ถ้าพูดถึงความปกติเดิมในการควบคุมโรคติดเชื้อทางเดินหายใจก่อนหน้าความปกติใหม่ (New Normal) ของโควิด สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันอย่างมากคือ มาตรการเกี่ยวกับผู้สัมผัส ยกตัวอย่างผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ แพทย์ไม่จำเป็นต้องบอกผู้สัมผัสให้กักตัวอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการและป้องกันการแพร่เชื้อ อย่างมากสุดคือผู้ป่วยวัณโรค แพทย์ต้องบอกผู้สัมผัสที่เป็นเด็กให้มาตรวจเพิ่มเติม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 กรมควบคุมโรคประกาศแนวทางกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใหม่ โดยปรับลดจาก 14 วัน เหลือ 7+3 วัน คือกักตัวอยู่บ้าน 7 วัน และสังเกตอาการต่ออีก 3 วัน รวมเป็น 10 วัน โดยต้องตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK 2 ครั้งคือในวันที่ 5-6 (ก่อนครบวันกักตัว) และวันที่ 10 (ก่อนครบวันสังเกตอาการ) ถึงแม้จะต้องหยุดเรียน/ทำงานอยู่ แต่ก็เขยิบเข้าใกล้ความปกติเดิมมากขึ้น
บางคนกังวลว่าการลดวันกักตัวนี้อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อหลังจากนั้นได้ หากผู้สัมผัสมีระยะฟักตัวนานกว่า 7-10 วัน แต่บางคนก็เห็นด้วยกับแนวทางใหม่นี้ เพราะถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่อการระบาด แต่ต้องปรับตัวให้อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ และในต่างประเทศก็ลดวันกักตัวลงเช่นกัน ในทางระบาดวิทยาความเสี่ยงหลังลดวันกักตัวเหลือมากแค่ไหน และแต่ละประเทศจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรบ้าง
การกักตัวนักท่องเที่ยว vs. ผู้สัมผัสใกล้ชิด
เวลาพูดถึงการกักตัวมักมีคำที่ใช้สับสนกันอยู่ 2 คำคือ แยกกัก (Isolation) และกักกัน (Quarantine) โดยคำแรกใช้กับผู้ติดเชื้อ ส่วนคำหลังใช้กับผู้สัมผัสใกล้ชิด เพราะผู้ติดเชื้อจะต้องแยกตัวจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ (Infectious Period) ส่วนผู้สัมผัสจะต้องกักตัวจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัว (Incubation Period) ซึ่ง 2 ระยะนี้มีระยะเวลาไม่เท่ากันตามธรรมชาติ และตามแนวทางของแต่ละประเทศด้วย
คำว่าแยกกัก-กักกัน เป็นภาษาราชการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แต่ในบทความนี้จะใช้คำว่า ‘กักตัว’ แทนคำว่า ‘กักกัน’ เพราะเป็นคำที่ทุกคนใช้กัน (หรือแม้แต่สไลด์ของ ศบค. เอง) เช่น ลดวันกักตัว
หลายท่านน่าจะเคยได้ยินข่าวลดวันกักตัวมารอบหนึ่งตอนที่ไทยเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ตอนนั้นเป็นการกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ คือระบบ Test and Go ไม่ต้องกักตัว ระบบ Sandbox ไม่ต้องกักตัวแต่ต้องอยู่ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 7 วัน และระบบ AQ ถ้าฉีดวัคซีนครบจะกักตัว 7 วัน แต่ถ้าไม่ครบจะกักตัว 10 วัน
แต่รอบนี้เป็นการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่ง ‘ผู้สัมผัส’ หรือผู้สัมผัสใกล้ชิด (Close Contact) จะมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรเป็นเวลานานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วย หรืออยู่ในพื้นที่ปิดไม่มีอากาศถ่ายเทร่วมกับผู้ติดเชื้อเป็นเวลานานกว่า 20 นาที และ ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ ยิ่งมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าเพราะไม่ได้สวมหน้ากากป้องกัน
ดังนั้นการลดวันกักตัวรอบนี้จึงถือเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) มากขึ้น ผู้สัมผัสไม่ต้องหยุดเรียน/ทำงานนานถึง 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องติดตามผู้สัมผัสนานขนาดนั้น หรือเรียกได้ว่ามีทิศทางเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
หลักฐานที่สนับสนุนการลดวันกักตัว
