×

7 พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนปม 250 ส.ว. แต่งตั้ง – ประธาน ส.ว. ชี้ ส.ส. ไม่มีอำนาจตรวจสอบ ส.ว.

19.06.2019
  • LOADING...
7 พรรคฝ่ายค้าน

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่รัฐสภาชั่วคราว อาคารทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงข่าวว่าพรรคฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติด่วน 3 ญัตติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สภาฯ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบกระบวนการสรรหาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด

 

โดยพรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติขอให้ตรวจสอบในส่วนของกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งรายชื่อกรรมการสรรหา, ระเบียบวิธีการสรรหา, การที่ ส.ว. ปรากฏว่าเป็นเครือญาติกัน และการใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาทในการเลือกตั้ง ส.ว.

 

พรรคอนาคตใหม่จะยื่นญัตติขอให้ตรวจสอบว่ากระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. มีปัญหาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะเลยจนกระทั่งมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว รวมถึงเมื่อรายชื่อปรากฏออกมาก็พบว่ามีกรรมการสรรหา ส.ว. เลือกตัวเองเป็น ส.ว. เองถึง 6 คน

 

ขณะที่พรรคพลังปวงชนไทยจะยื่นญัตติขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำของ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 และ 114 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมซึ่งระบุว่า ส.ว. ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด แต่การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาปรากฏว่า ส.ว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปในทางเดียวกันทั้งหมด

 

ทั้งนี้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเรียกร้องให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ บรรจุญัตติดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

 

ด้าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและการได้มาซึ่ง ส.ว. อาจขัดรัฐธรรมนูญว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ในเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ส. หรือ ส.ว. มีกระบวนการระบุชัดเจน โดยเมื่อผ่านกระบวนการสรรหามาอยู่ในรัฐสภาแล้วจะต้องตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรา 82 โดยให้อำนาจ ส.ส. ตรวจสอบคุณสมบัติในส่วน ส.ส.

 

ส่วน ส.ว. ก็ตรวจสอบคุณสมบัติในส่วนของ ส.ว. โดยการเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกสภาฯ นั้นๆ และเมื่อตรวจสอบแล้ว ประธานของแต่ละสภาฯ ถ้าเห็นว่ามีมูลก็จะต้องส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลจะเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยในที่สุด

 

ยืนยันว่าการตรวจสอบการได้มาซึ่ง ส.ว. จะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เท่านั้น ส่วนถ้าจะตรวจสอบในส่วนงบประมาณ 1,300 ล้านบาทในการเลือกตั้ง ส.ว. นั้นก็สามารถทำได้ โดยตรวจสอบไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะผู้ใช้เงินงบประมาณ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising