×

7 THINGS WE LOVE ABOUT YVES SAINT LAURENT ดีไซเนอร์ระดับตำนานผู้ปฏิวัติวงการแฟชั่น

17.03.2024
  • LOADING...
YVES SAINT LAURENT

Yves Saint Laurent หรือ YSL ในชื่อย่อเป็นแบรนด์แฟชั่นจากประเทศฝรั่งเศสที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก ด้วยดีไซน์ที่ทันสมัย หลากหลาย รวมถึงกลยุทธ์การตลาดที่ดีอย่างการใช้เซเลบริตี้ระดับโลก เช่น Rosé แห่งวง BLACKPINK, Hailey Bieber, Zoe Kravitz หรือแม้แต่ TEN สมาชิกวง NCT และ WayV นักร้อง K-Pop สัญชาติไทยคนล่าสุดที่ขึ้นแท่นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งให้แบรนด์ Saint Laurent (ชื่อในปัจจุบัน) สามารถสร้างยอดขายระดับพันล้าน และตัวเลขมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี 

 

แต่รู้ไหมว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์ Yves Saint Laurent ถูกขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะแห่งวงการแฟชั่น เขามีชื่อเสียงจากงานดีไซน์แหกขนบตั้งแต่การเป็นตัวไลน์ Prêt-à-Porter หรือแฟชั่นสำเร็จรูปในยุคที่ผู้เสพแฟชั่นต่างเทิดทูนงานดีไซน์ระดับโอต์กูตูร์ ไม่เพียงแค่นั้นเขายังเปิดเผยตัวเองในฐานะดีไซเนอร์ LGBTQIA+ พร้อมมีพาร์ตเนอร์ธุรกิจเป็นคู่รัก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในยุคนั้น 

 

วันนี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับดีไซเนอร์ Yves Saint Laurent กันให้มากขึ้น ก่อนที่แบรนด์จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกขนาดนี้ 

 

HUMBLE BEGINNINGS

 

 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1936 เด็กชายนาม Yves Henri Donat Mathieu Saint Laurent ได้ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรก เขาเป็นลูกชายคนโตของบ้าน มีน้องสาว 2 คน โดยพ่อมีอาชีพเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ และแม่ผู้เป็นสาวสังคมรักในการแต่งเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งแน่นอนว่าการที่เขาคลุกคลีกับแม่อยู่ตลอดทำให้เขาสนใจแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก โชคไม่ดีนักที่โรงเรียนเขากลับถูกล้อเรื่องความชอบนี้และมักถูกแกล้งเสมอ อย่างไรก็ตามสิ่งนั้นไม่สามารถหยุดความหลงใหลของเขาได้ เขามักนำเศษผ้ามาตัดเย็บเป็นชุดตุ๊กตาและจัดแฟชั่นโชว์ให้น้องสาวของเขาดูอยู่เสมอ จนค่อยๆ พัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ จากชุดตุ๊กตาสู่การตัดชุดให้แม่และน้องสาวของเขาเอง เมื่อเห็นฝีมือลูกของตัวเอง แม่ของ Yves เริ่มผลักดันเขาด้วยการแนะนำลูกชายให้รู้จักบรรณาธิการนิตยสาร Vogue ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอ Michel de Brunhoff แนะนำให้เขาย้ายไปปารีสและเรียนตัดเย็บทันที จนกระทั่งเรียนจบเขาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทเดรสจากเวที International Wool Secretariat ในขณะที่ Karl Lagerfeld ดีไซเนอร์อีกคนชนะรางวัลประเภทโค้ตจากเวทีเดียวกัน 

 

 

YVES FOR DIOR 

 

 

หลังจากเฝ้าดูมาพักใหญ่ Michel de Brunhoff นำผลงานสเกตช์ของ Yves ไปให้ Christian Dior ดูพร้อมเกลี้ยกล่อมให้เขารับ Yves เข้าทำงานที่ห้องเสื้อของเขา แน่นอนว่า Dior รับเขาทันทีหลังจากเห็นงานสเกตช์นั้น ในช่วงแรกๆ Yves มีหน้าที่รับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ในสตูดิโอ อย่างไรก็ตามเขาไม่เคยหยุดพยายามสเกตช์เพื่อให้ Christian พิจารณางานของเขา ไม่นานนักชื่อของ Yves เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะดีไซเนอร์ดาวรุ่งของวงการ ซึ่งต่อมาเขาได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเหลือแค่ Saint Laurent เพื่อให้จดจำง่ายขึ้น แต่แล้วเรื่องช็อกก็เกิดขึ้นเมื่อ Christian เสียชีวิตลงในวัยเพียง 52 ปีเท่านั้น ทำให้ Yves วัย 21 ปี ขึ้นรับตำแหน่งในฐานะดีไซเนอร์แทนเขาทันที คอลเล็กชันแรกของเขา Ligne Trapéze ประสบความสำเร็จอย่างมาก คอลเล็กชันนี้สามารถกู้สถานการณ์ด้านการเงินของแบรนด์กลับมาได้เลยทีเดียว แต่ไม่นานนักผลงานเขากลับไม่เป็นที่พอใจอีกต่อไป บวกกับการที่เขาถูกเรียกไปเกณฑ์ทหาร และเกิดเป็นปมปัญหาด้านสภาวะจิตใจ แถมยังโดน Dior ปลดออกจากแบรนด์กลางอากาศ และดึงตัว Marc Bohan มาแทนที่เขา

