×

7 พรรคฝ่ายค้าน จับมือเตรียมต้อนรับประยุทธ์เข้าสภา จัดทีมชำแหละนโยบาย ลุยฟังเสียงประชาชนแก้ รธน.

โดย THE STANDARD TEAM
13.06.2019
  • LOADING...
พรรคฝ่ายค้าน

ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำ 7 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย แถลงข่าวหลังหารือนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่าทั้ง 7 พรรค 5 ประเด็น ได้แก่ ประการแรกจะทำงานร่วมกัน โดยจะตั้งวิปฝ่ายค้านเพื่อประสานร่วมกัน และไม่เพียงแต่การทำงานร่วมกันในสภา

 

พรรคฝ่ายค้าน

พรรคฝ่ายค้าน

 

ประการที่สอง ทั้ง 7 พรรคจะทำงานรณรงค์นอกสภาให้ประชาชนเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย โดยตั้งคณะทำงานประสานงาน 7 พรรคในการทำงานด้านนี้

 

ประการที่สาม เตรียมอภิปรายคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี การได้มาซึ่ง ส.ว. และกรรมการสรรหา ส.ว. รวมทั้งคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การทำงานของรัฐบาล และ ส.ส. มีมาตรฐานเดียวกัน

 

ประการที่สี่ เตรียมตรวจและอภิปรายนโยบายของรัฐบาล เพื่อเป็นการต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ประการที่ห้า พูดคุยถึงการประสานงานร่วมกันของ 7 พรรค จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพการประชุม และจะหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

 

พรรคฝ่ายค้าน

 

ด้าน พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า พรรครับหน้าที่ในการเตรียมข้อมูลตรวจสอบในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส การคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่อาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ ส.ส. ลดลง โดยจะเข้าชื่อ ส.ส. 50 คนเสนอต่อประธานสภาให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันโหวตเลือกนายกฯ ประธานรัฐสภาไม่ยอมให้มีการวินิจฉัยคุณสมบัติ ดังนั้นตามกฎหมายประธานสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทางพรรคยังได้รวบรวมการอภิปรายเรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีในสภาไว้ เพื่อใช้ยืนยันว่ามีผู้ไม่เห็นด้วย และพลเอก ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติ มีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสม และฝ่าฝืนกฎหมายอย่างไรบ้าง รวมถึงกรณีที่ ส.ว. ยกมือให้ พลเอก ประยุทธ์ กันหมดทุกคน โดยมี ส.ว. ท่ายหนึ่งเปิดเผยกับตนว่าถูกกำชับไม่ให้แหกคอก ขณะที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. มีขึ้นอย่างลึกลับ เลือกตัวเองและญาติพี่น้องเข้ามาเป็น ส.ว.

 

พรรคฝ่ายค้าน

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการเดินหน้าทั้งในสภาและนอกสภา ร่วมมือกับสถาบัน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ให้ทำความเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปต่อไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยพลังของสังคม รวมทั้งการยื่นตรวจสอบ ส.ส. ที่ถือครองหุ้นสื่อจำนวน 41 คน ของพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ประธานสภายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียง 30 คน ซึ่งตนมองว่าหากให้มาตรฐานเดียวกันในทางกฎหมาย ศาลจะต้องพิจารณารับเรื่องภายใน 7 วัน และมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งหลายคนในนั้นเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ตามที่มีข่าว ตนจึงหวังว่าจะมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และการมารวมตัวกันของ 7 พรรคจะสร้างความหวังให้กับประชาชน ว่าจะมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในการตรวจสอบรัฐบาล และครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์จะได้บริหารประเทศแบบมีฝ่ายค้านจริงๆ สักที และจะได้เรียนรู้ว่าการเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างไร

 

พรรคฝ่ายค้าน

 

สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า พรรคเตรียมตรวจสอบรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลว่า เงินที่จะมาบริหารจะเอามาจากไหน อาจจะยิ่งกว่าประชานิยมหรือไม่ เพราะยุทธศาสตร์ 20 ปีต้องระบุที่มาของเงิน ทั้ง 7 พรรคเป็นห่วงปากท้องประชาชน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยจะมีคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ

 

นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกไม่โปร่งใส ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว. ต้องไม่ฝักใฝ่ใต้อาณัติของใคร แต่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. 2 คนพูดจาฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 113 และกรรมการสรรหา ส.ว. ขัดมาตรา 114

 

ทั้งนี้ ภูมิธรรมกล่าวว่า สัดส่วนของวิปฝ่ายค้านมีพรรคเล็ก 1 คน พรรคที่ได้เกิน 5 ที่นั่ง 2 คน และพรรคใหญ่ 10 คน และจะมีการหารือเลือกประธานวิปต่อไป

 

ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน พลตำรวจโท วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค จะลาออกอย่างช้ากลางสัปดาห์หน้า เพื่อเปิดทางให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะมีการประชุมพรรคหลังจากนั้น คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ส่วนจะเป็น สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ หรือไม่ ภูมิธรรมกล่าวว่าต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่สมพงษ์ก็มีความเหมาะสม ส่วนตนจะกลับมาเป็นเลขาธิการพรรคอีกหรือไม่ ต้องดูกันอีกที

 

และหลังจากนี้ 7 พรรคร่วมจะทำงานต่อเนื่อง ในวันอังคารหน้าเวลา 10.00 น. วิปร่วมรัฐบาลจะประชุมร่วมกัน และวันจันทร์เวลา 13.00 น. คณะทำงานทำความเข้าใจกับประชาชนนอกสภา ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ และประเด็นปัญหาที่ยังไม่ชัดเจน รณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญจะประชุมร่วมกัน

 

ขณะที่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยืนยันพรรคประชาชาติยึดมั่นในฝ่ายประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ พร้อมแจงว่าไม่ต้องมีการตั้งรัฐบาลเงา

 

“ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลเงา เพราะรัฐบาลนี้ไม่กี่วันก็จะไปแล้ว เสียเวลาเปล่าๆ ค่อยไปเป็นรัฐบาลจริงครับ เดี๋ยวเขาจะไปแล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X