×

ถอดบทเรียน 70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน: จากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ China Corp

02.10.2019
  • LOADING...
70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • โจวเอินไหล เป็นผู้ริเริ่มนโยบาย 4 ทันสมัย ที่มุ่งเน้นสร้างจีนขึ้นมาใหม่จากความผิดพลาดของนโยบายเหมาเจ๋อตงในอดีต โดยเปิดรับความทันสมัยจากนานาประเทศเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของจีนใน 4 มิติ นั่นคือ การเกษตร การอุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาเป็นคนวางตัว เติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาเป็นผู้นำจีนรุ่นที่ 2
  • เติ้งเสี่ยวผิง เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเรียนรู้โมเดลพัฒนาของต่างประเทศเพื่อกำหนดมาตรฐานในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ซึ่งประเทศที่เติ้งเลือกที่จะเดินทางไปเยือนเป็นประเทศแรกๆ หลังการขึ้นสู่อำนาจในปี 1976 คือ ประเทศไทย ต่อด้วยสิงคโปร์ และฮ่องกง
  • อาจกล่าวได้ว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง นั่นคือ ‘อดอยากปากแห้ง’ ในสมัยของเหมาเจ๋อตง (1949-1976) ‘พอมีพอกิน’ ในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง (1976-1993) ‘กินอิ่ม นอนอุ่น’ คือมีอาหารกินครบ 3 มื้อ มีบ้านอยู่ และมีพลังงานเพียงพอไม่หนาวตายในฤดูหนาวในยุคของเจียงเจ๋อหมิน (1993-2003) และ ‘เหลือกิน เหลือใช้’ ในยุคของผู้นำรุ่นที่ 4 หูจิ่นเทา (2003-2013)
  • ยุคสีจิ้นผิง ผู้นำรุ่น 5 จำเป็นต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจอีกรอบ โดยลดการพึ่งพาการส่งออก และให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนจากวิกฤตการเงินทั่วโลก 
  • จีนในปัจจุบันเปรียบเสมือนบรรษัทขนาดใหญ่ เพราะจีนยอมรับและแข่งขันในระบบกลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำที่สั่งการได้เหมือนบริษัทเอกชน มีกรรมการกรมการเมือง (Politburo Commitee) ทำหน้าที่เหมือนกรรมการบริหารหรือบอร์ด มีประธานาธิบดีเป็น CEO และมีนายกรัฐมนตรีเป็น COO 

วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีคือวันเฉลิมฉลองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และในปีนี้คือการฉลองครบรอบ 70 ปีของการเปลี่ยนแปลงประเทศจีน และในความคิดของผู้นำจีน นี่เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่จีนเดินหน้าหลุดฟื้นจากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่การสร้างชาติผ่านผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นผู้นำรุ่นที่ 5 แล้ว 

 

นักวิชาการจำนวนหนึ่งพิจารณาว่า ระบบของจีนในปัจจุบันเปรียบเสมือน ‘บรรษัทจีน’ ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ เพราะจีนยอมรับและแข่งขันในระบบกลไกตลาด แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำที่สั่งการได้เหมือนบริษัทเอกชน มีกรรมการกรมการเมือง (Politburo Commitee) ทำหน้าที่เสมือนกรรมการบริหารหรือบอร์ด มีประธานาธิบดีเป็น CEO และมีนายกรัฐมนตรีเป็น COO 

 

และถ้าสมมติจีนเป็นบริษัทจริงๆ คำถามที่สำคัญคือ กลยุทธ์การบริหารจัดการบรรษัทจีนให้ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบันนี้ อะไรคือหัวใจสำคัญ ผมขอถอดบทเรียนธุรกิจ 70 ปี: จากศตวรรษแห่งความอัปยศอดสู สู่ China Corp มาเล่าสู่กันฟังครับ

 

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

1. การเปลี่ยนความคิดของลูกค้าให้มาสนับสนุนบริษัทเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ CSR

พรรคคอมนิวนิสต์จีนมองว่าการพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 คือจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวทั้งปวง โดยสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 (First Opium War 第一次鴉片戰爭; Dìyīcì Yāpiàn Zhànzhēng) เกิดขึ้นในระหว่างปี 1839-1842 ในรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวง (Daoguang) แห่งราชวงศ์ชิง นี่คือหมุดหมายสำคัญเพราะเป็นครั้งแรกที่จีนต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับให้กับชาติตะวันตก กลุ่มคนที่ราชวงศ์จีนไม่เคยเห็นอยู่ในสายตา และเป็นครั้งแรกที่จีนสูญเสียอย่างหมดทางสู้ต่อลัทธิล่าอาณานิคม 

 

จีนเสียดินแดน เสียอำนาจอธิปไตย เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตต่อนานาประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และแม้แต่กับญี่ปุ่น นั่นทำให้จีนกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเซีย เพราะตลอดช่วงปลายของราชวงศ์ชิงหรือแมนจู จีนไม่ได้ผลิตเพื่อความมั่งคั่งมั่นคงของตนเองอีกต่อไป แต่กลายเป็นจีนที่ต้องไปสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าอาณานิคม

 

