วันนี้ (31 มีนาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวว่า สถานการณ์ในกรุงเทพมหานครเกือบเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว เหลือเพียงการจราจรบางเส้นทาง ส่วนสถานการณ์อาคารถล่มที่เขตจตุจักรนั้น ครบ 72 ชั่วโมงในการค้นหาผู้รอดชีวิต ได้สั่งการให้เดินหน้าต่อ จากการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญนั้น ได้รับความร่วมมือจากทีมนานาชาติ เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิต ที่ผ่านมาเคยมีหลายเหตุการณ์ที่ติด อยู่เป็นสัปดาห์ ขออย่าหมดหวัง กี่ชีวิตก็มีค่าในการที่จะพยายามเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ
ในเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการประชุมสรุปแล้วในโซน A B C D จะเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต ในโซน B และโซน C เนื่องจากโซนดังกล่าวอยู่ในจุดที่เป็นบันไดหนีไฟ และลิฟต์ และจากการสอบถามผู้รอดชีวิตแล้วพบว่า สองโซนนั้น เป็นโซนที่ช่วยให้มีชีวิตรอด จึงเชื่อว่าปล่องต่างๆ จะช่วยค้ำได้ และน่าจะมีผู้ติดอยู่ในบริเวณดังกล่าว
“เดินหน้าต่อ ส่วนที่มีคนบ่นว่าทำงานล่าช้านั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งผู้ที่รอดชีวิต และผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ก็อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ คนหน้างานอุปกรณ์พร้อม คนพร้อม ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานยังไม่ได้ขออุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม”
ชัชชาติกล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่ฝนตกลงมานั้นเรื่องเป็นไปได้ คือ ฝุ่น เศษปูนชิ้นเล็กๆ มีผงปูน หากฝนตกลงมาอาจก่อให้เกิดการสะสม อาจจะแข็งตัวและหนักตัวขึ้น แต่ขณะนี้ฝนไม่ใช่ปัญหาหลักของสถานการณ์ เชื่อว่าทีมงานหน้างานพร้อม การกู้ภัยในโลกนี้เคยเกิดฝนตกตามปกติ และต้องเผชิญหน้า เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการช่วยผู้รอดชีวิต
เมื่อถามถึงกรณีมูลนิธิฯ ได้เปิดรับบริจาคเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ไม่จำเป็นเลย มีอุปกรณ์มากมายอยู่ที่หน้างาน การขอระดมต่างนั่นไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย ขณะเดียวกันขณะนี้ไม่ใช่เวลาในการจัดซื้อจัดจ้างในเวลานี้ จากการลงพื้นที่และได้สอบเจ้าหน้าที่พบว่า มีอุปกรณ์ทั้งเครน น้ำหนัก 600 ตันได้เข้าพื้นที่แล้ว ส่วน 500 ตัน สแตนด์บายรออยู่แล้ว รถแบคโฮ โดรน อาหารและเครื่องดื่มเต็มพื้นที่
ส่วนข้อจำกัดในการค้นหาผู้รอดชีวิตนั้น ชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้มีข้อจำกัดมาก อย่างแรกคือการกำหนดจุดของผู้ที่รอดชีวิต เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้ ต้องใช้เครื่องสแกนซึ่งจากการตรวจสอบนั้นพบว่า มีอยู่ 3-4 จุด แต่ก็ยังไม่ทราบว่ารอดชีวิตหรือไม่ โดยเฉพาะการที่จะเข้าไปถึงจุดนั้น พื้นราบยังมี K9 ร่วมตรวจสอบ แต่เมื่ออยู่ด้านบนซากปรักหักพัง K9 ไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ ลองใช้เครนหย่อนส่งตัวผู้ก่อภัยลงไป ทำงานได้ 20 นาที ต้องสลับคนเข้าไป อุปสรรคอีกอย่างคือการรื้อโครงสร้างต่างๆ ซึ่งมีอุปสรรคอยู่ ซึ่งต้องทำให้เต็มที่ เน้นไปที่จุดโพลง จุดบันไดหนีไฟที่จะพอหาช่องเพื่อที่จะเข้าไปได้ ได้รับความร่วมมือจากนานาชาติ หลายคนมีประสบการณ์ เชื่อว่าต้องเดินหน้าต่อ
ชัชชาติกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังเป็นพื้นที่ต้องห้าม ซึ่งตามกฎหมายนั่นเป็นพื้นที่ห้ามเข้าออก โดยเฉพาะการเข้าไปเพื่อนำเอกสารใดๆ ออกมา ก็ได้แจ้งความแล้ว เป็นเรื่องที่ได้สั่งการให้มีการล้อมพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการเข้าออก หรืออีกกรณีคือการนำวัสดุออกมาเพื่อตรวจสอบก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นทรัพย์สินของสตง.อยู่ อีกหนึ่งอุปสรรคคือญาติของผู้ประสบเหตุ เราต้องให้กำลังใจเป็นพิเศษ เพราะต้องทนจริงทุกข์ว่าผู้อื่น จัดสถานที่พร้อมล่าม ดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนการคัดกรองญาตินั้นก็ได้สั่งให้ทำบัตรแจก เพื่อให้ไม่ต้องตรวจสอบหลายรอบ เรื่องนี้ต้องทำอย่างมีสติ เราเอาเฉพาะข้อเท็จที่จะช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้
ด้านการตรวจสอบอาคาร มีผู้ที่แจ้งเข้ามาผ่านระบบ Traffy Fondue กว่า 13,000 เคส ซึ่งจำนวนเคสที่มาก เกิดจากในหลายอาคารก็มีผู้แจ้งเหตุเข้ามาทับซ้อนกัน โดยขณะนี้ ได้แจ้งให้หยุดใช้อาคารจำนวน 2 แห่ง โดยมีการจัดที่พักอาศัยรองรับให้ผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้เข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 172 คน โดยล่าสุดได้รับรายงานว่ามีเหตุอาคารยุบ ที่อาคาร A ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ซึ่งจะเร่งตรวจสอบและดำเนินการต่อไป ทั้งในอาคารที่เกิดเหตุล่าสุดและอาคารอื่นๆ
ทั้งนี้ มีรายงานในที่ประชุมด้วยว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตล่าสุด ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้ พบผู้บาดเจ็บ 33 ราย เสียชีวิต 18 ราย รวมจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมด 51 ราย และจากการตรวจสอบอาคารต่างๆ ทั้ง 355 แห่ง พบเคสสีแดง 2 อาคาร เคสสีเหลือง 68 อาคาร เคสสีเขียว 217 อาคาร และรอรับรายงาน 68 อาคาร ปัจจุบันมีการเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บริเวณศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดงประมาณ สามารถรองรับประชาชนได้ 70 คน ขณะนี้มีผู้ใช้บริการแล้ว 22 คน รองรับได้อีก 48 ที่