประเทศไหนเลยที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ไทยเราเองเคยเป็นแนวหน้าของอาเซียน ของเอเซีย ในเรื่องความก้าวหน้าของประชาธิปไตย เห็นได้เช่นกันว่าประชาธิปไตยเราก็ถดถอยไปเช่นเดียวกัน โดยมีการทำรัฐประหาร และการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นมีประชาชนคนไทยไม่น้อยที่สนับสนุนความคิดเช่นนี้ สนับสนุนเผด็จการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความถดถอยเรื่องค่านิยมประชาธิปไตยในสังคมด้วย
แนวโน้มของการจะเกิดสงครามที่จะทำลายสันติภาพมีได้เยอะ ในกรณีที่ประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชน ยิ่งให้ความสำคัญน้อยเท่าไร โอกาสที่ผู้นำจะทำสงครามก็ยิ่งมีโอกาสสูงเท่านั้น เป็นแนวโน้มสำคัญในโลกปัจจุบัน
เมื่อย้อนกลับมาถึงประเทศไทย ส่วนตัวพูดอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยนั้นกินได้ เพราะทุกวันนี้ประชาธิปไตยไปผูกโยงกับการทำธุรกิจและเศรษฐกิจต่างๆ การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ หรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สร้างสรรค์ ไม่สามารถแยกออกจากการเมืองภายในหรือสถานะของประเทศตนเองได้ การต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภายใน ถ้าภายในเรานิ่ง ถ้าภายในเรามีความชอบธรรม สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้นโยบายต่างประเทศเราดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันประเทศไทยทำหลายอย่างที่ไม่เป็นไปอย่างนโยบายที่อาจารย์ปรีดีวางไว้ ซึ่งควรจะเป็นแนวหลักที่ถูกต้อง ไม่ว่าการวางตัวเป็นกลาง หรือการมีบทบาทในทางสร้างสรรค์ในด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาที่น่าหนักใจและค่อนข้างแย่มาก คือการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเราเรื่องเมียนมา เพราะทุกวันนี้รัฐบาลไทยปัจจุบันซึ่งก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในตัวเอง และการที่เราไปผูกยึดโยงหรือคอยแก้ต่างให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาตลอดเวลา ทำให้เรายืนอยู่ตรงข้ามกับประชาคมโลก ซึ่งประชาคมโลกเขามีแต่รังเกียจรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา แต่เรากลับพยายามไปปกป้องหรือพยายามโอบอุ้มตลอดเวลา ตรงนี้ทำให้เราถูกผลักออกไปจากเวที หรือกระแสของสังคมโลกที่ควรจะเป็น อันนี้น่าเป็นห่วง
สุดท้าย ถ้าเราอยากเห็นนโยบายต่างประเทศที่ดี รวมทั้งสันติภาพในโลกนี้ มีความจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นฟูหรือช่วยกันผลักดันให้ความคิดในระบบประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชนในสังคมกลับคืนมา และมีความเข้มแข็งทั้งในประเทศของเราและในประชาคมโลกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนที่สามารถช่วยให้เกิดสันติภาพในโลกได้อย่างแท้จริง
ขบวนการเสรีไทย หลอมรวมสามัญชนจนถึงเจ้านายที่เชื่อมั่นในเรื่องอธิปไตย
อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า วันสันติภาพไทยมีความเกี่ยวเนื่องกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการที่หลอมรวมคนทุกชนชั้น ตั้งแต่สามัญชนจนถึงเจ้านาย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, ท่านชิ้น (พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน) หลายคนเป็นเจ้านาย รวมทั้งสามัญชนอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสามัญชนมากมายที่สละชีวิต สละความสุขความสบายส่วนตัว ในการเข้าร่วมขบวนการนี้