การปฏิวัติ ‘ซินไฮ่’ (辛亥革命; Xīnhài Gémìng) คือปฏิกิริยาที่ทำให้คนจีนหัวสมัยใหม่รวมตัวกันภายใต้ชื่อพรรคชาตินิยม หรือพรรคก๊กมินตั๋ง (Chinese Nationalist Party / 中國國民黨: ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า กั๋วหมินตั่ง) ภายใต้การนำของ ดร.ซุนยัตเซน (Sun Yat-Sen / 孫逸仙: ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า ซุนจงซาน) 

 

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของพรรคก๊กมินตั๋งที่ยึดมั่นในระบบทุนนิยมประชาธิปไตยก็ถูกสั่นคลอนโดยพิษคอร์รัปชัน และทำให้คนจีนทั่วทั้งแผ่นดินเดือดร้อน ทั้งจากความยากจน ภาวะขาดแคลนอาหาร และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงกว่า 3,000% ในช่วงสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนผ่านระบบในปี 1949

 

คำถามที่สำคัญก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China: CPC / 中国共产党) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1921 และมีแกนนำอย่าง เหมาเจ๋อตง (Mao Zedong 毛泽东) ที่อดีตเป็นเพียงครูประชาบาล จะสามารถนำกองทัพคอมมิวนิสต์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นให้สามารถทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพของสาธารณรัฐจีนที่นำโดยนายพล เจียงไคเชก (Chiang Kai-shek / 蔣介石: ออกเสียงในภาษาจีนกลางว่า เจี่ยงเจี้ยสือ) จอมทัพที่จบโรงเรียนนายร้อยจากญี่ปุ่น ได้อย่างยืดเยื้อตลอดเวลากว่า 22 ปี (1927-1949) จนสามารถกำชัยชนะและเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบใหม่ได้อย่างไร

 

คำตอบก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมาใช้วิธีแบบสงครามกองโจรควบคู่กับการทำ CSR (Corporate Social Responsibility, บรรษัทบริบาล) ในห้วงเวลาที่ KMT กำลังเชื่อว่า การพัฒนาเมืองใหญ่ให้เข้มแข็งกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความเจริญจะสามารถส่งผ่านความเจริญไปทั่วๆ ประเทศจีน และทั่วทุกชนชั้นได้ ตามแนวคิดแบบ Trickle-Down Theory แต่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่เชื่อดังนั้น และไม่เชื่อด้วยว่าชนชั้นกรรมาชีพในเมืองจะสามารถนำการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้ 

 

ส่วนหนึ่งเพราะจีนยังไม่มีชนชั้นแรงงานที่มากเพียงพอในการทำให้เกิดโมเมนตัมแห่งการเปลี่ยนผ่านได้

 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเลือกที่จะเดินทัพทางไกล (Long March) โดยเริ่มต้นจากมณฑลเจียงซีไปทางทิศตะวันตก แล้วย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 12,500 กิโลเมตร (8,000 ไมล์) ผ่านดินแดนทุรกันดารทางตะวันตกของประเทศจีน ใช้ระยะเวลากว่า 370 วัน ไปยังมณฑลส่านซี 

 

โดยตลอดระยะทางไกลนี้ สิ่งที่เหมาประกาศให้พลพรรคกองทัพแดงทำไปตลอดการเดินทัพทางไกลคือ ถ้าไปในพื้นที่ไหนแล้วพบเกษตรกรกำลังดำนา กำลังหว่านเมล็ดพันธุ์ กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ให้กองทัพแดงของเขาทำ CSR โดยการหยุดเดินและเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านั้นทำไร่ไถนา โดยไม่คิดค่าแรง ไม่หวังผลตอบแทน และเมื่อเสร็จกิจการงานในท้องไร่ท้องนา ก็ให้พลพรรคกองทัพแดงต้มเบียร์และอบขนมปังเลี้ยงชาวบ้าน โดยระหว่างกินขนมปัง ดื่มเบียร์กัน ก็นั่งลงและเริ่มการกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อให้การศึกษากลุ่มเป้าหมายให้มีความรู้และเห็นประโยชน์ของแนวคิดใหม่ นั่นคือ สังคมนิยม-คอมมิวนิสต์

 

และนั่นก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนประสบความสำเร็จในการได้เกษตรกรทั่วทั้งแผ่นดินจีนมาเป็นแนวร่วมและสามารถเปลี่ยนผ่านระบอบ ขับไล่รัฐบาลและกองทัพของเจียงไคเชก ไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นบนเกาะไต้หวัน และเหมาเจ๋อตง โจวเอินไหล และแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถเดินทางจากถนนฉางอัน เข้าสู่ประตูเทียนอันเหมิน และชักธงชาติจีนสีแดงที่มีดาว 5 ดวง พร้อมกับร้องเพลงมาร์ชทหารอาสา และสถาปนา ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ (People’s Republic of China / 中华人民共和国) ได้สำเร็จในวันที่ 1 ตุลาคม 1949

 

เหมาเจ๋อตุง

 

2. เลือกคนให้ถูกกับสถานการณ์

ผู้นำมีสองประเภท ผู้นำในสถานการณ์วิกฤตที่สามารถนำพาการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ และผู้นำที่สามารถสร้างความเจริญเติบโตวัฒนาสถาวรในภาวะปกติ แต่เป็นเรื่องยากที่จะหาผู้นำที่มีความสามารถในทั้งสองสถานการณ์ ประธานเหมาก็เป็นเช่นนั้น เขาคือสุดยอดผู้นำในภาวะวิกฤต สามารถวางยุทธศาสตร์ให้จีนสามารถเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบใหม่ ล้างอายจากศตววรษแห่งความอัปยศอดสูได้ 