 

 

 

PARTNER-IN-CRIME 

 

 

ในความย่ำแย่กลับมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเช่นกัน ระหว่างที่เขาทำงานที่ Dior เขาได้พบกับชายหนุ่มนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสนาม Pierre Bergé ที่ต่อมาทั้งคู่ได้พัฒนาความสัมพันธ์สู่ระดับคนรัก Yves ฟ้องร้องแบรนด์ Dior ตามคำแนะนำของ Pierre ในข้อหาละเมิดสัญญา ท้ายที่สุดเขาก็สามารถชนะคดีได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากปัญหาสภาพจิต ส่งให้เขาเข้าสู่สภาวะโรคซึมเศร้าแบบที่ไม่รู้ตัว 

 

Pierre คือบุคคลที่คอยซัพพอร์ต Yves ในทุกมิติทั้งในยามทุกข์และยามสุข ทั้งคู่ยังกลายเป็นตัวอย่างของบุคคล LGBTQIA+ ที่เปิดเผยรสนิยมของตัวเอง และผลักดัน Gay Rights (ในยุคที่ยังไม่มีคำว่า LGBTQIA+) ก่อตั้ง Sidaction องค์กรระดมทุนวิจัยและรักษาโรคเอดส์ที่หลายคนมองว่ามีต้นเหตุมาจากรักร่วมเพศ แม้ทั้งคู่จะยุติความสัมพันธ์ในปี 1976 แต่ทั้งคู่ยังเป็นหุ้นส่วนธุรกิจและเพื่อนสนิทกันไปตลอดชีวิต Yves ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้หากขาด Pierre ที่มีหัวธุรกิจและเข้าใจงานสร้างสรรค์ และ Pierre ยังเป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันให้ Yves เปิดแบรนด์ของตัวเอง 

 

ในปี 2008 ก่อนที่ Yves จะเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งสมอง มีข่าวว่าทั้งคู่ได้จดทะเบียนกึ่งสมรส หรือ Same-Sex Civil Unions ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมารองรับการสมรสเพศเดียวกัน โดยคู่สมรสได้สิทธิเท่าเทียมตามกฎหมายสมรส เพื่อให้ Pierre มาดูแลทรัพย์สินที่เหลือหลังจากเขาเสียชีวิตแล้วนั่นเอง 

 

 

LAUNCHING YSL 

 

 

Pierre เสนอให้ Yves เปิดแบรนด์ของตัวเอง โดยเขาจะเป็นคนหานักลงทุนมาจุนเจือแบรนด์เอง ในปี 1961 แฟชั่นเฮาส์ Yves Saint Laurent หรือ YSL จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เขากลายเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังในทันทีจากงานดีไซน์ร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแจ็กเก็ตซาฟารี กางเกงรัดรูป รวมถึงการนำเอาแฟชั่นแนวสตรีทสไตล์มาใช้ในงานดีไซน์ของเขายิ่งส่งให้แบรนด์เป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ ในปี 1966 เขาเปิดไลน์ Saint Laurent Rive Gauche เสื้อผ้า Prêt-à-Porter หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งสวนทางกับเทรนด์ของห้องเสื้อในยุคนั้นที่เน้นงานตัดเย็บแบบโอต์กูตูร์ เสื้อผ้าของเขาตัดเย็บประณีต แต่ขายในราคาที่จับต้องได้นับเป็นการปฏิวัติวงการแฟชั่นอย่างแท้จริง จุดนี้เองทำให้เขาได้รับการยกย่องในฐานะดีไซเนอร์คนแรกที่สร้างไลน์เสื้อผ้าสำเร็จรูปและกลายเป็นรูปแบบของแฟชั่นจวบจนทุกวันนี้ 

 

 

 

LE SMOKING SIGNATURE

 

 