แต่ใช่ว่าแนวทางใหม่นี้จะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน เพราะศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) 🇺🇸 สหรัฐอเมริกามีข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Brief) เกี่ยวกับทางเลือกในการลดวันกักตัวตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2563 (ก่อนการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร) ว่าผู้สัมผัสสามารถลดวันกักตัวเหลือ 10 วันโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อ หรือ 7 วันร่วมกับการตรวจหาเชื้อในวันที่ 5
โดย CDC ประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อหลังครบกำหนดกักตัวด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า ผู้สัมผัสที่ไม่แสดงอาการหลังวันที่ 5 มีโอกาสแพร่เชื้อลดลงอย่างมาก และจะลดลงอีกหากมีการตรวจหาเชื้อร่วมด้วย เช่น วันที่ 10 หากไม่มีการตรวจหาเชื้อจะมีโอกาสแพร่เชื้อ 1.4% แต่ถ้ามีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK โอกาสจะลดลงเหลือ 1.1% และวิธี RT-PCR โอกาสจะเหลือเพียง 0.3%
จึงเสนอว่าถ้าลดวันกักตัวเหลือ 10 วันก็ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ ส่วนถ้าจะมีการตรวจหาเชื้อร่วมด้วย CDC แนะนำว่าต้องกักตัวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อก่อน 48 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลความล่าช้าของผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR กรณีนี้จะมีโอกาสแพร่เชื้อประมาณ 5% แต่ทั้ง 2 ทางเลือกสำหรับการลดวันกักตัว ผู้สัมผัสยังต้องสังเกตอาการและสวมหน้ากากต่อจนครบ 14 วัน
หนึ่งปีถัดมาจนกระทั่งมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 CDC ประกาศแนวทางการกักตัวใหม่เป็น 5+5 วัน คือผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือได้รับวัคซีนครบเกิน 6 เดือน (Not up-to-date) จะต้องกักตัวที่บ้าน 5 วัน จากนั้นตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หากผลเป็นลบสามารถออกจากบ้านได้ แต่ต้องสังเกตอาการและสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่นต่ออีก 5 วันรวมเป็น 10 วัน
ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ไม่ต้องกักตัว แต่ตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 สังเกตอาการและสวมหน้ากากเมื่ออยู่กับผู้อื่นจนครบ 10 วัน (แนวทางกักตัวสำหรับผู้ได้รับวัคซีนครบเคยมีการปรับมาก่อนหน้านี้ว่าไม่ต้องกักตัว แต่ให้สังเกตอาการ 14 วัน คาดว่าเป็นเพราะวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็มมีประสิทธิผลสูงต่อสายพันธุ์เดลตาทั้งการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และการรักษาตัวในโรงพยาบาล)
สำหรับหลักฐานที่สนับสนุนแนวทางรอบใหม่ต่อสายพันธุ์โอมิครอนไม่มีรายงานแยกออกมา แต่ ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ระบุในแถลงการณ์ว่า “เป็นการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสกับการป้องกันที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น” เพราะเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะมีผู้สัมผัสถูกกักตัวมากตามไปด้วยจนอาจมีผลกระทบต่องานบริการที่จำเป็นได้
ในทางระบาดวิทยา มาตรการกักตัวควรคำนึงถึงปัจจัยหลัก 2 อย่างคือ
- ความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก เช่น โรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 30% การกักตัวผู้สัมผัสไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อจึงมีความจำเป็น แต่ถ้ามีความรุนแรงต่ำ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว เมื่อโควิดมีแนวโน้มรุนแรงลดลง (จากทั้งคุณสมบัติของไวรัสและภูมิคุ้มกันจากวัคซีน) เมื่อความครอบคลุมของวัคซีนเพิ่มขึ้น ความสำคัญของมาตรการนี้จึงลดลง
- ระยะฟักตัวของโรค ในการศึกษาทางระบาดวิทยามักจะรายงานเป็น 3 ค่าคือค่ากลาง-ต่ำสุด-สูงสุด หากต้องการให้ครอบคลุมผู้ติดเชื้อทั้งหมดก็ต้องเลือกค่าสูงสุด ยกตัวอย่าง โควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน (ค่าต่ำสุด-สูงสุด 2-14 วัน) ระยะเวลากักตัวจึงเป็น 14 วัน ถึงแม้จะมีบางรายงานที่ระบุว่าระยะฟักตัวนานถึง 21 วัน แต่อาจไม่คุ้มค่าหรือเหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน
ข้อมูลระยะฟักตัวของสายพันธุ์ที่น่ากังวลมีแนวโน้มลดลง เดลตามีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 วัน ส่วนโอมิครอนมีข้อมูลจากการสอบสวนโรคที่สหรัฐฯ พบว่ามีค่ามัธยฐาน 73 ชั่วโมง (ค่าต่ำสุด-สูงสุด 33-75 ชั่วโมง) แปลว่ามีระยะฟักตัวประมาณ 3 วัน และนานสุดไม่เกิน 4 วัน และผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ของกองระบาดวิทยาก็พบว่าใกล้เคียงกัน ดังนั้นโอกาสแพร่เชื้อหลังครบกักตัว 7-10 วันจึงน่าจะน้อย
เปรียบเทียบกับการกักตัวในต่างประเทศ
🇬🇧 สหราชอาณาจักร เป็นอีกประเทศที่มีมาตรการกักตัวตามประวัติการฉีดวัคซีน แต่ระยะเวลาและการตรวจหาเชื้อต่างจากสหรัฐฯ โดยสหราชอาณาจักรแบ่งผู้สัมผัสออกเป็น 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สัมผัสในครอบครัวหรือนอกครอบครัว ดังนี้
- ผู้สัมผัสที่ไม่ต้องกักตัวตามกฎหมาย (Not legally required to self-isolate สังเกตว่าสหราชอาณาจักรใช้คำว่า Isolate ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัส) ได้แก่ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี กลุ่มนี้ไม่ต้องกักตัว แต่จะได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัดหรือสถานที่ปิด (หากเข้าไปต้องสวมหน้ากาก) และต้อง ATK ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน หรือจนครบ 10 วัน (ยกเว้นอายุต่ำกว่า 5 ปี)
- ผู้สัมผัสที่ต้องกักตัวตามกฎหมาย คือผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น ยกเว้นว่าเป็นอาสาสมัครในงานวิจัยวัคซีน หรือมีข้อห้ามทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีน กลุ่มนี้ต้องกักตัว 10 วัน และนัดตรวจ RT-PCR 1 ครั้งโดยเร็ว
🇸🇬 สิงคโปร์ ไม่ได้แยกผู้สัมผัสตามประวัติการฉีดวัคซีน ทุกคนไม่ต้องกักตัวตลอด แต่ใช้การสังเกตอาการ 7 วันแทน โดยผู้สัมผัสจะต้องกักตัวเพื่อตรวจ ATK ภายใน 24 ชั่วโมงหลังทราบว่าเป็นผู้สัมผัส ถ้าผลเป็นลบสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ ระหว่างวันที่ 2-6 หากต้องการออกนอกบ้านจะต้องตรวจ ATK ทุกครั้ง และผลแต่ละครั้งใช้ได้วันต่อวัน เมื่อครบกำหนด 7 วันจะต้องตรวจ ATK เป็นครั้งสุดท้าย
สังเกตว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ใช้การตรวจ ATK ในระหว่างระยะฟักตัว 7 วันแทนการกักตัว ซึ่งการสร้างสมดุลระหว่างความปกติใหม่ที่ต้องป้องกันการระบาด กับความปกติเดิมที่ต้องออกไปทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติ
🇭🇰 ฮ่องกง อาจเป็นตัวแทนของประเทศจีน (เนื่องจากสามารถค้นหาแนวทางภาษาอังกฤษที่เป็นปัจจุบันได้) โดยปกติผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อจะต้องกักตัว 14 วันที่ศูนย์กักตัว แต่สามารถลดเหลือ 7+7 วัน คือกักตัว 7 วันและสังเกตอาการต่ออีก 7 วัน ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ผลตรวจ RT-PCR แรกเข้ากักตัวเป็นลบ และผลตรวจการภูมิคุ้มกันเป็นบวก หลังจากนั้นต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันที่ 12
ในขณะที่ถ้าเป็นผู้สัมผัสของสายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็ว (พบการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง N501Y หรือ L452R) จะต้องกักตัว 21 วันที่ศูนย์กักตัว แต่สามารถลดเหลือ 14+7 วัน คือกักตัว 14 วันและสังเกตอาการต่ออีก 7 วันได้ ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ผลตรวจ RT-PCR แรกเข้า และวันที่ 7 และ 12 หลังสัมผัสโรคเป็นลบ และผลตรวจภูมิคุ้มกันเป็นบวก หลังจากนั้นต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันที่ 19
ซึ่งทางการฮ่องกงเพิ่งปรับปรุงแนวทางกักตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ด้วย 2 เหตุผลคือ จำนวนผู้สัมผัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาจนเต็มศักยภาพของศูนย์กักตัว และระยะฟักตัวที่สั้นลงของโอมิครอน ส่วนมาตรการกักตัวสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเป็น 21+7 วัน คือกักตัว 21 วัน (ระหว่างนี้ตรวจหาเชื้อ 6 ครั้ง) และสังเกตอาการต่อ 7 วัน จากนั้นตรวจหาเชื้ออีกครั้งในวันที่ 26
สังเกตความแตกต่างระหว่างแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิดของประเทศอื่นๆ กับแนวคิดโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ของจีนได้อย่างชัดเจน ส่วนแนวทางใหม่ของ 🇹🇭 ไทยอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 แนวคิดนี้คือลดวันกักตัวลงเหลือ 7+3 วัน แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้วก็ยังต้องกักตัว (ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วจะไม่แพร่เชื้อ) และใช้การตรวจหาเชื้อเฉพาะก่อนออกจากการกักตัวเท่านั้น
โดยสรุปการกักตัวผู้สัมผัสเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้ที่สัมผัสโรคแพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่น หากติดเชื้อหรือมีอาการในภายหลัง ซึ่งผู้ป่วยโควิดสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ 1-2 วันและหลังจากมีอาการ 2-3 วัน การลดวันกักตัวเป็นไปตามระยะฟักตัวของโอมิครอนที่สั้นลง แนวทางใหม่ของไทยคือกักตัว 7+3 วัน โดยมีการตรวจ ATK 2 ครั้งในวันที่ 6-7 และ 10 ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหลังจากกักตัวน่าจะต่ำ
นอกจากนี้เมื่อความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงในพื้นที่อยู่ในระดับที่สูง อาจพิจารณาการตรวจ ATK ทุกวันในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว เพื่อไม่ให้การเรียน/ทำงานได้รับผลกระทบจากการกักตัว
อ้างอิง:
- นิยามและแนวทางการจัดการผู้สัมผัสของผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_srrt/g_srrt_130165.pdf
- Science Brief: Options to Reduce Quarantine for Contacts of Persons with SARS-CoV-2 Infection Using Symptom Monitoring and Diagnostic Testing https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/more/scientific-brief-options-to-reduce-quarantine.html
- CDC Updates and Shortens Recommended Isolation and Quarantine Period for General Population https://www.cdc.gov/media/releases/2021/s1227-isolation-quarantine-guidance.html
- Quarantine and Isolation (9 January 2022) https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/your-health/quarantine-isolation.html
- Investigation of a SARS-CoV-2 B.1.1.529 (Omicron) Variant Cluster — Nebraska, November–December 2021 https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/70/wr/mm705152e3.htm
- Stay at home: guidance for households with possible or confirmed coronavirus (COVID-19) infection https://www.gov.uk/government/publications/covid-19-stay-at-home-guidance/stay-at-home-guidance-for-households-with-possible-coronavirus-covid-19-infection
- Guidance for contacts of people with confirmed coronavirus (COVID-19) infection who do not live with the person (11 January 2022) https://www.gov.uk/government/publications/guidance-for-contacts-of-people-with-possible-or-confirmed-coronavirus-covid-19-infection-who-do-not-live-with-the-person/guidance-for-contacts-of-people-with-possible-or-confirmed-coronavirus-covid-19-infection-who-do-not-live-with-the-person
- Health Risk Warning https://www.covid.gov.sg/exposed/hrw
- Frequently Asked Questions for Close Contacts under Mandatory Quarantine at Quarantine Centres https://www.chp.gov.hk/files/pdf/faq_for_close_contacts_eng.pdf
- Government announces updated quarantine requirements for close contacts of locally acquired cases tested positive for SARS-CoV-2 virus https://www.info.gov.hk/gia/general/202201/10/P2022011000721.htm
- Inbound Travel https://www.coronavirus.gov.hk/eng/inbound-travel.html