 

แต่เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับการสถาปนา และประธานเหมาทำหน้าที่เป็นผู้นำสูงสุด เขากลับไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตวัฒนาสถาวรในภาวะปกติได้

 

นโยบายการพัฒนาของเหมาคือนโยบายที่ผิดพลาดทั้งหมด ในเวลานั้นจีนประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจก้าวกระโดดไปข้างหน้า (Great Leap Forward / 大跃进) พรรคคอมมิวนิสต์จีนพิจารณาคนจีนเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยการผลิต ดังนั้นทุกคนต้องเข้าไปอยู่ในคอมมูนที่ภาครัฐจัดสรรบริการทุกอย่างสำหรับชีวิตของแรงงานให้ 

 

แรงงานเพียงทำตามคำสั่งจากส่วนกลางที่เน้นทำงานในภาคเกษตรแบบนารวม ที่รัฐจัดเครื่องมือทางการเกษตรและวิธีการทำการเกษตรให้ เช่นเดียวกับในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการทำอุตสาหกรรมหนักโดยเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างการถลุงเหล็กและเหมืองถ่านหิน 

 

ผลที่ได้คือสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของประเทศล่มสลาย นโยบายที่ผิดพลาด อาทิ นโยบาย 4 ศัตรูของชาติ (Four Pests Campaign / 除四害) ที่รณรงค์ให้คนจีนจำนวนกว่า 650 ล้านคน ออกมาทำลายหนู แมลงวัน ยุง และนกกระจอก เพราะรัฐบาลแจ้งว่านี่คือศัตรูของชาติ ศัตรูของภาคการเกษตร และเมื่อสัตว์เหล่านี้ถูกทำลาย ระบบนิเวศที่เสียไปก็ทำให้เกิดภาวะอดอยากปากแห้งครั้งใหญ่ (Great Chinese Famine / 三年大饑荒) 

 

มีการประมาณการว่า คนจีนราว 56 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากความอดอยาก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นโดยขาดความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ก็ทำให้เหล็กที่ได้จากการหลอมเอาโลหะนานาชนิดเข้าด้วยกัน ไม่มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ จีนเข้าสู่สภาพคนป่วยแห่งเอเชียอย่างแท้จริง 

 

จะเห็นได้ว่าการเลือกคนโดยเฉพาะผู้บริหารที่เหมาะสมคือสิ่งสำคัญยิ่ง ประธานเหมาอาจจะเหมาะสำหรับภาวะวิกฤตที่ต้องการยุทธศาสตร์แบบหนึ่ง แต่กับภาวะสร้างชาติหลังการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำสายบู๊อย่างเหมาก็อาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ทราบถึงความล้มเหลวดังกล่าว และพยายามลดบทบาทของเหมาลง แต่เหมาซึ่งมากด้วยบารมีก็พยายามเอาคืน และการเอาคืนของเขายิ่งสร้างความบอบช้ำให้กับจีนหนักขึ้นไปอีกนั่นคือ การปฏิวัติวัฒนธรรม (Great Cultural Revolution / 文化大革命) 

 

และนั่นคือ 10 ปี (1966-1976) ที่สร้างผลกระทบต่อจีนแบบขุดรากถอนโคน และส่งผ่านความล้มเหลวต่อเนื่องไปนานหลายทศวรรษ เพราะเหมาเชื่อว่าความล้มเหลวทั้งหมดของนโยบายก้าวกระโดดไปข้างหน้า ไม่ได้เกิดจากนโยบายของเขาที่ผิดพลาด หากแต่เกิดจากการที่คนจีนยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมใหม่แบบคอมมิวนิสต์ ยังคงยึดติดกับภูมิปัญญาแบบเดิมที่มีส่วนผสมของทุนนิยม และชนชั้นตามแนวคิดแบบขงจื๊อ 

 

ดังนั้นจีนต้องล้มล้างภูมิปัญญาทั้งหมดที่เคยมีมาที่ยึดโยงกับระบบเก่า ปัญญาชนและนักบวชถูกประณามและบางครั้งถูกฆ่า หนังสือ ศิลปวัตถุที่ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมากถูกทำลายอย่างไม่มีชิ้นดี 

 

จีนในรุ่นนี้กลายเป็นคนที่ไม่มีราก และไม่มีวัฒนธรรมในแบบจีนผู้ดี (Noble Chinese) ที่เคยมีมาตลอดประวัติศาสตร์ บางครั้งการกระทำที่กดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยยุวชนแดง (Red Guard / 红卫兵) กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และตลอดช่วงเวลาแห่งความผิดพลาดตั้งแต่ปี 1949-1976 มีการประมาณการว่าชาวจีน 1 ใน 3 ต้องจบชีวิตลง นับเป็นการสูญเสียที่ยากแก่การเยียวยา และส่งผลสะท้อนต่อเนื่องไปอีกยาวนานหลายทศวรรษ 

 

คนจีนรุ่นปฏิวัติวัฒนธรรมกลายเป็นจีนที่ถูกมองโดยสายตาดูถูกจากนานาอารยประเทศ และเหมาก็จบชีวิตลงในวันที่ 9 กันยายน 1976 พร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำที่ถูกฝาถูกตัว ถูกที่ถูกทาง ประเทศจีนกำลังจะกลับมาภายใต้การนำของผู้นำรุ่นที่ 2 นั่นคืออัจฉริยบุคคล เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping / 邓小平)