เรามักพิจารณาว่าเป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราช ต่อสู้เพื่ออธิปไตย ต่อสู้กับความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร แล้วไปเข้าร่วมกับฝ่ายที่มองว่าไม่เป็นธรรม เพราะไปรุกรานประเทศอื่น แบบนี้ไม่ใช่สันติวิธีแบบขบวนการของมหาตมะ คานธีหรือไม่ เพราะต้องการต่อสู้
แต่ถ้ามองให้ลึก เราจะเห็นว่าขบวนการนี้เป็นขบวนการเพื่อสันติภาพ ในขณะเดียวกัน เพราะการสร้างสันติภาพมีหลายวิธีการ สิ่งที่อาจารย์ปรีดีทำ คือต้องการให้เกิดสันติภาวะ คือไม่เห็นด้วยกับคนที่รุกราน ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองที่ไม่ถูกต้อง แต่ถ้ากรณีขบวนอหิงสาของมหาตมะ คานธี การต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย นั่นคือสันติวิธี หรือขบวนการการต่อสู้ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เพื่อสิทธิของคนผิวสี นั่นคือสันติวิธี
ขบวนการเสรีไทยต้องการให้เกิดสันติภาวะ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างสันติภาพ แล้วการหลอมรวมคนทุกชนชั้น ซึ่งเดิมหลายคนก็มีความขัดแย้งกัน เพราะเราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ได้สงบเท่าไร เพราะ Counter Revolution การอภิวัฒน์โดยคณะราษฎร การอภิวัฒน์โดยขบวนการของประชาชน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ถูกโต้กลับตลอดเวลา
เราจึงเห็นมีการกบฏ มีการรัฐประหาร แต่ขบวนการเสรีไทยได้หลอมรวมคนที่มีอุดมการณ์ อย่างน้อยที่สุดเชื่อมั่นในเรื่องอธิปไตย เชื่อมั่นในความเท่าเทียม เชื่อมั่นในเรื่องประชาธิปไตย เชื่อมั่นใจเรื่องเอกราช อันนี้เป็นจุดสำคัญ
ในสมัยที่อาจารย์ปรีดีเห็นว่าโลกนี้มีปัญหาและจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก เพราะเห็นการขยายตัวของลัทธิเผด็จการทหาร แล้วภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ไม่ได้ฉายแค่เมืองไทย แต่ไปฉายที่ลอนดอนและนิวยอร์ก นี่คือความคิดวิสัยทัศน์ที่แหลมคมและกว้างไกลมาก เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยรักสันติภาพ เป็นบทเรียนในปัจจุบัน ไทยควรจะวางตัวเป็นกลาง นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุดภายใต้ความขัดแย้ง แต่แค่วางตัวเป็นกลางยังไม่พอ เราต้องส่งออกความคิดสันติภาพ เราต้องส่งออกความคิดที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย โดยใช้ข้อมูลข่าวสารความรู้ เราจะยอมปล่อยให้รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาไล่ยิงผู้คนของเขาหรือ เราต้องบอกรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาว่าอย่าทำแบบนี้ เส้นทางที่ถูกต้องคือคุณต้องคืนอำนาจให้ประชาชน จัดการเลือกตั้ง และฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมา นี่คือทางออกของการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
อาจารย์ปรีดีเป็นผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนา ปรัชญาของพุทธ สาราณียธรรม 6 คือหลักการสร้างสันติภาพที่ลึกซึ้งที่สุด พูดถึง สาธารณโภคี คือรัฐสวัสดิการ มีอะไรจะต้องแบ่งปันคนอื่น มีความเป็นธรรม สีลสามัญญตา คือทุกคนต้องอยู่ภายใต้ศีล ภายใต้กฎระเบียบที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม แล้วถามว่าประเทศไทยมีกี่มาตรฐาน เป็นแบบนี้จะสงบไหม คนเห็นต่างถูกจับยัดติดคุก ดีที่อาจารย์สุลักษณ์ไปช่วยเด็กๆ อย่างน้อยคนมีอำนาจจะได้มีสติบ้างว่าทำแบบนี้ไม่ได้ แค่ความเห็นต่างทำไมต้องยัดคดีให้เขา อันนี้ไม่ถูก ใครที่มีอำนาจต่อให้เป็นคนดีอย่างไร ถ้าอยู่ไปนานๆ รากงอกทุกคน เพราะทุกคนมีกิเลส ฉะนั้นต้องมีระบบตรวจสอบ ถึงเวลาคุณต้องไป จึงจะดีขึ้น
