ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงว่า กสทช. มีมติเห็นชอบให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนและหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz เพื่อนำมาประมูลและนำเงินรายได้ไปชดเชยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแล้ว กระบวนการจากนี้จะเปิดเวทีประชาพิจารณ์ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อเร่งกระบวนการประกาศเชิญชวนประมูลให้เกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน และจัดประมูลไม่เกินเดือนพฤษภาคม โดยจะประกาศขึ้นเว็บไซต์ กสทช. ภายในวันที่ 18 มกราคม
มติที่ประชุมที่ได้รับฟังความคิดเห็นคือเรื่องความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเยียวยาว่าอยู่ในอำนาจของ กสทช. หรือไม่ การกำหนดจำนวนใบอนุญาตของคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล รวมถึงขนาดใบอนุญาตแถบคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล รวมถึงราคาเริ่มต้น การให้บริการที่ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ และระยะเวลาการดำเนินการของใบอนุญาต ทาง กสทช. ได้นำประเด็นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดังกล่าวส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายไปพร้อมกันด้วย
ฐากรให้ข้อมูลว่าที่ประชุมมีความเห็นที่แตกต่างกันเรื่องกฎเกณฑ์ว่าทำได้หรือไม่ และควรแยกร่างประกาศการประมูลกับการเยียวยาออกจากกันหรือไม่ หากไม่รีบสรุปอาจถูกผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมองว่า กสทช. ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาได้ ส่วนราคาการประมูลนั้น ขั้นต้นยังไม่ได้กำหนดราคาตั้งต้นแต่อย่างใด ร่างที่เกี่ยวข้องกับราคาประมูลระบุว่าอายุใบอนุญาต 20 ปี จะชำระเงิน 10 ปี เป็นจำนวน 9 งวด โดยปีแรกจะชำระ 20% และเว้นการชำระในปีที่ 2 หลังจากนั้นชำระงวดที่เหลือ 10% จนครบ ขณะนี้ทีวีดิจิทัลชำระเงินมาแล้วกว่า 60% ยังเหลือกว่า 30% หรือราว 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท เมื่อประมูลแล้วหากรายได้จากการประมูลครอบคลุมตัวเลขดังกล่าว ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือ
เบื้องต้นจำนวนคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลคือ 35 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ซึ่งการประเมินราคาจะมีการประกาศในภายหลัง ภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม โดยหลักการสำคัญคือ การนำเงินที่ได้จากการประมูลมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนต่อไป
ส่วนโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบจะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ 3,920 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 6 แสนครัวเรือน คิดเป็นประชากรในพื้นที่จำนวน 1.82 ล้านคน และมีหมู่บ้านในพื้นที่ชนบทอีก 15,700 หมู่บ้าน ที่จะทยอยลงนามในสัญญาปีนี้ โดยจะมีจุดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะหรือฟรีไวไฟ ทั้งในชุมชนและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเป้าหมายเกือบ 6,000 จุด แบ่งเป็นติดตั้งในชุมชนในหมู่บ้านกว่า 3,900 จุด ติดตั้งในโรงเรียนกว่า 1,200 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 107 แห่ง รวมถึงมีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO NET) จำนวน 763 ศูนย์ โดยจะให้บริการฟรีเป็นเวลา 5 ปี และสำหรับประชาชนที่ต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในครัวเรือนของตัวเอง สามารถติดต่อขอใช้บริการได้ในราคา 200 บาทต่อเดือน ผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในพื้นที่โครงการสามารถติดต่อสำนักงาน กสทช. ได้ในวันและเวลาทำการ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)