 

3. รู้เขารู้เรา Benchmarking และตั้งเป้าหมายให้ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะทำได้

สองผู้นำที่คนจีนรักมากและชื่นชมมากที่สุด รวมทั้งหาข้อติแทบจะไม่ได้คือ โจวเอินไหล (Zhou Enlai / 周恩来) นายกรัฐมนตรีและนักการทูตที่มีบทบาทสำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงจีนเข้ากับประชาคมโลกตั้งแต่วันที่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 จนถึงในวันที่จีนกลายเป็นที่ยอมรับในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็พยายามขัดง้างความมั่นใจในตัวของตัวเองแบบเกินเหตุเกินการของเหมา จนทำให้ความเสียหายของนโยบายที่ผิดพลาดของเหมาลดทอนลง และจบสิ้นลงได้ในที่สุด 

 

โจวเอินไหล คือบุคคลที่นึกถึงแต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ และจากไปอย่างไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เขาคือผู้ที่ริเริ่มนโยบาย 4 ทันสมัย (Four Modernizations 四个现代化) ที่เน้นการสร้างจีนขึ้นมาใหม่จากความผิดพลาดในอดีต โดยจีนต้องพยายามพัฒนาโดยเปิดรับความทันสมัยจากนานาประเทศเข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของจีนใน 4 มิติ นั่นคือ การเกษตร การอุตสาหกรรม การป้องกันประเทศ และการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

 

โจวเอินไหลเริ่มระดมความคิดนี้ในปี 1963 แต่ไม่สามารถจะผลักดัน 4 ทันสมัยให้เกิดขึ้นได้ เพราะตัวเขาเองก็ได้รับพิษจากการปฏิวัติวัฒนธรรมเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1921-1922 ที่โจวในวัย 24 ปี ออกเดินทางไปหาความรู้ในประเทศฝรั่งเศส เขาก็ได้พบกับนักเรียนทุนรัฐบาลที่ถึงแม้จะอายุน้อย แต่ก็ฉายแววโดดเด่นในวงเสวนาวิชาการ รุ่นน้องวัย 17 ปีที่คุยกันอย่างออกรสชาติคนนั้นคือ อีกหนึ่งมหาบุรุษของจีนนาม เติ้งเสี่ยวผิง และเขานี่แหละคือคนที่ โจวเอินไหล เลือกขึ้นมาให้รับภาระการบริหารจัดการประเทศในฐานะผู้นำรุ่นที่ 2 หลังการจากไปของเหมาเจ๋อตง

 

เติ้งเสี่ยวผิง เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยการสำรวจสถานะของจีนว่าขณะนั้นในปลายทศวรรษ 1970 จีนอ่อนแอเพียงใด และประเทศไหนคือ Best Practice ที่จีนต้องไปเรียนรู้เพื่อกำหนดมาตรฐานในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ซึ่งประเทศที่เติ้งเลือกที่จะเดินทางออกไปเป็นประเทศแรกหลังการขึ้นสู่อำนาจในปี 1976 คือ ประเทศไทย ต่อด้วยสิงคโปร์ และฮ่องกง 

 

หลังกลับจากการดูงานศึกษาประเทศที่จะเป็นต้นแบบ เติ้งเสี่ยวผิงก็ประยุกต์นโยบาย 4 ทันสมัยที่ริเริ่มไว้โดยโจวเอินไหล เข้ากับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ และพัฒนาจนกลายเป็นหลักการบริหาร ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ (Deng Xiaoping Theory / 邓小平理论) ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ และการบริหารประเทศภายใต้การนำของเขา จีนจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดกาล

 

4. การบริหารโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ (RBM: Results-based Management) โดยเน้นเป้าหมายที่ชัดเจน

ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงที่คนกล่าวถึงและรู้จักกันมากที่สุดก็คือ คำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวสีดำ หรือแมวสีขาว ขอให้เป็นแมวที่จับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี (黑猫白猫,能捉到老鼠就是好猫 / It doesn’t matter whether a cat is black or white, as long as it catches mice.”) ซึ่งนั่นคือแนวคิดที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในที่นี้คือปัญหา ‘อดอยากปากแห้ง’ ที่ต่อเนื่องมาตลอด 30 ปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน 

 

เติ้งสนับสนุนให้ใช้กลไกตลาดซึ่งแน่นอนว่าขัดแย้งกับอุดมการณ์สังคมนิยมที่ต้องการวางแผนจากส่วนกลาง (Central Planning) และอาจจะขัดแย้งอย่างหนักกับมหามิตรของจีนในเวลานั้นนั่นก็คือ สหภาพโซเวียต แต่ถ้ามันจะแก้ปัญหาได้ จีนก็ต้องเดินหน้าเอาด้วยกันกับวิธีนี้ เพราะนั่นคือ แมวที่จับหนูได้

 

นอกจากเรื่องการนำกลไกตลาดมาประยุกต์ใช้แล้ว ทฎษฎีเติ้งเสี่ยวผิงยังพูดถึงการปฏิรูปทางการเมืองที่วางนโยบายให้ผู้นำจีนต้องไม่ใช่มหาบุรุษเพียงคนเดียวเป็นผู้นำอีกต่อไป หากแต่จีนต้องใช้ผู้นำแบบรวมกลุ่ม (Collective Leadership) ที่มีคณะกรรมการประจำกรมการเมือง หรือ Politburo Standing Committee (ปัจจุบันมี 7 คน) เป็นผู้สรุปและตัดสินใจในประเด็นสำคัญ โดยให้แต่ละคนมีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน และรับผิดชอบตัดสินใจในเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญและได้รับมอบหมาย แต่ทั้งคณะต้องรับผิดชอบร่วมกัน 

 

ผู้นำจีนต้องมีวาระ โดยกำหนดไว้ที่ 10 ปี ไม่ใช่อยู่ยาวตลอดอายุขัย และต้องมีการแถลงผลงาน มีการรับฟังความคิดเห็นต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทุกๆ 5 ปี และโดยปกติในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ก็จะมีการเปลี่ยนตัวเอาคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่า และเปลี่ยนตัวเป็นรอบๆ ที่เหลื่อมเวลากันทุก 5 ปี เช่น ปีที่ X มีโปลิตบูโร 7 คน พอถึงปีที่ X+5 โปลิตบูโร 3 คนที่อาวุโสสูงอาจจะลงจากตำแหน่ง และให้คนรุ่นใหม่เข้ามานั่ง 3 ตำแหน่ง และพอถึงปีที่ X+10 โปลิตบูโรที่อาวุโส 4 คนที่นั่งมาตั้งแต่ปีที่ X ก็จะลงจากตำแหน่งให้คนรุ่นใหม่กว่าเข้ามา 

 

ดังนั้นงานทั้งหมดของคณะผู้นำก็จะมีความต่อเนื่อง ไม่มีรุ่นไหนที่เป็นมือใหม่ทั้งหมด หรือเป็นมือเก่าทั้งหมด (อาจจะมีเปลี่ยนแปลงสมัยหลัง) และอีกเรื่องที่สำคัญของทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และเป็นแนวทางปฏิบัติตัวทั้งของเติ้งและโจวเอินไหลก็คือ การอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนั้นจีนจะไม่วางตำแหน่งของตนเองเป็นมหาอำนาจ (อาจจะมีเปลี่ยนแปลงสมัยหลัง)

 

สำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจ แน่นอนว่าจีนที่คุ้นชินกับระบบวางแผนจากส่วนกลางแบบสังคมนิยมมาตั้งแต่ปี 1949 จนถึงปี 1978 ก็คงยังไม่คุ้นชิน และอาจจะล้มเหลวหากนำเอากลไกตลาดมาใช้พร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น Segmentation และ Targeting พื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones: SEZs) ที่ผ่านการคัดกรองเลือกสรรมาแล้วอย่างดีจึงเป็นหัวใจสำคัญ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษชุดแรกของจีน ได้แก่

 

  • เซี่ยงไฮ้: เมืองที่คุ้นชินกับต่างชาติมาตั้งแต่ก่อนสาธารณรัฐจีน รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว
  • เซินเจิ้น: เมืองที่อยู่ตรงข้ามและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากฮ่องกง
  • จูไห่: เมืองที่อยู่ตรงข้ามและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากมาเก๊า
  • เซียะเหมิน: เมืองที่อยู่ตรงข้ามและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากไต้หวัน
  • ไห่หนาน หรือไหหลำ: เมืองที่สร้างไว้เพื่อรองรับการกลับเข้ามาลงทุนของชาวจีนโพ้นทะเล

 

และอีกอย่างที่สำคัญของการบริหารจัดการโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของจีนภายใต้การนำของเติ้งก็คือการตั้งเป้าหมายแบบถ่อมเนื้อถ่อมตัว ตั้งเป้าหมายระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้จริง นั่นคือ ‘พอมีพอกิน’ อาจจะไม่ได้กินครบ 3 มื้อและอิ่ม แต่อย่างน้อยก็ไม่อดตาย เหมือนในช่วงเวลาก่อนหน้านี้

 

 

5. เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ก็ต้องยอมรับกฎกติกา และรู้จักปรับใช้

เมื่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และการเมืองของจีนเริ่มต้นขึ้นในปี 1978 สถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น จนถึงทศวรรษ 1990 สงครามเย็นยุติลง สหภาพโซเวียตล่มสลาย สหรัฐอเมริกากลายเป็นมหาอำนาจเดี่ยวที่มีศักยภาพในการวางระเบียบโลก สหรัฐฯขยายอิทธิพลทางความคิดเข้าควบคุมรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านธนาคารโลก  (World Bank) ควบคุมการปริวรรตเงินตรา และการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และเริ่มควบคุมกติกาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศผ่าน General Agreements on Tariff and Trade (GATT) ที่ต่อไปจะพัฒนาไปเป็นองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) 

 

ชุดความคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก Neo-Classical Economics ที่เน้นการเปิดเสรีกำลังจะกลายเป็นกติกาของโลก ดังนั้นจีนก็ต้องเปลี่ยนตาม โดยเติ้งเสี่ยวผิงยอมรับ ไม่ฝืนกระแส และประกาศนโยบายเปิดประเทศ (Kai Fang / 开放) ในปี 1992 ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับผู้นำรุ่นที่ 3 ที่จะดูแลจีนต่อไปอีก 10 ปี ระหว่างปี 1993-2003 โดยผู้นำรุ่นที่ 3 ของจีนคือ เจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin / 江泽民)