อนุสรณ์กล่าวว่า แนวคิดของอาจารย์ปรีดีมีความสำคัญ และสามารถประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ แนวคิดเรื่องมนุษยธรรมและเรื่องพุทธปรัชญา ส่วนระบบเศรษฐกิจ แนวคิดทางสังคม และแนวคิดทางการเมือง คือภราดรภาพนิยม และต่อมาคือแนวความคิดสังคมนิยม วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย คนที่เสียผลประโยชน์ก็โจมตีอาจารย์ปรีดีตอนที่ขับเคลื่อนเค้าโครงสมุดปกเหลือง บอกว่าอาจารย์เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่ใช่
ความคิดของอาจารย์ปรีดีคือสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ซึ่งคล้ายๆ กับประเทศสแกนดิเนเวียตอนนี้ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อย และเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมืองมากที่สุด
รัฐสวัสดิการของปรีดี ความคิดที่มาก่อนกาล
พงศกร รอดชมภู กล่าวว่า ความคิดสันติภาพของอาจารย์ปรีดี ท่านมาก่อนกาลจริงๆ คือเรื่องรัฐสวัสดิการ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของมนุษยชาติ ท่านพูดก่อนที่ฝรั่งจะปฏิบัติในยุโรป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วคนสมัยนั้นไม่เข้าใจ นึกว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ จากข้อเสนอของท่าน
หากจะสร้างสันติภาพ จะต้องรู้ก่อนว่าสงครามนั้นมาได้อย่างไร สงครามเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ๆ 1. การกระจายผลประโยชน์ ความยุติธรรม ถ้าไม่กระจายก็จะเริ่มเกิดการชิงอำนาจกัน 2. ทรัพยากรที่ขาดแคลน อย่างไรถึงจะเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขทุกประเทศได้ เมื่อเกิดความรู้สึกสองเรื่องนี้แล้ว ก็จะมี 3. คือความเชื่อบางอย่างที่สนับสนุนว่า เราจะต้องสร้างสงคราม เช่น ความเชื่อทางศาสนา ลัทธิ
พงศกรกล่าวด้วยว่า ทำอย่างไรในแต่ละประเทศ จะไม่ให้ผู้นำอยู่นานจนเกินไป ถ้าผู้นำอยู่นานเกินไป หรือไม่มีโอกาสจะเปลี่ยนผู้นำได้ง่ายๆ เขาก็จะเริ่มมีความฝันว่าเขาเป็นจักรพรรดิ นี่คือปัญหาที่เราต้องพยายามส่งเสริมประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันเรื่องรัฐสวัสดิการ คือเรื่องสำคัญที่สุดที่อาจารย์ปรีดีเสนอไว้ก่อนเวลา เพราะจะทำให้คนเกิดการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในประเทศตัวเองก่อน แล้วขยายเรื่องนี้ไปยังต่างประเทศ โดยการคุยว่าเราจะมีองค์กรใดๆ ในโลกไหม ที่จะเริ่มคิดเรื่องนี้จริงจัง ไม่ใช่ไปพึ่งกับประเทศชนะสงครามอย่างองค์การสหประชาชาติ
ผู้ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกติกาทุกอย่าง มาจากประเทศหลักของสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ 5 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อังกฤษ มีโอกาสละเมิด เพราะเขาไม่ต้องกังวลเรื่องมติสหประชาชาติ เพราะ Sanction ได้ ดังนั้นจึงควรมีองค์กรระหว่างประเทศไหม หรือว่าคนที่อยู่ในชุมชนระหว่างประเทศต้องคิดกันใหม่ว่า ต้องปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศเล็กประเทศน้อยมีอำนาจใกล้เคียงกับประเทศใหญ่
สุดท้ายท่าทีของไทยจะอยู่ตรงไหนกันดี ประเทศไทยเรายืนอยู่ในจุดที่เป็นกลางเหมือนสมัยก่อนที่เคร่งครัด แต่การจะเคร่งครัดได้ เราจะต้องเลือกว่าเราอยู่กับใคร อย่างจีนเก่งเรื่องค้าขายเราก็อยู่กับเขา อเมริกาเก่งเรื่องความมั่นคงเราก็อยู่กับเขา
ส่วนตัวมีข้อเสนอ เราทำให้ตัวเราเป็นเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ได้ไหม คือเป็นสถานที่เจรจา อย่างกรณีทะเลจีนใต้ที่เราไม่เกี่ยวข้องกับใครเลย เราจะเป็นสถานที่เจรจาให้ทุกฝ่ายได้ไหม นี่คือสิ่งที่เราควรจะนำเสนอให้กับทางชุมชนระหว่างประเทศมาช่วยกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวทางของอาจารย์ปรีดี ในแง่ท่านใช้องค์กร เรื่องสันติประชาธรรม เรื่องศาสนา การกระจาย หรือรัฐสวัสดิการ แต่ว่าเป็นรัฐสวัสดิการของโลก ไม่เฉพาะของรัฐตัวเอง
ภาพ: สถาบันปรีดี พนมยงค์