สไตล์อันโดดเด่นของ Yves ที่ส่งให้แบรนด์ของเขาโด่งดังสุดๆ มาจาก ‘Le Smoking’ ในปี 1966 เมื่อเขาปฏิวัติวงการแฟชั่นโดยการนำชุดทักซิโด้ของผู้ชายมาดัดแปลงเป็นชุดสูทกางเกงให้กับผู้หญิง งานดีไซน์นี้ถูกมองว่าขบถและถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลายคนมองว่าเป็นการฝืนระเบียบของธรรมชาติที่กำหนดเพศผ่านการแต่งตัว ในยุคนั้นการที่ผู้หญิงใส่กางเกงถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่สุภาพ บางสถานที่ไม่ยอมให้ผู้หญิงสวมกางเกงเข้าสถานที่นั้นๆ อีกทั้งหลายคนยังมองว่าสไตล์ Le Smoking ก่อให้เกิดความสับสนทางเพศ แต่มีเหรอที่ Yves จะแคร์เสียงวิจารณ์ Le Smoking กลายเป็นซิกเนเจอร์ลุคของแบรนด์ Saint Laurent จวบจนทุกวันนี้ และยิ่งต่อต้านยิ่งโด่งดัง ไม่นานนักหลังจากกระแสแง่ลบ Le Smoking ทลายกรอบให้ผู้หญิงกล้าสวมกางเกงมากขึ้น และทลายกรอบการแต่งตัวแบ่งเพศออกไป

 

 

PUSHING DIVERSITY 

 

 

นอกจากเรื่องของดีไซน์อันโด่งดังมากมายของเขาแล้วนั้น อีกเรื่องที่น่ายกย่องมากๆ ของ Yves คือการที่เขามักทลายกรอบเรื่องความหลากหลาย รวมถึงการโอบรับชีวิตของคนมากขึ้นผ่านงานดีไซน์ของเขา นอกจาก Le Smoking เขายังเคยออกแบบคอลเล็กชันที่ได้แรงบันดาลใจจากผู้หญิงขายบริการ หรือไบเกอร์แจ็กเก็ตของผู้ชาย สัญลักษณ์ความเป็นชายปรับให้กลายเป็นเสื้อผ้าผู้หญิง นอกจากนั้นเขายังสนับสนุนเรื่องของ LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสถานะตัวตนของเขาโดยไม่แคร์สื่อ และยังสนับสนุนองค์กรมากมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIA+ ในเรื่องของแฟชั่นเขาเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่เริ่มใช้นางแบบผิวดำบนรันเวย์โอต์กูตูร์ของเขา Mounia Orosemane เป็นนางแบบผิวดำคนแรกที่มีโอกาสเดินบนรันเวย์ โดย Yves ให้เหตุผลการใช้นางแบบผิวดำว่าเขานั้นชื่นชอบสีผิวของเธอ ยามที่เธอสวมใส่เสื้อผ้าของเขาสีผิวตัดกับสีชุดของเขาช่างดูสวยและเย้ายวนมากๆ Yves ยังใช้นางแบบผิวดำอีกหลายคน เช่น Iman, Alek Wek และ Naomi Campbell 

 

 

SUCCESSOR 

 

 

ในปี 2002 เขาตัดสินใจเกษียณตนเองโดยทำการขายแบรนด์ให้กับบริษัทเครือแฟชั่นอย่าง Kering (Gucci Group ในยุคนั้น) และดึงตัว Tom Ford มาเป็นดีไซเนอร์คนแรกต่อจาก Yves แม้เขาจะไม่ชอบงานดีไซน์ของ Tom เลยก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาใช้เซ็กซ์ทำให้ YSL เป็นที่ปรารถนาอีกครั้ง ในปี 2004 ดีไซเนอร์นาม Stefano Pilati เข้ารับตำแหน่งต่อจาก Tom ซึ่งเขานำแบรนด์ YSL กลับมาโฟกัสที่เสื้อผ้าหรูหรา แต่แฝงด้วยคอนเซปต์หวือหวากระชากลุคเซ็กซี่ของ Tom ให้หายไปกับกาลเวลา แต่ในปี 2012 ต่างหากที่ส่งให้ชื่อของ YSL กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกอีกครั้ง เมื่อ Hedi Slimane เข้ามาปฏิวัติแบรนด์แบบ 360 องศา รวมถึงการเปลี่ยนชื่อสู่ Saint Laurent ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ และยังเป็นครั้งแรกที่ยอดขายของแบรนด์สามารถทะลุพันล้านได้เป็นครั้งแรก ในปี 2016 มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อชื่อของ Anthony Vaccarello ขึ้นแท่นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ สื่อหลายสำนักยกย่องงานดีไซน์ของเขาใกล้เคียงกับงานของ Yves มากที่สุด ปัจจุบัน Anthony ยังคงทำงานให้กับแบรนด์ Saint Laurent นำเสนอคอลเล็กชันทั้งสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X