 

เจียงเจ๋อหมิน ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นการยืนยันของการเลือกคนให้ตรงกับงาน เพราะในช่วงที่กติกาของโลกเปลี่ยนเป็นเสรีนิยม จะมีใครเหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำของจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ระเบียบโลกใหม่ได้ดีไปกว่า เจียงเจ๋อหมิน ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจียวทงเซี่ยงไฮ้ในปี 1947 และเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองเซี่ยงไฮ้มาตั้งแต่ปี 1985 ก่อนที่จะขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเซี่ยงไฮ้ และเข้ามาอยู่กับส่วนกลางด้วยบทบาทว่าที่ผู้นำรุ่นต่อไป

 

หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 เจียงเจ๋อหมิน คือคนที่เรียนรู้การผงาดขึ้นของเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่วันแรกของการปฏิรูป จนได้เครดิตอย่างยิ่งว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจูหรงจี 

 

และการที่เขาเป็นคนที่อยู่กับระบบทุนนิยมมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการปรับพื้นฐานของธุรกิจจีนให้เข้าใจระบบเศรษฐกิจโลกก่อนที่จีนจะได้เป็นสมาชิกของ WTO ในปี 2001 ก็เป็นผลงานสำคัญที่สุดประการหนึ่งของผู้นำรุ่นที่ 3 เพราะการเข้าเป็นสมาชิก WTO นั่นก็หมายความว่า จีนได้ยอมรับเอาระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด และระเบียบโลกเข้ามาเป็นแนวทางในการเดินหน้าเศรษฐกิจของจีนแล้วอย่างเต็มตัว 

 

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในระยะหลังจีนเองก็กลายเป็นผู้นำในเรื่องของการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก WTO ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าประเทศใดๆ ในโลก

 

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า จีนเปรียบเสมือนบริษัท เพราะเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะอดีต CEO หรืออาจจะเรียกว่า หลงจู้ ก็ได้ นอกจากจะเป็นผู้เลือกเอา เจียงเจ๋อหมิน ขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว เขายังวางแผนที่จะเลือก หูจิ่นเทา (Hu Jintao / 胡锦涛) ให้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้นำจีนรุ่นที่ 4 ระหว่างปี 2003-2013 อีกด้วย

 

อาจกล่าวได้ว่านี่ก็เป็นอีกครั้งของการประสบความสำเร็จ เนื่องจากการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เพราะถ้าอะไรคือคุณสมบัติในตัวของเจียงเจ๋อหมิน คุณสมบัติที่ตรงกันข้ามจะอยู่ในตัวของ หูจิ่นเทา ทั้งนี้เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ก็ต้องการผู้บริหารในอีกรูปแบบหนึ่ง 

 

หูจิ่นเทา ถูกเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำรุ่นที่ 4 เพราะเขาเริ่มต้นชีวิตการเมือง ณ มณฑลกานซู่ หลังจากนั้นไปเป็นคณะผู้บริหารพรรคที่เมืองกุ้ยโจว ก่อนที่จะไปทำงานที่เขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งทุกแห่งที่สร้างประสบการณ์ทำงานให้หูจิ่นเทา ล้วนเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดอันดับต้นๆ ของจีน 

 

เติ้งเสี่ยวผิง เจาะจงเลือกหูจิ่นเทา เพราะพิจารณาแล้วว่าหลังจากจีนเปิดรับระบบกลไกตลาดเข้ามา ยอมรับระเบียบโลก เปิดตัวสู่ตลาดโลก เศรษฐกิจจีนจะทะยานขึ้น พร้อมกับปัญหาที่มักจะมาพร้อมกับระบบทุนนิยม นั่นคือ ปัญหาคนจนเมือง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาครอบครัวแหว่งกลางที่ในชนบทมีแต่ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลานที่พ่อแม่ต้องมาทำงานในเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ผู้นำที่มาจากมณฑลที่ยากจนที่สุดจะเข้าใจสถานการณ์ได้ดีที่สุด

 

และการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนก็ทะยานขึ้นจริง เพราะในปี 2009 หากวัดด้วยมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่ปรับค่าครองชีพแล้ว (GDP / PPP) เศรษฐกิจจีนก็แซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และอีกครั้งในปี 2012-2013 ที่จีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมายืนหนึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อสิ้นสุดยุคของผู้นำรุ่นที่ 4

 

อาจกล่าวได้ว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนจะแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง นั่นคือ ‘อดอยากปากแห้ง’ ในสมัยของเหมาเจ๋อตง (1949-1976) ‘พอมีพอกิน’ ในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง (1976-1993) ‘กินอิ่ม นอนอุ่น’ คือมีอาหารกินครบ 3 มื้อ มีบ้านอยู่ และมีพลังงานเพียงพอไม่หนาวตายในฤดูหนาวในยุคของเจียงเจ๋อหมิน (1993-2003) และ ‘เหลือกิน เหลือใช้’ ในยุคของผู้นำรุ่นที่ 4 หูจิ่นเทา (2003-2013)

 

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

6. บรรษัทภิบาล (Good Governance) เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน

แต่แล้วสถานการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ Sub-Prime Crisis ที่ทำให้กำลังซื้อของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของจีนถดถอย และนั่นก็ทำให้เศรษฐกิจเริ่มไม่ขยายตัวในอัตราสูงกว่า 10% อีกต่อไป จีนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจอีกรอบ โดยเที่ยวนี้ จีนเรียกมันว่า New Normal (新常态) ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสมัยของผู้นำรุ่นที่ 5 สีจิ้นผิง (Xi Jinping / 习近平) กับความไม่แน่นอนครั้งใหม่ ซึ่งจีนต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 2 มิติ นั่นคือ

 

– การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ลดการพึ่งพาตลาดภายนอก แต่เน้นให้การบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจีนเร่งทำใน 2 มิติ นั่นคือ ด้านอุปทาน จีนเร่งพัฒนาให้สินค้าที่ผลิตในจีนกลายเป็นสินค้าคุณภาพสูง ผ่านนโยบาย ‘Made in China 2025’ ที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค่า Hi-End และ Hi-Tech ทั่วโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่ในจีน และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ผลิตจีน (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐบาล) แลกกับการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิพิเศษที่ใครก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ (ซึ่งสหรัฐฯ มองว่านี่คือการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม และใช้นโยบายสงครามการค้าตอบโต้) 

 

ในขณะที่ด้านอุปสงค์จีนก็เน้นการสร้างฐานะให้คนจีนรวยขึ้น แก้ไขความยากจน เพื่อให้คนจีนที่รวยขึ้นเป็นตลาดสำคัญในการซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ที่คุณภาพดีขึ้น เพราะหากทำสำเร็จ นั่นเท่ากับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของจีนจากวิกฤตเศรษฐกิจภายนอกจะลดลง โดยปัจจุบันจีนทำได้แล้วในระดับหนึ่ง โดยการบริโภคภายในประเทศของจีนขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 40% ของ GDP

 

– การหาพันธมิตรใหม่ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อหาทางเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หาทางเข้าสู่แหล่งทรัพยากร (ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์) และเพื่อระบายกำลังการผลิตส่วนเกินภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันกลไกหลักที่ทำหน้าที่นี้คือ อภิมหาโครงการความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) 

 

ซึ่งปัจจุบันจากการประชุม BRI Forum ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้นำและตัวแทนจากองค์การระหว่างประเทศกว่า 152 ประเทศ และหน่วยงานเข้าร่วมประชุม เกิดโครงการระดับทวิภาคีภายใต้ BRI แล้ว 283 โครงการ และขอบเขตของ BRI ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้ว หากแต่ขยายขอบเขตออกในทุกมิติ ซึ่งจำแนกออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 

 

1) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเชื่อมโยง (Boosting Infrastructure Connectivity ปัจจุบันมี 36 ระเบียงเศรษฐกิจ) 2) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Promoting Sustainable Development) 3) ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่สามารถปฏิบัติได้ และได้รับการร้องขอจากประเทศคู่เจรจาของจีน (Strengthening Practical Cooperation) และ 4) ความเชื่อมโยงภาคประชาชน (Advancing People-to-People Exchanges) 

 

ซึ่งแน่นอนว่า BRI กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทั้งโลกจับตามอง และจีนเองก็หวังผลกับโครงการนี้อย่างยิ่งที่จะให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ในอัตราที่สูงเกินกว่าร้อยละ 10 อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ขอให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางภาวะสงครามการค้า ซึ่ง BRI เองก็ตอบโจทย์กับสิ่งที่ทุกประเทศกำลังต้องการนั่นคือ เงินทุนและการพัฒนาด้านความเชื่อมโยงในมิติต่างๆ หลากมิติ โดยสำหรับจีนเอง จีนมองว่า BRI จะทำให้ทั้งโลกเกิด ‘ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมวลมนุษย์ (Community with a shared future for mankind / 人類命運共同體)”

 

เพื่อการนี้ และท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนทางนโยบายของมหาอำนาจจากอีกซีกโลกที่ต้องการปิดล้อม และจำกัดเขตการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน นั่นทำให้จีนต้องการผู้นำที่มีเสถียรภาพ สามารถผลักดันการเปลี่ยนผ่านให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง นั่นจึงทำให้ต้องแก้ไขหลักการที่วางไว้ตั้งแต่สมัยของเติ้งเสี่ยวผิง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในปี 2017 และได้รับการรับรองจากประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 (19th National Congress of the Communist Party of China / 中国共产党第十九次全国代表大会 ) 

 

โดยจีนได้มอบอำนาจให้กับผู้นำรุ่นที่ 5 สีจิ้นผิงให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้อย่างไม่มีกำหนดวาระ อำนาจสูงสุดที่ให้กับบุคคลโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ทำให้จีนต้องปฏิรูปการเมืองควบคู่ไปด้วย เพื่อให้มีอำนาจอะไรสักอย่างเพิ่มเติมขึ้นมาในการถ่วงดุล

 

นั่นทำให้ระบบการคานอำนาจอธิปไตยของจีนซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากที่เราคุ้นชิน ในกรณีของประเทศไทย เราจะให้ 3 ฝ่ายคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเป็นฝ่ายที่แบ่งแยกอำนาจและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ในขณะที่ระบบของจีนในอดีต จะใช้ 5 อำนาจในการถ่วงดุล ซึ่งได้แก่

 

  • ประมุขของรัฐ (President and Vice President / 中华人民共和国主席)
  • ฝ่ายบริหาร: คณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council/ Central People’s Government / / 中华人民共和国国院)
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ: สภาผู้แทนประชาชนจีน (National People’s Congress (NPC) / 中华人民共和国全国人民代表大会)
  • ฝ่ายตุลาการ: ศาลประชาชนสูงสุด (Supreme People’s Court / 中华人民共和国最高人民法院) และอัยการสูงสุด (中华人民共和国最高人民检察院)
  • กองทัพประชาชน (Chinese People‘s Liberation Army (PLA) / 中国人民解放军) และตำรวจติดอาวุธ (People’s Armed Police (PAP) / 中国人民武装警察部队 (武警))

 

แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2017 ที่เพิ่มอำนาจให้กับประธานาธิบดี ดังนั้นก็ต้องมีอำนาจที่ 6 ขึ้นมาตรวจสอบ นั่นคือ National Supervisory Commission (NSO) หรือคณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านทุจริตคอร์รัปชันแห่งชาติ (中华人民共和国国家监察委员会) ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลักธรรมาภิบาล การตรวจสอบความโปร่งใสกลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาจีนในศตวรรษที่ 21

 

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

7. การกระจายอำนาจการตัดสินใจและการตัดสินใจบนข้อมูลที่แม่นยำมากที่สุด

แม้จีนและพรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นรัฐราชการขนาดใหญ่ แต่ตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมาสิ่งหนึ่งที่รัฐจีนพยายามทำอย่างยิ่งคือการกระจายอำนาจการตัดสินใจโดยให้แต่ละจังหวัด แต่ละเมือง แต่ละมณฑลมีกลไกและมีอำนาจหน้าที่ที่สามารถตัดสินใจได้เองภายในพื้นที่ในระดับหนึ่ง เช่น โครงการขนาดมูลค่าไม่เกินเท่านี้สามารถตัดสินใจได้ในระดับจังหวัด ถ้าเกินจากนี้ต้องให้ตัดสินใจระดับมณฑล ทำให้เหลือโครงการที่ส่วนกลางต้องเข้าไปดูแลในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ 

 

แน่นอนว่าตัวแทนของทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ทุกเมือง ทุกจังหวัด และทุกมณฑลต้องมารับนโยบายที่กำหนดไปจากส่วนกลาง และในกระบวนการตัดสินใจต้องมีตัวแทนของพรรคร่วมอยู่ด้วย แต่นั่นก็ทำให้จีนมีลักษณะพิเศษที่สามารถเข้าถึงสภาวะความเป็นไปในระดับท้องถิ่นเพื่อการตัดสินใจได้

 

การให้อำนาจกับระดับท้องถิ่นมากขนาดนี้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องคอร์รัปชันและการผูกขาดอำนาจในบางพื้นที่ และนี่คือเรื่องที่จีนเร่งแก้ไขมาโดยตลอด โดยการใช้ข้อมูลถนนทุกสาย หัวมุมทุกสี่แยก มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) การใช้งานของระบบอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ผลสอบของคุณจากสมัยที่เรียนในระดับประถมศึกษา ถูกนำมามอนิเตอร์และประมวลผลอยู่เสมอๆ 

 

ในด้านหนึ่งมันทำให้รัฐจีนสามารถเข้าใจความต้องการแท้จริง และสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ นั่นทำให้จีนเป็นรัฐที่มีลักษณะเผด็จการแต่สามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลจนสามารถตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้ในระดับที่แม่นยำ ดังเช่นที่จีนมักจะยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ข้อมูลระดับบุคคลมาประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ และในขณะเดียวกันระบบดังกล่าวก็สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดและการคอร์รัปชันในระดับบุคคลได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้รัฐจีนสามารถปรับตัวได้อย่างมีพลวัต และการตัดสินใจที่รวดเร็วได้ในระดับท้องถิ่น ส่งผลให้สามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องที่ได้อย่างรวดเร็ว 

 

แต่แน่นอนว่าในอีกมิติหนึ่ง การถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา และความประพฤติส่วนบุคคลที่ต้องถูกนำไปประมวลเป็น Social Credit Score ก็สร้างความอึดอัดให้กับประชาชนบางกลุ่มอยู่ไม่น้อย

 

สำหรับนักธุรกิจ ระบบฐานข้อมูลที่ลงลึกเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจให้บริษัทสามารถปรับตัวได้อย่างมีพลวัต ในขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรได้ ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือในฝันที่ทุกภาคการผลิตต้องการ

 

และทั้งหมดนี้ก็คือการถอดบทเรียนการพัฒนาประเทศจีนตลอด 70 ปีที่ผ่านมาของสาธารณรัฐประชาชนจีน (1949-2019) เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารภาคธุรกิจ โดยหลักการ 7 ข้อที่สำคัญก็คือ 1) การเปลี่ยนความคิดของลูกค้าให้มาสนับสนุนบริษัทเกิดขึ้นจากกลยุทธ์ CSR 2) เลือกคนให้ถูกกับสถานการณ์ 3) รู้เขารู้เรา Benchmarking และตั้งเป้าหมายให้ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4) การบริหารโดยเน้นผลสัมฤทธิ์ (RBM: Result Based Management) 5) ยอมรับกฎกติกา และรู้จักปรับใช้ 6) บรรษัทภิบาล (Good Governance) เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน และ 7) การกระจายอำนาจการตัดสินใจและการตัดสินใจบนข้อมูลที่แม่นยำมากที่สุด

 

70 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X